สมาชิกวุฒิสภาเดินสายพบผู้ว่าฯยอมรับห่วงปัญหาฝุ่นควัน ชี้แผนดีแต่ยังขาดแอคชั่นเชื่อปีนี้วิกฤตซ้ำรอยเดิม

สมาชิกวุฒิสภาเดินสายพบผู้ว่าฯยอมรับห่วงปัญหาฝุ่นควัน ชี้แผนดีแต่ยังขาดแอคชั่นเชื่อปีนี้วิกฤตซ้ำรอยเดิม

สมาชิกวุฒิสภาเดินสายพบผู้ว่าฯยอมรับห่วงปัญหาฝุ่นควัน ชี้แผนดีแต่ยังขาดแอคชั่นเชื่อปีนี้วิกฤตซ้ำรอยเดิม แนะเอาทหารมาช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแค่นั้น

วันที่ 10 ม.ค.63 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ (POC) อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานกรรมการคนที่ 1 พร้อมด้วย พ.ต.อ.ยงยุทธ สาระสมบัติ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการ,นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะรองประธานกรรมการคนที่ 2 และนายณรงค์ อ่อนสะอาด สมาชิกวุฒิสภาและในฐานะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) เข้าพบ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย

พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการฯ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ไฟป่าเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และมั่นใจว่าปีนี้สถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นควัน ไฟป่าก็จะซ้ำแบบปีที่แล้วเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนเลย ทั้งในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้าน เพียงแต่สถานการณ์ฝุ่นควันจะมากหรือน้อยแค่นั้นเอง ซึ่งการเดินทางมาขอพบผู้ว่าฯและรับฟังแนวทางการเตรียมการป้องกัน แก้ไขปัญหาต่างๆ ก็เพราะทางคณะกรรมการฯ มีความห่วงใยใน 2 เรื่องที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะเกิดกับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน คือ เรื่องมลพิษทางอากาศ และภัยแล้ง ทั้ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง ในวันนี้จึงเป็นการติดตามลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่กว้าง และมีจำนวนประชากรมาก ทั้งพื้นที่ในเมืองและพื้นที่นอกเมือง

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแหล่งเกิดปัญหาฝุ่นควัน มีทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่ป่า สำหรับในพื้นที่เขตเมืองจะมีสภาลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา มีการสร้างการกระบวนการรับรู้กับประชาชน มีการจัดหาพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับรองรับเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

“ในเรื่องของการดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบหลักได้มีการสำรวจจำนวนความต้องการของกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใช้หน้ากากป้องกัน pm2.5 แล้วกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งจะมีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งอบจ.และในพื้นที่จัดหาให้ครอบคลุม ส่วนมาตรการด้านอื่นๆที่เพิ่มจากปีที่ผ่านมาก็คือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งสภาลมหายใจจะเป็นผู้ขับเคลื่อนในเขตเมือง มีการสร้างพื้นที่ปลอดฝุ่น ซึ่งนอกจากจะมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคลให้คนเชียงใหม่แล้วยังสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวด้วย ส่วนอำเภออื่นๆ ทางอำเภอได้มีการจัดทีมลงไปทำงานกับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตของประชาชน”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า

ในส่วนของพื้นที่ป่า จะเน้นในกลุ่มหาของป่า ล่าสัตว์ และสำรวจพื้นที่ทำกินที่ใกล้เขตป่า โดยให้นายอำเภอสำรวจรายชื่อผู้หาของป่าและรายงานมายังจังหวัด เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยการหาอาชีพทดแทน หรือบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีต่างๆ เพื่อเป็นการลดจุดความร้อนและลดการเผาในพื้นที่ด้วย ซึ่งขณะนี้มีบางพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และคาดว่าภายในเดือนมกราคมนี้จะได้แผนที่ชัดเจน

