นายดุลย์ฤทธิ์ ฤทัยวรุณรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 1 กล่าวถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าว่า การลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยชิงเผา ในทางป่าไม้ถือเป็นการจัดการป่าตามนิเวศ ซึ่งการชิงเผาป่าเต็งรังอย่างถูกวิธีจะเกิดผลดีกับระบบนิเวศป่า และด้วยนโยบายของ จ.เชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ ก็มีแนวทางจัดการลดปริมาณเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟป่า โดยใช้ไฟอ่อนๆ เข้าไป ก็จะช่วยลดปริมาณเชิื้อเพลิง และลดหมอดควันได้
เนื่องจากป่าเต็งรังเป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน มีอาหารป่าหลายชนิดเกิดขึ้นในป่าชนิดนี้ เช่น เห็ด ไข่มดแดง การเฝ้าระวังจึงยาก อาจมีชาวบ้านแอบเผา การชิงเผาแล้วสร้างความร่วมมือในการเฝ้าระวังระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า แตกต่างจากป่าต้นน้ำลำธารที่ต้องระวังไม่ให้ไฟเขั้าตลอดทั้งปี ถือว่าการจัดการแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านรูปแบบ และบริบทของชาวบ้าน
ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าภาคเหนือที่ 1 กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่านั้น เป็นธรรมดาที่บางครั้งอาจไม่เข้าใจกัน ภาครัฐเองมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ และความขาดแคลนด้านอื่นๆ แต่ด้วยนโยบายประชารัฐที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้รูปแบบการทำงานต่างจากอดีต ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือกันมากขึ้น พี่น้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยทุ่มเททำงานด้วยจิตอาสา ขณะที่คนในเมือง คนกรุงเทพฯ ภาคธุรกิจ เอกชน ก็ล้วนมีส่วนได้ใช้น้ำ ใช้อากาศ จึงควรเป็นกองหนุน เติมน้ำใจให้กันอย่างสม่ำเสมอ.