แบงก์ชาติเหนือชี้พิษโควิดประชาชนหันพึ่ง“Non Bank”สูงเพื่อประทังความอยู่รอด ขณะที่ภาคท่องเที่ยวคาดจะฟื้นตัวได้ในปี 65 เผยประชาชนและนักท่องเที่ยวยังขาดความมั่นใจ ธปท.เตรียมเปิดตัวมาตรการใหม่ในวันวาเลนไทม์ หวังลดปัญหาลูกหนี้NPLกับแบงก์ พร้อมเพิ่มช่องทางคลีนิกทางด่วนออนไลน์ให้คำปรึกษา เชื่อปัญหาปฏิวัติในเมียนมาไม่กระทบเศรษฐกิจภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 4 ปี 2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 64 ว่า ในไตรมาส 4 เศรษฐกิจภาคเหนือโดยรวมพบว่าการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดีและสนับสนุนภาคอื่นๆ ภาคเกษตรสินค้าบางตัวดี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในระดับต่ำ โดยมาจากภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เป็นลำดับ ภาคท่องเที่ยวดีขึ้นแต่ไม่เท่าปีก่อน การบริโภคภาคเอกชนยังทรงตัว ภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากปัจจัยชั่วคราว ขาดวัตถุดิบภาคไร่ซึ่งสุดท้ายจะกลับมา
ในภาคเหนือ 30% รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป แต่ 70% ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทยพบว่าอัตราเข้าพักและมาท่องเที่ยวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐทั้งเที่ยวด้วยกันและวันหยุดยาว แม้จะมีการระบาดของโควิดรอบ 2 ซึ่งทำให้การจองห้องพักลดลงมากในเดือนมกราคมและจะเป็นอีกระยะ จนกว่าความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะกลับมา
“นักท่องเที่ยวต่างชาติมีโรงแรมบางส่วนที่พึ่งพา คาดไตรมาส 4 ปีนี้จะมีชาวต่างชาติเข้ามาแต่ไม่มากนัก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีนและเข้ามาทำงานแต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของภาคเหนือซึ่ง 20% จะมีเพียง 7% ที่เข้ามาภาคเหนือ แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่พึ่งพามากคือนักท่องเที่ยวไทยหลังมีโควิดรอบ 2 พบว่าลดลงมากแต่ไม่เท่ากับช่วงล็อคดาวน์ แม้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวมาโดยไม่กักตัวแต่นักท่องเที่ยวยังกลัว คาดว่าจะกลับมาช่วงหน้าร้อนเดือนเม.ย.ซึ่งมีวันหยุดยาวแต่ภาพรวมการท่องเที่ยวเชียงใหม่จำนวนนักท่องเที่ยวปี 64 จะมากกว่าปี 63 และจะดีขึ้นในปี 65”ผอ.อาวุโส ธปท.สำนักงานภาคเหนือกล่าวและว่า
ภาคบริการจะไม่ผงกหัวเร็วเท่าการอุปโภค บริโภค เพราะมีการติดต่อทางกายภาพ ดังนั้นเมื่อยังมีโควิดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนภาคยานยนต์ก็เป็นแนวเดียวกับประเทศ ซึ่งจะทำได้ดี ประกอบกับภาคเกษตรมีรายได้ดีก็จะเป็นแรงหนุน แต่สิ่งที่จะชี้ชัดว่าการบริโภคไม่ค่อยดีคือกลุ่มสินค้าคงทน เช่น เพชร พลอย อัญมณี ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของประชาชนว่ายังไม่เต็มที่
ในไตรมาสถัดไปยังเป็นสิ่งท้าทาย มีการเลิกจ้างงานและกลุ่มที่จ้างงานบางส่วนโอทีลดหรือหายไป บางส่วนได้รับค่าตอบแทนเพียงบางส่วนจึงเป็นแรงกดดันภาคครัวเรือนและภาคบริโภค โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะกลุ่ม Non-Bank ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยตึงและเริ่มกู้หนี้ ทำให้หน่วงการบริโภคในไตรมาสถัดไป
อย่างไรก็ตามภาครัฐก็มีมาตรการทางการคลัง เราชนะและม.33 มาตรการแรงงานที่ลดเงินสมทบ มาตรการสินเชื่อที่ประนอมและยืดการชำระหนี้ทำให้ผู้บริโภคสามารถเก็บไว้และเกิดสภาพคล่องบ้าง ทั้งนี้จะพบว่าภาคเกษตรบวก จากราคาผลผลิตที่ดีทั้งข้าวเปลือกและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีเงินเข้ามาเยอะ แต่ที่สะดุดคืออ้อยแม้ราคาดีแต่ฝนน้อยทำให้ผลผลิตตึง
สำหรับไตรมาสถัดไป ก่อนถึงฤดูฝนการเกษตรพึ่งพาน้ำในเขื่อนหรือระบบชลประทานแต่ยังพบว่าน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ผลผลิตบางอย่างที่พึ่งพาการใช้น้ำมากเช่นข้าวนาปรัง อ้อยอาจจะไม่มีผลผลิตได้เต็มที่ มันสำปะหลังอาจไปได้อยู่ แต่ก็จะมีมาตรการภาครัฐทั้งประกันรายได้มาช่วยครอบครัวเกษตรกร
