สนข.ยกทีมสื่อส่วนกลางทำกิจกรรมสร้างการรับรู้และส่งเสริมชาวเชียงใหม่ปรับพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ขนส่งสาธารณะ

สนข.ยกทีมสื่อส่วนกลางทำกิจกรรมสร้างการรับรู้และส่งเสริมชาวเชียงใหม่ปรับพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ขนส่งสาธารณะ

สนข.ขนสื่อส่วนกลาง ยกทีมทำกิจกรรมสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่ปรับพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ “ผอ.สนข.”แจง”สมคิด”ให้โจทย์แก้ข้อกล่าวหาเป็นโครงการที่ถูกรัฐบาลกลางยัดเยียด หวังให้ชาวเชียงใหม่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยันเริ่มสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเหตุคุ้มทุนคนใช้เดินทางมากที่สุด ขณะที่รฟม.ร่างTOR เสร็จพร้อมคัดเลือกหาบ.ที่ปรึกษาได้ภายในปีนี้ คาดปี 63 เริ่มตอกเสาเข็มหากไม่ผิดแผนปี 67 คนเชียงใหม่ได้ใช้รถไฟฟ้าแน่นอน

วันที่ 8 ก.ย.61 ที่ห้องนพเก้า โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร(สนข.) ได้นำคณะสื่อมวลชนส่วนกลาง ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร(สนข.)ประมาณ 80 คน นำโดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผอ.สนข.ได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยภาคเช้าได้จัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ “การบรรยายทิศทางคมนาคมขนส่งไทย วันนี้เพื่ออนาคต”โดยผอ.สนข.และสาเหตุและปัญหาทำไมต้องมีรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายทรงยศ กิจกรรมเกสร ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ(ตอนบน)ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่ซึ่งสนข.ได้รับงบประมาณกว่า 400 ล้านบาทมาพัฒนาพื้นที่คมนาคม ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ แต่หลายปีที่ผ่านมาเมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้เกิดปัญหาด้านคมนาคมขนส่ง การจราจรที่แออัดคับคั่งในเขตเมืองเกิดความไม่สะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมถึงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทางกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สนข.ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตเมืองและแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

ผอ.สนข.กล่าวอีกว่า ขณะนี้การศึกษาเสร็จเรียบร้อย โดยระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่เป็นรถไฟฟ้ารางเบามีทั้งระบบบนดินและใต้ดินและมี 3 เส้นทาง โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอครม.ซึ่งก็มีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ดำเนินการในเส้นทางสายสีแดงสายสีแดง (ระยะทางรวม 12 กิโลเมตร) เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี-ศูนย์ประชุมนานาชาติ-สถานีตำรวจช้างเผือก-แยกข่วงสิงห์-มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่-สถานีขนส่งช้างเผือก-โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-รร.วัฒโนทัยพายัพ-สนามบินเชียงใหม่-สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่-ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี หางดง

“การดำเนินการเรื่องระบบขนส่งมวลชนย่อมขาดทุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องสนับสนุน เหมือนกับ ขสมก.ที่ขาดทุนทุกเดือนและรัฐต้องสนับสนุนแต่ต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการด้วย และผมก็ยืนยันว่าประเทศไทยจะต้องส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ไม่งั้นจะไม่เจริญ และสนข.ก็ไม่ได้มั่ว มีข้อมูลการศึกษาทุกอย่างเช่นเดียวกับที่จะมาทำระบบขนส่งมวลชนของเชียงใหม่ ซึ่งสนข.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง”นายชัยวัฒน์ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีบอกว่าการดำเนินโครงการขนาดใหญ่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยเฉพาะการที่จะเอาสิ่งใหม่เข้ามาและกระทบกับวิถีชีวิตของคนพื้นที่ ที่ผ่านมามีประสบการที่เจ็บปวด การประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นแม้จะมีคนเห็นด้วยและสนับสนุนแต่พอจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างจริงก็มีการประท้วง ยกป้ายต่อต้าน เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้คนในพื้นที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการก่อน ไม่ใช่ให้เขามาต่อต้านและบอกว่าเป็นโครงการที่รัฐบาลกลางยัดเยียดมาให้ ไม่เช่นนั้นการก่อสร้างก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และตอนนี้รัฐบาลเคาะแล้วโดยให้รฟม.มาลงทุนในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อน

