“รีไซเคิลสร้างสรรค์”อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน

“รีไซเคิลสร้างสรรค์”อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน

- in Exclusive, การศึกษา-เกษตรกร

นยุคที่เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิต ภาพ“สังคมก้มหน้า” ที่แต่ละคนจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้กระทั่งในโรงเรียน เป็นเหตุผลให้ครูต้องคิด และหาวิธีดึงดูดนักเรียนให้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ละวางจากมือถือ เพราะตระหนักดีว่าการหมกมุ่นกับเกม หรือโลกโซเชียล ก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมหันต์ โดยเฉพาะในเด็กสมาธิสั้น จะขาดพัฒนาการ และความอดทนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด“งานสร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล” คือกิจกรรมหนึ่งที่ครูวรีวรรณ โขนงนุช ชักชวนให้เด็กๆ  ที่เรียนวิชาศรีสัชนาลัย ในหลักสูตรสาระเพิ่มเติม ม.4 ของโรงเรียนเมืองเชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จำนวน 5 คน ซึ่งสนใจมารวมกลุ่มกัน สมัครเข้าโครงการปฏิบัติการวัยรุ่นสร้างสุขภาวะ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ชื่อกลุ่มคนกล้าตามหาความฝัน นำวัสดุใกล้ตัวที่เหลือใช้มารีไซเคิล ออกแบบเป็นของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ เช่น นำขวดเครื่องดื่มซุปไก่ และกล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจัดทำกระเช้าใส่มะลิ  ตุ๊กตากระเช้า มงกุฎดอกไม้ กระเป๋าลายสังคโลก หรือกระเป๋าสะพายใบเล็กๆ ที่ปักครอสติชตกแต่งเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพวน เป็นต้นพิมนิภา สาริกิจ หัวหน้าทีมคนกล้าตามหาความฝัน เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมว่า เกิดจากการมองเห็นปัญหาขยะ ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้คิดวิธีรีไซเคิลเป็นของที่ระลึก เพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะ ขณะเดียวกันการสร้างสิ่งสวยๆ งามๆ ก็เป็นความสุขในการทำงานที่เธอและเพื่อนๆ ชื่นชอบ ที่สำคัญยังสามารถนำชิ้นงานที่ทำขึ้นไปจำหน่าย หรือเผยแพร่ในโอกาสต่างๆ สร้างรายได้ระหว่างเรียนอีกทางหนึ่งด้วย“เริ่มแรกแกนนำหลักมีเพียง 5 คน แต่ปรากฏว่าพอเริ่มกิจกรรมได้ระยะหนึ่ง เพื่อนๆ และน้องๆ เห็นพี่ทำกระเป๋าสะพายตกแต่งด้วยครอสติชลวดลายตีนจกของไทยพวน แล้วพากันใช้สะพายในโรงเรียน ก็เกิดความสนใจ อยากได้ชิ้นงานที่ประดิษฐ์ไปใช้บ้าง จึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกรวม 20 กว่าคน และระหว่างทางก็มีบางคนไม่มีเวลา ขาดๆ หายๆ ไป หรือย้ายโรงเรียน จนสุดท้ายเหลือแกนนำและสมาชิกหลักๆ 14 คน ที่ทำอย่างจริงจัง” หัวหน้าทีม อธิบายแม้รายได้จากกิจกรรมจะไม่มากนัก อยู่ระหว่างหลักร้อยถึงหลักพันบาท/คน ขึ้นอยู่กับความขยันขันแข็งในการผลิต แต่สิ่งที่ได้คือการซึมซับศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพวน ในเขต อ.ศรีสัชนาลัย ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น ประเพณีแห่ช้างบวชนาค การนำลายผ้าทอตีนจกมาประยุกต์เป็นลายปักครอสติช  และประสบการณ์ทำงานระหว่างเรียน ที่ต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม มีวินัยในการทำงาน และอดทน ประณีต เนื่องจากส่งขายด้วยสาวิตรี ปันติ หนึ่งในแกนนำ บอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เธอและเพื่อนๆ ได้ฝึกวาดลวดลายสังคโลก ปักครอสติช รู้จักลายผ้าตีนจกของไทยพวน ต.