ประชุมกรอ.จังหวัดเห็นชอบตั้งคณะทำงาน 8 ฝ่ายขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี พร้อมรับทราบมติกรอ.กลุ่มจังหวัดฯเห็นชอบดันโครงการสร้างสนามบินฯแห่งที่ 2 และเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ/มอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ผู้ว่าฯมึนแชร์เลือกดอยหล่อสร้างสนามบินใหม่ เผยกรมการบินพลเรือนจ้างม.เกษตรฯศึกษา คาดเปิดเผยปลายเดือนพ.ย.นี้
เมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4/2560 โดยกล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดแผนในการประชุมกรอ.จังหวัดเป็นประจำทุก 2 เดือน โดยครั้งนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับภาคเอกชน-ภาคการศึกษา เพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการทำแผนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่
ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มติที่ประชุมกรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ครั้งที่ 3/2560 เมื่อ 31 พ.ค.2560 จังหวัดเชียงใหม่ได้นำเสนอโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการกรอ.จังหวัดครั้งก่อน 3 โครงการคือ โครงการสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 การเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ และโครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย ซึ่งได้นำเสนอประเด็นนี้ในการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและคณะกรรมการกรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว
“นายจิน ลี่ฉวิน ประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)ได้มาหารือกับทางจังหวัดและก็อยากให้จังหวัดเชียงใหม่ผลักดันโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 กับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเห็นว่าในส่วนของโครงการก่อสร้างสนามบินฯแห่งที่ 2 รัฐบาลควรจะลงทุน ส่วนระบบขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น เมืองหรือจังหวัดควรจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งทางนักวิเคราะห์เองก็ถามเหมือนกันว่าแล้วใครจะลงทุนในส่วนของขนส่งมวลชนสาธารณะ”นายปวิณ กล่าวและว่า
ในขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลกันว่าจะมีการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ที่อ.ดอยหล่อ ซึ่งก็แปลกใจเรื่องที่มาที่ไป เพราะจริงๆ แล้วทางบริษัทท่าอากาศยานไทยหรือทอท.จะมีการปรับปรุงและขยายสนามบินฯเดิม ซึ่งอยู่ในช่วงทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเสร็จในปี 2562 และหาก EIA ผ่านก็จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงตามแผนแม่บทของท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งจะรองรับได้ถึง 20 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามในการประชุมจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนารัฐวิสาหกิจในระยะ 20 ปี ทางกรมการบินพลเรือน แจ้งว่าได้มีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษาแผนการรองรับการเดินทางผ่านอากาศยาน ซึ่งมีความเห็นว่ามี 2 จังหวัดที่ควรจะมีสนามบินแห่งที่ 2 ขึ้นมาคือจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่ และในการศึกษาที่ผ่านมามีอยู่ 3 จุดคือที่อ.บ้านธิ-สันกำแพง,อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางที่เอกชนเสนอและที่ อ.ดอยหล่อ ซึ่งมีที่ดินราชพัสดุ โดยคาดว่าประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการแถลงข่าวรายละเอียดผลการศึกษาอีกครั้ง แต่มีการแชร์ข้อมูลกันไปว่าตอนนี้จะสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่ดอยหล่อซึ่งก็งงเหมือนกัน
ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในเรื่องของการผลักดันการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ก็เป็นมติของกรอ.กลุ่มจังหวัดที่จะผลักดันต่อไปเพราะสนามบินปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีความหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ และขณะนี้ก็มีสายการบินที่จะบินตรงเข้ามาเพิ่มอีก โดยจุดที่อ.ดอยหล่อก็ต้องยอมรับว่ามีการปั่นกระแสเกิดขึ้น แต่จุดเด่นของที่นี่คือที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุและราคาที่ดินยังไม่แพงมาก หากเทียบกับที่บ้านธิ สันกำแพงซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเอกชน แม้ในการศึกษาของกรมการบินพาณิชย์จะว่าเหมาะสมในลักษณะภูมิประเทศ การขึ้นลงของอากาศยานและระยะทาง แต่หากจะก่อสร้างจริงต้องเวนคืนที่ดินและราคาที่ดินค่อนข้างสูงมาก แต่ที่ดอยหล่ออาจจะมีปัญหาเรื่องมุมร่อนลงของเครื่องบิน ทั้งนี้อยากให้มีการศึกษาให้ชัดเจนไปเลย
ในที่ประชุมกรอ.จังหวัดฯ ผวจ.เชียงใหม่ยังได้ชี้แจงถึงเรื่องการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีการก่อสร้างโรงแรมใหม่ หรือปรับปรุงอาคารเก่ามาเป็นโรงแรม ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบให้ถูกต้องแต่หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ ทางจังหวัดได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะให้คำปรึกษา แนะนำให้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่หัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคือภาคการท่องเที่ยว สิ่งไหนที่จะให้ภาคท่องเที่ยวขับเคลื่อนไปได้ดีก็พร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งในวันที่ 5-6 กันยายนนี้ทางสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ก็จะเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือร่วมกันสิ่งไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวบ้าง เพื่อที่จะได้เดินไปด้วยกันทุกฝ่าย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบเกี่ยวกับแผนแม่บทพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ระยะ 20 ปี ซึ่งกรอ.และสถาบันการศึกษาได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บท ฉบับภาคเอกชน-ภาคการศึกษา ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 8 ฝ่ายที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยวและบริการ , วัฒนธรรมและสังคม , เกษตรยั่งยืน , อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน , พัฒนาเมือง , ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยจะผลักดันให้เกิดการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน จนนำไปสู่การพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำร่างแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 20 ปี ขั้นต้น โดยมุ่งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตมากที่สุด โดยคาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จะสามารถลงนามความร่วมมือกันได้.