นายชัยวัฒน์ กล่าวกับสำนักข่าวนอร์ทพับลิคนิวส์ว่า ในหลักการของกระทรวงคมนาคม ที่ให้สนข.มาครั้งนี้ก็เพื่อสร้างการรับรู้และต้องทำให้คนในพื้นที่รู้ว่ารถไฟฟ้าที่กำลังจะสร้างเป็นของเขา และในขณะที่รฟม.ดำเนินการในเส้นทางสายสีแดงไปแล้วในระยะหนึ่ง ทางสนข.ก็จะดำเนินการศึกษาและผลักดันอีก 2 เส้นทางต่อไป ซึ่งแผนในการขับเคลื่อนของ 2 เส้นทางอาจจะเป็นการลงทุนโดยเอกชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย แต่ในเบื้องต้นในเส้นทางแรกที่ทำนี้ เราก็อยากให้คนเชียงใหม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ภาคเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรมเตรียมการอย่างไรบ้างเมื่อกระทรวงคมนาคมขยับแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของภาคเอกชนในการลงทุนรัฐจะรับหมดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อรัฐเดินหน้ารถไฟฟ้ารางเบาแล้วเอกชนควรมีแผนเตรียมการบ้าง

“สาเหตุที่รัฐบาลเคาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อน เพราะจากผลการศึกษาเป็นเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งปริมาณของผู้ที่เดินทาง การเดินทางของเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นทำงานหรือเข้าไปศึกษาจะเป็นเส้นทางที่มุ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง เส้นทางนี้ตอบโจทย์ทั้งปริมาณการเดินทาง ระยะเวลาและการลงุทน โดยเฉพาะการขนคนเข้าเมืองทั้งเช้า-เย็นในช่วงเวลาเร่งด่วน และการที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองมรดกโลก การมีรถไฟฟ้ารางเบาหรือ TRAM ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญเพราะ TRAM จะทำให้เชียงใหม่ได้การขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกได้เร็วขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ไม่มีการบริหารจัดการ มีปัญหาจราจรแออัด ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมจากการขนส่ง”ผอ.สนข.กล่าวชี้แจง

ด้านนายทรงยศ กิจกรรมเกสร ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ(ตอนบน)ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีปัญหาการจราจรแออัดมาก โดยเฉพาะในท้องถนนมีรถจักรยานยนต์ที่วิ่งอยู่กว่า 50% และมีอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์สูงถึง 40 รายต่อวัน เสียชีวิตวันละ 1 ราย และในชั่วโมงเร่งด่วนรถติดมาก บางเส้นทางใช้ความเร็วเฉลี่ยได้เพียง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สาเหตุก็มาจากการเดินทางไปทำงานและสถานศึกษาทำให้เกิดการติดขัดบริเวณทางแยก

ผอ.ศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่งภาคเหนือ (ตอนบน) ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มช.กล่าวอีกว่า เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่มีพื้นที่สีเขียวถึงร้อยละ 59 แต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาพื้นที่สีเขียวเหลือเพียงครึ่งเดียว เพราะมีการตัดถนนและมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้น ถนนบางสายเกินความจุ และหากไม่มีระบบขนส่งมวลชนมารองรับในปี 2570 เส้นทางที่เคยไปได้จะไปไม่ได้ และในปี 2575 หากไม่ทำอะไรเลยการจราจรจะติดหนักแซงการจราจรของกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ด้วย

“จากการศึกษาของเราที่ได้วิเคราะห์บนพื้นฐานของผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่โดยระบบโครงข่ายสาธารณะที่เหมาะสมกับเชียงใหม่คือ รถไฟฟ้ารางเบาหรือ LRT ซึ่งได้ศึกษาศักยภาพการพัฒนา 9 พื้นที่ตามแนวเส้นทาง โดยแต่ละพื้นที่ควรจะมีการพัฒนาโดดเด่นต่างกันทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมและทำให้เกิดผู้โดยสารขาประจำในอนาคตที่เดินทางโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน และในการศึกษานี้ยังมีข้อเสนอแนะให้ว่าถ้าโครงการจะเดินหน้าได้จะต้องเป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP โดยรัฐบาลกลางกับส่วนท้องถิ่นนั่นคือ รฟม.กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”นายทรงยศ กล่าว

ขณะที่ผู้แทนรฟม.ที่มาร่วมในครั้งนี้ กล่าวกับนอร์ทพับลิคนิวส์ว่า หลังจากรฟม.มาแนะนำโครงการกับทางผู้บริหารจังหวัดเชียงใหม่ไปครั้งหนึ่งแล้ว ในส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินการทางรฟม.ได้จัดทำTOR เพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ดำเนินการภายในเดือนธ.ค.ปีนี้และในช่วงต้นปี 2562 บริษัทที่ปรึกษาก็จะดำเนินการศึกษาทบทวนเกี่ยวกับแผนแม่บท ออกแบบรายละเอียดทั้งเส้นทาง จุดจอด กระบวนการมีส่วนร่วม ศึกษาการเงิน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการลงทุน โดยกระบวนการนี้จะให้แล้วเสร็จเสนอบอร์ดรฟม.ได้ในเดือนกันยายนปี 2562 จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเห็นชอบตามเสนอในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 จากนั้น รฟม.ก็จะคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนและดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567.

You may also like

ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านโรงแรมจัดงาน“ Chiang Mai Housekeeping Fair 2024

จำนวนผู้