สชป.1 จัดโครงการสื่อสัญจรติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำชลประทาน ยันสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งปี 66/67 เพียงพอ

สชป.1 จัดโครงการสื่อสัญจรติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำชลประทาน ยันสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้งปี 66/67 เพียงพอ

ผู้บริหารสำนักงานชลประทานที่ 1 นำคณะสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจร การบริหารจัดการน้ำชลประทาน เขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 และติดตามความก้าวหน้างานของโครงการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดฯ เผยเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดสำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ได้อย่างเพียงพอ

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.66  สำนักงานชลประทานที่ 1 (สชป.1) นำโดยดร.สุดชาย  พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจร การบริหารจัดการน้ำชลประทาน เขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 1 และติดตามความก้าวหน้างานของโครงการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่โดยมีนายเฉลิมเกียรติ  อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ร่วมให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป

นายเฉลิมเกียรติ  อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ งานก่อสร้าง การบริหารจัดการน้ำพื้นที่โครงการ ตาม 12 มาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน 2566 และ 6 แนวทางปฏิบัติกรมชลประทาน ภาพรวมสถานการณ์น้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แผน-ผลการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2566

ด้าน นายอภิวัฒน์  ภูมิไธสง ผู้อำนวยการบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้รายงานสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำ 199.312 ล้าน ลบ.ม. (75.214%) เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปริมาณน้ำ 138.786 ล้าน ลบ.ม. (52.77%)  การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองแห่งตลอดช่วงฤดูฝนปี 66 บริหารจัดการน้ำจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเป็นหลัก และควบคุมการส่งน้ำแบบประณีต เพื่อเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดสำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ได้อย่างเพียงพอ

สำหรับการคาดหมายกิจกรรมการใช้น้ำฤดูฝนปี 66 จนถึงต้นฤดูฝนปี 67 เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล สนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค 2 ฝั่งน้ำปิง รวม 21 ล้าน ลบ.ม. สนับสนุนภาคการเกษตร ฤดูฝน 48 ล้าน ลบ.ม.  และฤดูแล้ง 66/67 ปริมาณ 660 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณจัดสรรเขื่อนแม่งัดฯ ถึงต้นฤดูฝน ปี 67 ปริมาณ 129 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา สนับสนุนการอุปโภค-บริโภค ช่วง กรกฎาคม 66 – กรกฎาคม 67 รวม 18 ล้าน ลบ.ม. ภาคการเกษตร ฤดูฝนแผนจัดสรร 95 ล้าน ลบ.ม. และฤดูแล้ง 66/67 รวม 45 ล้าน ลบ.ม.  รวมปริมาณจัดสรร 153 ล้าน ลบ.ม.

ผู้อำนวยการบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 1 ยังกล่าวถึงการเตรียมการรับสถานการณ์เอลนีโญ/ลานีญา  2566 โดยกรมชลประทานได้มอบแนวทางให้สำนักงานชลปรทานที่ 1 พิจารณาบริหารจัดการน้ำฤดูฝน โดยให้พื้นที่เกษตรใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเก็บกักน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุดจนสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ เพื่อสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งและรับสถานการณ์เอลนีโญที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 การเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้ โดยดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 และควบคู่กับ 6 แนวทางปฏิบัติกรมชลประทาน  ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน ดร.สุดชาย  พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้กล่าวเสริมว่า สำหรับสำนักงานชลประทานที่ 1  ได้เตรียมพร้อมสำหรับมาตรการรองรับมืออุทกภัยก่อนสิ้นฤดูฝน 2566 และเตรียมพร้อมรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การประปาอย่างเพียงพอ รวมถึงการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมใช้งาน เพื่อรองรับการสนับสนุนในมาตรการต่าง ๆ ไว้พร้อมแล้ว.

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้