ภาคอุตสาหกรรมหดตัวชั่วคราว ในส่วนของภาคอิเลคทรอนิกส์เริ่มผงกหัวและน่าจะดีต่อไป แต่กลุ่มที่จะสะดุดคือหมวดอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลซึ่งขาดวัตถุดิบ และเครื่องดื่ม ซึ่งปีที่แล้วการเลี้ยงสังสรรค์ไม่มีจึงทำให้สะดุด ส่วนภาคการส่งออกบางเชคเม้นท์ดี สิ่งที่คาดว่าจะกลับมาดี คือ เครื่องดื่ม ถั่วแระและข้าวโพดหวานการลงทุนภาคเอกชนเริ่มอยู่ในแดนบวก ภาคการผลิตเริ่มโต ซึ่งการลงทุนมาจากภาคก่อสร้างซึ่งมาจากธนาคารของรัฐที่มีโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้ต่ำทำให้ดันยอดซื้อบ้านดีขึ้น
ไตรมาส 1 ของปี 64มาตรการสนับสนุนภาครัฐหมดเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ทำให้มีผลสืบเนื่องมาถึงปีนี้โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตก่อสร้าง อย่างไรก็ตามตัวที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจได้ดีคือการเบิกจ่ายภาครัฐ ส่วนการลงทุนก็มีโครงการขนาดใหญ่ในภาคเหนือที่กำลังดำเนินการอยู่เช่น อุโมงค์ส่งน้ำ สำหรับปัญหาเงินเฟ้อยังอยู่ระดับต่ำ สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์หดตัว แต่สินเชื่อภาครัฐยังดี สินเชื่อเพื่อการผลิตหดตัว
ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ธปท.จะยืดอายุการปรับโครงสร้างหนี้ออกไปจากเดิม สำหรับลูกหนี้ธุรกิจแบงก์ชาติได้กำชับธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยกำหนดขั้นต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญเช่นบ้านกับรถที่ให้เอื้ออำนวยแก่ลูกหนี้มากขึ้น ส่วนลูกหนี้ที่หลุดเป็น NPL ไปแล้วก็สามารถเข้าไปเจรจาในคลีนิกลูกหนี้ได้ โดยขอให้ติดต่อธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก
“แบงก์ชาติมีมาตรการใหม่ออกมาซึ่งจะเปิดตัว 10 ก.พ.นี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL แล้ว ซึ่งเดิมจะอยู่ในกระบวนศาลและเมื่อประนอมหนี้จะมีเสียเปรียบ แต่จะมีช่องทางไกล่เกลี่ยออนไลน์ขึ้นมาเพื่อช่วยลดภาระหนี้ที่ค้างอยู่ในศาลที่มีอยู่จำนวนมาก โดยเริ่มโครงการ 14 ก.พ.นี้และปิดโครงการในวันสงกรานต์หรือกลางเดือนเม.ย.นี้”นายธาริฑธิ์กล่าวและย้ำด้วยว่า
เนื่องจากปัจจุบันมีกลโกงออกมามาก โดยเฉพาะกู้เงินผ่านแอพพลิเคชั่น จึงขอเตือนประชาชนที่จะใช้ช่องทางนี้ ซึ่งจะถูกหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวและถูกนำไปใช้ในทางผิด หรือถูกหลอกให้โอนเงินประกันต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังและให้เช็คที่เวบไซต์จากแบงก์ชาติที่มี Lisen check ให้
สำหรับสถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคเหนือ ในระยะสั้นคือการปิดด่านที่สะดุดเพียงวันแรก ตอนนี้ก็เปิดปกติ ส่วนระบบการชำระเงินในวันแรกอาจมีปัญหาแต่ขณะนี้แก้ไขปัญหาได้หมดแล้ว ส่วนผลกระทบระยะยาวการค้า การลงทุนจะมีปัญหา 20% ของการส่งออกในภาคเหนือ ถ้าการปฏิวัติจะนำไปสู่กำลังซื้อของเมียนมาลดลง แต่สินค้าไทยที่ส่งไปเมียนมาเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่แล้วไม่น่าจะเป็นปัญหา ส่วนการลงทุนที่ทวายภาครัฐอาจจะมีการประสานกันต่อไป
นายธาริฑธิ์ ยังได้ชี้แจงในช่วงถามตอบด้วยว่า สำหรับหนี้ครัวเรือนที่เห็นชัดคือ อัตราสินเชื่อค่อนข้างสูงถึง 10% ขณะที่แบงก์พาณิชย์โตเพียง 3% ส่วน NPL ทรงตัวอยู่ที่ 3% ซึ่งมีการปรับโครงสร้างหนี้มาช่วยเพื่อพยุง NPL ไม่สูง ซึ่งพึ่งพา Non-Bank ถึง 80% เนื่องจากประชาชนขาดรายได้จากผลระบาดโควิดฯ แต่หากมีรายได้เข้ามาการพึ่งพิงสินเชื่อต่างๆ จะลดลง สำหรับการเลิกจ้างพบว่าการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตน่าจะดีขึ้นตามอุปสงค์ของโลก แต่การจ้างงานในภาคท่องเที่ยวจากการออกพบผู้ประกอบการพบว่าส่วนใหญ่ยังเลี้ยงการจ้างงานหรือยืดระยะการจ้างงานได้อยู่ หากยังสามารถยืดถึงไตรมาส 2 ของปี 64 จะไม่น่าเป็นห่วง แต่อาจจะมีบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างแต่ก็ยังสามารถเปลี่ยนไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ยังขาดแรงงานได้อยู่ ซึ่งก็ต้องรอดูสถานการณ์ถึงเดือนเม.ย. หากเศรษฐกิจหมุนมากขึ้นการจ้างงานก็จะดีขึ้น.