หาดเสี้ยว ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีทั้งหมดถึง 9 ลาย ประกอบด้วยลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่ ลายสี่ขอ ลายแปดขอ ลายน้ำอ่าง ลายสิบสองหน่วยตัด ลายสองห้อง และลายมนสิบหก ซึ่งไม่ว่าจะปักลวดลายใดก็ต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูง นับแถวให้ดี ถ้าวอกแวกปักผิด ลายจะขาดหรือเกิน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการตัดทิ้งแล้วมัดปมเอาเธอย้ำว่าภูมิใจมากที่ผลงานเป็นที่ยอมรับ ช่วงทำกระเป๋าถือลายการ์ตูน ใช้เทคนิคการลอกลาย แล้วระบายด้วยสีสกรีน นำไปเผยแพร่ในงานอุตรดิตถ์ยิ้ม ของกลุ่มกิ่งก้านใบ ที่ จ.อุตรดิตถ์ มีแต่คนอยากได้ จึงทำแจกประมาณ 200 ใบวรีวรรณ โขนงนุช อาจารย์ที่ปรึกษา เล่าว่า ในฐานะที่เป็นคนกระตุ้นให้เด็กอยากทำกิจกรรม จึงต้องคอยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา ตลอดจนแนะแนวทางสู่ความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ เพราะถ้าให้หาประสบการณ์ด้วยตนเองล้วนๆ ด้วยความเยาว์วัย เมื่อเกิดอุปสรรคปัญหาขึ้น เช่น ไม่ค่อยมีเวลา สมาชิกบางคนไม่เข้าร่วม หรือผลิตงานไม่ทัน ก็ย่อมท้อถอย และความผิดพลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นถ้าไม่มีคนคอยให้คำปรึกษาและกำลังใจสำหรับหลักสูตรสาระเพิ่มเติม ที่จุดประกายให้เด็กๆ สนใจทำกิจกรรม “งานสร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล” นั้น เน้นพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น โดยจากการสำรวจตลาดสินค้าของฝากของที่ระลึก พบว่าที่วางขายในสุโขทัยส่วนใหญ่ นำมาจากเชียงใหม่ จึงผลักดันให้สร้างสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย แล้วคัดเลือกเนื้อหามาลงหลักสูตรสอนเด็ก ดึงวัฒนธรรมไทยพวน สังคโลก เข้ามา ทำให้เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่การทำชิ้นงาน อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิม ย้ำว่าสาเหตุที่เลือกตีนจกเข้ามาสอนด้วย เนื่องจากมองเห็นว่าตีนจกกำลังจะสูญหาย ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้แทบไม่เหลือคนทอแล้ว ย่างน้อยถ้านำมาปักครอสติช ก็จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ยังรู้จักลวดลาย และเป็นวิธีการสืบทอดลวดลายดั้งเดิมไปโดยปริยายด้านจันทร์เพ็ญ  ทรัพย์ประชา ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองเชลียง กล่าวว่า ทางโรงเรียนสนับสนุน ให้ขวัญและกำลังใจในการสอนหลักสูตรท้องถิ่น และการทำกิจกรรมของเด็กๆ ตลอดมา เพราะตรงกับเอกลักษณ์ของโรงเรียน คือผู้นำด้านวิถีไทย และชาวไทยพวนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ อ.ศรีสัชนาลัย ขณะเดียวกันโรงเรียนยังมุ่งมั่นทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงบูรณาการหลักสูตร ม.ปลาย เรื่องสังคโลก กับหลักสูตร ม.ต้น เรื่องผ้าซิ่นตีนจก เข้ามาด้วย นับว่ากิจกรรมนี้ ได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพวน เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังมีรายได้ระหว่างเรียน ช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง.

 

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้