“รองฯอุ้ย”ย้ำ 25 อภ.เตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัย ชี้ชีวิตประชาชนสำคัญเป็นอันดับแรก ด้านผอ.ศูนย์ฯเหนือ เตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือระวังผลกระทบจากฝนตกหนักจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก แนะให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุอย่างใกล้ชิด ขณะที่หน.ปภ.เชียงใหม่เผยประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 4 อภ.13 ตำบล 167 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ
วันที่ 24 ก.ค.61ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ต่อสื่อมวลชน โดยประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยและการเฝ้าระวังในช่วงฤดูฝน โดยนายเมธี มหายศนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคมนี้ พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ โดยคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในระยะต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ยังคงมีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่นๆ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2561 จะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังค่อนข้างแรง และร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกติดตามการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนด้วย สำหรับชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
“ในช่วง 4 วันคือตั้งแต่ 26-29 ก.ค.จะมีฝนตกชุก โดยจะเริ่มในตอนบ่ายจนถึงทุ่มจะมีฝนตกหนัก และจะหยุดหลังเที่ยงคืน โดยเฉพาะใน อำเภอตอนเหนือของเชียงใหม่ ทั้งแม่อาย ท่าตอน เวียงแหง และฝาง จะได้รับผลกระทบจากมรสุมดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นร่องมรสุมด้วย ซึ่งต้องระวังเรื่องน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม อย่างไรก็ตามเรื่องของพายุจะอยู่เหนือความคาดหมายว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งต้องรอให้เกิดก่อน แต่ทั้งนี้ฤดูฝนจะหมดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม และขณะนี้ปรากฏการณ์เอลนิโญ่เริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในปีหน้าปัญหาหมอกควันอาจจะรุนแรง เพราะปีนี้ฝนจะหมดเร็ว ความแห้งแล้งจะมาเร็วและมากขึ้น”ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านทะเลจีนใต้ และมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น กับมีฝนหนักถึงหนักมากลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่พายุฯเคลื่อนผ่าน ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย
ทางด้านนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมการรับมือกับสาธารณภัยนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้มีวิทยุแจ้งเตือนไปทั้ง 25 อำเภอให้เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศ ตรวจสอบกลุ่มเมฆฝนและปริมาณน้ำฝน โดยมีการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า 187 สถานี มีมิสเตอร์เตือนภัย 5,989 คน อปพร.25,891 คนติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย 178 ตำบล 919 หมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัยระดับ 2 จำนวน 85 หมู่บ้านและระดับ 3 จำนวน 834 หมู่บ้านและยังมีจิตอาสาจังหวัดเชียงใหม่อีก 108,567 คน
มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีพื้นที่ประสบภัย 14 อำเภอ แต่ในขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยไปแล้ว 4 อำเภอ คือ ฮอด แม่แจ่ม อมก๋อยและจอมทอง รวม 13 ตำบล 167 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 30,210 ครัวเรือน 87,759 คน บ้านเรือน 6 หลัง พื้นที่การเกษตร 50 ไร่ มีผู้เสียชีวิต 1 รายจากเหตุอุทกภัยเมื่อ 12 มิ.ย.61 ที่บ้านห้วยน้ำขาว ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ได้มีการเน้นย้ำให้นายอำเภอทุกแห่งแล้วว่า ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อมีคำเตือนในเรื่องของการเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก หากเป็นพื้นที่เสี่ยงให้อพยพราษฎรออกไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทุกอำเภอจะต้องมีพื้นที่รองรับในการอพยพราษฎร เพราะขณะนี้ในสว่นของน้ำในแม่น้ำปิงไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ห่วงคือน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องและดินชุ่มน้ำมานาน .