ทางด้านนายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนยุทธศาสตร์สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีแนวทางการบริการจัดการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 โดยความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคประชาชน กำหนดแผนการบริหารจัดการ โดยแบ่งเป็น แผนระยะสั้น 1 ปี (แผนเร่งด่วน ปี 2563) เช่น การป้องกันแหล่งกำเนิด ระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดเหตุ ตรวจหาแหล่งกำเนิด รวมไปถึงปลูกพืชที่ไม่ลามไฟ ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ จัดทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟป่าเปียก และเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน มีการควบคุมการกระจาย โดยการจัดชุดลาดตระเวนและควบคุมไฟป่า การบินตรวจ และการปฏิบัติการฝนหลวง     นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดการระยะกลาง 3 ปี คือ การนำร่องเกษตรและอาชีพไร้หมอกควัน สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง และวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีโดยใช้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และแผนระยะยาว 5 ปี โดยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อสร้างอาชีพและแก้ปัญหาความยากจน สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังรับฟังแผนงานจากทางจังหวัด พลเอกสกนธ์ กล่าวว่า เท่าที่ฟังแผนเผชิญเหตุยังไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งก็มีความเป็นห่วงเพราะผู้ว่าฯก็มาใหม่และที่นำเสนอแผนก็เป็นเพียงแผนงาน แต่ยังไม่เห็นแอคชั่นที่เด่นชัด ขณะที่นายณรงค์ อ่อนสะอาด สมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า จากประสบการณ์มั่นใจว่าผู้ว่าฯจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ แต่ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ต้องประสานดูว่าจังหวัดอื่นมีการเตรียมการเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะปัญหาฝุ่นควันไม่ได้มีแหล่งกำเนิดจากในพื้นที่อย่างเดียว แต่หมอกควัน ฝุ่นควันข้ามแดนมีแผนจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ในพื้นที่ 94 ตำบล 24 อำเภอของเชียงใหม่มีการจัดทำแนวกันไฟแล้วหรือยัง เพราะขณะนี้งบประมาณปี 2563 ยังไม่ออก กว่าจะออกและอนุมัติใช้ได้ก็สิ้นเดือนกุมภา-ต้นมี.ค.แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร อีกประการหนึ่งที่อยากให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับการฉีดพ่นละอองน้ำว่าได้ผลจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงปฏิบัติการจิตวิทยาเท่านั้น

เช่นเดียวกับนายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ สมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า กลไกที่ทำจากที่รับฟังดูเป็นระบบดี แต่การขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมจะทำอย่างไรเมื่อขณะนี้ฝุ่นควันมาแล้ว บางวันคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว และที่สำคัญปีนี้แล้งกว่าเดิมด้วย อย่างไรก็ตามหวังว่าปีนี้ดอยสุเทพจะไม่หายไปเป็นเดือนๆ เหมือนกับปีที่ผ่านมา

พลเอกสกนธ์ ยังกล่าวถึงการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนว่า การที่กองทัพภาคที่ 3 ได้ตั้งกองควบคุมสถานการณ์ขึ้นมาประสานงานกับจังหวัดภาคเหนือที่มีปัญหา และให้กอ.รมน.มาดูแลในพื้นที่ทำงานด้านนี้ ในฐานะที่เป็นทหาร เห็นว่าการเอาทหารมาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นการเอามาช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแค่นั้น และกอ.รมน.ก็ไม่ได้ขึ้นกับการบังคับบัญชาของผู้ว่าฯด้วย

จากนั้นรองประธานกรรมการคนที่ 1 ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากการรับฟังที่ทางจังหวัดนำเสนอ เห็นว่ามีการเตรียมการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นละออง pm 2.5 จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน เป็นกำลังใจให้กับนายอำเภอทุกอำเภอที่ร่วมกันดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และทางจังหวัดก็มีเตรียมการ การประชาสัมพันธ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี     ส่วนปัญหาภัยแล้ง ปีนี้จะเห็นได้ชัดว่าจะแล้งกว่าเดิม ซึ่งในส่วนนี้ทางจังหวัดมีการวางแผนชัดเจนแล้วเช่นกัน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พื้นที่ชลประทาน มีการเตรียมพร้อม อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ.

You may also like

SUN ขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรครบวงจร และจัดพิธีบวงสรวงพระพิรุณ ประจำปี 2567

จำนวนผู้