ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ เผยมีการเพิ่มเตียงทำให้สามารถรับผู้ป่วยสีแดง จำนวน 100 เตียง สีเหลือง จำนวน 729 เตียง สีเขียวในโรงพยาบาล จำนวน 889 เตียง และได้จัดตั้ง Community Isolation (CI)จำนวน 2,849 เตียง คาดเชียงใหม่จะคุมสถานการณ์และเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในเดือนนี้
วันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุมอาคารอำนวยการผู้ป่วยนอกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น 7 โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมด้วย นพ.ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขนิเทศก์ (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ ๑) , นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ , นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการทำงานโดยมีนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตัวแทนผู้บริหารโรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ ตัวแทนผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนศูนย์วิชาการทุกกรม ในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (Operations) จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่
นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอสถานการณ์โควิด-19 ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 268 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด 5 ราย ผู้ติดเชื้อในจังหวัด 263 ราย จากคลัสเตอร์ต่าง ๆ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ใหม่ และคลัสเตอร์ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง จำนวน 35 ราย ส่วนคลัสเตอร์เดิมที่ยังพบผุ้ติดเชื่อเพิ่มขึ้น จำนวน 80 ราย ซึ่งพบระหว่างการกักตัวหรือติดตาม นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อในครอบครัวและสัมผัสผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า รวมจำนวน 106 ราย ซึ่งพบการระบาดในหลายครอบครัว กระจายหลายอำเภอ และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคอีก 42 ราย
ทั้งนี้ จากการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในครอบครัว และชุมชนแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดในขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยรถตรวจชีวนิรภัยพระราชทาน เพิ่มอีก 2 จุด คือ ที่สำนักงานเทศบาลแขวงศรีวิชัย แจ่งหัวลิน และศูนย์วัณโรคเชียงใหม่ ตรงข้ามร้านสุริวงค์บุ๊คเซ็นเตอร์ และได้วางแผนการตรวจ ATK และฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ครอบคลุม 4 มุมเมืองของเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 4 พฤศจิกายน เป็นต้นไป เพื่อเร่งคืนความปลอดภัยให้กับชาวเชียงใหม่
สำหรับแผนการดำเนินงานการฉีดวัคซีนจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เปิดศูนย์ฉีดวัคซีน 4 ศูนย์ และศูนย์ฉีดของโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลอื่นๆ ฉีดได้ 46,000 โดส/วัน รวมทั้งยังมีการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถเดินทางไปรับบริการตามศูนย์ฉีดได้ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ครบ 100% ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้
นพ.ศิริพจน์ ศรีบัณฑิตกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ นำเสนอการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการขยายเตียงเพื่อให้เพียงพอในการรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ ซึ่งขณะนี้ได้เพิ่มเตียงทำให้สามารถรับผู้ป่วยสีแดง จำนวน 100 เตียง สีเหลือง จำนวน 729 เตียง สีเขียวในโรงพยาบาล จำนวน 889 เตียง และได้จัดตั้ง Community Isolation (CI)จำนวน 2,849 เตียง ทั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลอื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 1 ในการช่วยรับผู้ป่วยสีแดง กรณีที่เตียงสีแดงในจังหวัดเชียงใหม่ไม่เพียงพอ อีกด้วย
ทางด้าน นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงาน คาดว่า จังหวัดเชียงใหม่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จและเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้