สนข.เปิดเวทีรอบสุดท้ายเสนอผลศึกษาเพิ่มเติมระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ชี้รถไฟฟ้ารางเบาใช้ทางวิ่งทั้งบนดินและใต้ดินเหมาะสมที่สุด รองรับการจราจรได้ 40 ปีดึงคนลดใช้รถส่วนตัวได้ 50% ค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท แต่รัฐบาลต้องลงทุน 1 แสนล้านบาท พร้อมนำเสนอเข้าก.คมนาคม คาดปี 63 เริ่มลงมือใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี
ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติโรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายประจวบ กันธิยะ รองผวจ.เชียงใหม่กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เป็นประธานเปิดประชุม
โดยกล่าวว่า สนข.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินงานศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมต่อสภาพเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ได้แผนงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาระยะสั้น กลางและยาว รวมทั้งรูปแบบการลงทุน การจัดองค์กรและการบริหารจัดการระบบให้มีความยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและส่งเสริมศักยภาพในการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“ที่ผ่านมามีการเปิดเวทีรับฟังไปแล้ว 2 ครั้งและประชุมย่อยอีก 5 ครั้งซึ่งจากการวิเคราะห์สภาพข้อเท็จจริงและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่คือระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือ Light Rail Transit System ZLRT) โดยมีทางเลือกสำหรับโครงข่ายเส้นทางที่เหมาะสม 2 ทางเลือกคือโครงข่าย A ที่ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินกับโครงข่าย B ใช้ทางวิ่งบนดินทั้งโครงข่าย และการประชุมวันนี้ทางคณะศึกษาจะนำเสนอผลการศึกษาสุดท้ายของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ไปสู่การปฏิบัติจริง”รองผอ.สนข.กล่าว
ทางด้านรศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วรูปแบบที่เหมาะสมคือระบบโครงข่าย A ซึ่งจะมี 3 เส้นทางหลัก เส้นทางละ 12 กม.และมีระบบFeederประมาณ 200 กม.โดยใช้รถเมล์วิ่งในเขตเมืองใน 7 เส้นทางๆ ละ 12 กิโลเมตร และรถเมล์รับผู้โดยสารในอำเภอต่างๆ อีก 7 เส้นทางๆ ละ 12 กม.อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาทและกิโลเมตรต่อไป 1 บาท วิ่งในอัตราความเร็ว 30-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ระบบโครงข่ายนี้จะไม่มีผลกระทบต่อพื้นผิวจราจร ทำให้การเดินทางได้รวดเร็ว มีความปลอดภัยสูงและดึงดูดให้คนลดการใช้รถส่วนตัวมาใช้บริการได้ถึง 50% และหากพิจารณาตามโจทย์ที่ สนข.ให้มาคือแก้ไขปัญหาจราจรแล้วระบบ A จะดีกว่าเนื่องจากมีเขตทางเฉพาะและระบบที่ศึกษานี้ยังรองรับการจราจรได้ถึง 40 ปี
ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเงินลงทุนในโครงข่าย A จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี ส่วนโครงข่าย B ใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2563 รูปแบบการลงทุนนั้นจากการศึกษาแล้วรัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด และหลังจากประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้วจะเอาความคิดเห็นที่ได้เพิ่มเติมเข้าไปในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่เสนอสนข.เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป.