สภาพลเมืองเชียงใหม่ เปิดอภิปรายความคืบหน้าข่วงหลวงเวียงแก้ว

สภาพลเมืองเชียงใหม่ เปิดอภิปรายความคืบหน้าข่วงหลวงเวียงแก้ว

- in headline, จับกระแสสังคม

.เชียงใหม่  (3 พ.ค. 58) /  สภาพลเมืองเชียงใหม่ เปิดเวทีอภิปราย “สภาพลังพลเมือง ร่วมจัดการข่วงหลวงเวียงแก้ว”  พร้อมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างจากภาครัฐ

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ลานกิจกรรม หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ สภาพลเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเวทีอภิปราย “พลังพลเมือง ร่วมจัดการข่วงหลวงเวียงแก้ว” โดยมี คณะทำงานสภาพลเมือง สมาชิกสภาพลเมือง กลุ่มเครือข่ายชุมชนต่างๆ ตัวแทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 50 คน

นายสวิง ตันอุด หัวหน้าคณะทำงานสภาพลเมือง กล่าวถึงความเป็นมาของสภาพลเมืองว่า เรื่องสภาพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคำว่า สภาพลเมือง ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยพลเมืองจะทำให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ มีเสียงในการเสนอข้อเรียกร้องมากขึ้น รวมถึงมีสิทธิในการจัดการตัวเอง ซึ่งทุกคนสามารถเป็นพลเมืองได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกิจกรรมครั้งต่อไปของสภาพลเมือง ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นใน 7 มิ.ย. 58 ในประเด็น “เชียงใหม่เมืองจักรยาน” ด้วย

ด้านนายชำนาญ จันทร์เรือง จากเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น  กล่าวถึงความเป็นมาของพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วในอดีต ซึ่งเชื่อว่าเป็นวังหลวงที่ประทับของพญามังราย  ต่อมากลายมาเป็นเรือนจำและทัณฑสถานหญิง ภายหลังเมื่อมีการย้ายทัณฑสถานหญิงออก จึงคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ และสำนักพุทธศาสนา ได้ของบประมาณมา 150 ล้านบาท โดยมีแผนจะก่อสร้างพุทธมณฑลเชียงใหม่ แต่ต่อมาได้มีการทำประชามติว่า จะทำเป็นลานเอนกประสงค์ และเปลี่ยนผู้รับผิดชอบงบประมาณ จากสำนักพระพุทธศาสนา เป็น สำนักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย

ขณะที่นายวิรุฬ พรรณเทวี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า งบประมาณส่วนนี้ เป็นงบประมาณกลางปี 2555 แต่ถูกนำมาพิจารณาปี 2556 ซึ่งให้ผ่านทางสำนักพุทธศาสนา จำนวน 150 ล้านบาท ต่อมาทางสำนักพุทธฯได้มอบให้ทางสำนักงานจังหวัดดำเนินการต่อ แต่มีข้อจำกัดในด้านระยะเวลาที่จำกัด กรอบทิศทางดำเนินการยังไม่ชัดเจนได้รับการทักท้วงจากกรมศิลปากรเรื่องโบราณสถาน จะต้องสำรวจพื้นที่ก่อน และขั้นตอนในการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์  แต่ขณะนี้ได้กันงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งวงเงินงบประมาณจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 ถ้าหากสามารถจัดประกวดราคาได้ทันในวงเงิน 150 ล้านบาทก็จะมีผลต่อการดำเนินงานสร้างได้ และมีการประกวดแบบไปแล้ว แต่ยังติดปัญหาอยู่ในส่วนงบที่ใช้ในการประกวดแบบ ซึ่งไม่มีเขียนวัตถุประสงค์ไว้ในงบประมาณ ทำให้ต้องใช้งบเก่าของรัฐบาลในส่วนของปี 57 จำนวน  1,700,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการออกแบบ

ต่อมานายมนูญ ไทยนุรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง ได้ฝากถึงหน่วยงานราชการให้ช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายจังหวัดจัดการตนเองและส่งเสริมสภาพลเมืองให้มีความเข้มแข็ง ขณะที่นายพิชัย ภู่พงษ์ศักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการภาครัฐที่ล่าช้า เกิดจากการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ขาดการกระจายอำนาจ ต้องมีการของบจากส่วนกลาง อำนาจตัดสินใจไม่อยู่ที่ผู้ว่าฯ อยากให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ภาคประชาชนให้มากขึ้น

ในช่วงท้ายนางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง จากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เจียงใหม่ กล่าวสรุปว่า ในการเปิดสภาพลเมืองวันนี้ได้รับความร่วมมือจากทางหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มาชี้แจงข้อเท็จจริง และได้รับความสนใจจากประชาชนพลเมืองจังหวัดเชียงใหม่  จึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าร่วมงานการเปิดเวทีสภาพลเมืองครั้งนี้

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้