ผู้ค้ารายย่อยไม่หวั่นรัฐใช้ม.44 คุมขายหวยเกินราคา ระบุแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แนะให้กองสลากฯเปิดให้รับตรงโดยไม่ผ่านยี่ปั้ว ด้านผวจ.เชียงใหม่รับควบคุมยาก แจงโควต้าผู้ค้าเชียงใหม่ 888 รายล้วนเป็นรายย่อยไม่มีมาเฟีย

ผู้ค้ารายย่อยไม่หวั่นรัฐใช้ม.44 คุมขายหวยเกินราคา ระบุแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แนะให้กองสลากฯเปิดให้รับตรงโดยไม่ผ่านยี่ปั้ว ด้านผวจ.เชียงใหม่รับควบคุมยาก แจงโควต้าผู้ค้าเชียงใหม่ 888 รายล้วนเป็นรายย่อยไม่มีมาเฟีย

- in headline, จับกระแสสังคม

 

 

จากกรณีที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยจะให้มีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท ในระหว่างรอการออกพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องดำเนินการออกผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งต้องมีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา โดยในส่วนของผู้ค้านั้นให้รับสลากได้ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนต่างจังหวัดให้รับที่ศาลากลางจังหวัดนั้นๆ

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งได้มา 6,027 เล่ม ได้มีการจัดสรรให้กับผู้ค้ารายย่อย 840 ราย และกองสลากฯเพิ่มมาอีก 48 ราย ที่เดิมเป็นคนเชียงใหม่ได้โควตาที่ส่วนกลาง ซึ่งทำให้เสียเวลา ทางกองสลากฯเมื่อตรวจสอบเสร็จก็โอนกลับมาให้จังหวัดเชียงใหม่และรวมยอดทั้งหมดได้โควตา 888 ราย จำนวน 6,315 เล่มๆ ละ 100 ฉบับ

“สำหรับผู้ค้าที่ได้รับโควตาจะมีการขึ้นบัญชีเพื่อขอจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยขึ้นบัญชีไว้ หากคนเดิมไม่ต่อสัญญาหรือเสียชีวิตก็จะเอาโควต้าคืนและทำเรื่องแจ้งกองสลากฯว่าจะนำโควต้าให้กับผู้ที่ขึ้นบัญชีรอไว้แทนผู้ที่ไม่มาเซ็นสัญญา โดยเน้นคนพิการและยากจนเป็นหลัก ซึ่งโควตาและหลักการทำไว้นานแล้ว สมัยหนึ่งเคยให้มาขึ้นบัญชีเป็นพันกว่าคน และตรวจสอบแล้วว่าเป็นคนยากจนจริง การจัดสรรก็ใช้วิธีจับสลากและให้โควตาไป คนที่ไม่ได้ก็ขึ้นบัญชีรอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยส่วนใหญ่คนละ 10 เล่มจนถึง 16 เล่ม มากที่สุด 20 กว่าเล่มและบางทีก็มีที่นามสกุลเดียวกัน แต่ก็เป็นสิทธิของเขา ”ผวจ.เชียงใหม่

ตอนอยู่ตากเคยตรวจสอบว่าบางรายได้โควตา 30-40 ปี ซึ่งมีช่วงที่มีข่าวว่าหวยล๊อค และล็อตเตอรี่ขายไม่ออกก็มีกลุ่มนี้ยอมรับเอาโควตานี้ไปขายและยอมขาดทุน แต่เมื่อตอนขายดีจะมายึดคืนก็ไม่ยุติธรรมอีก เพียงแต่เวลาต่อสัญญาหรือเสียชีวิตก็ต้องชี้แจงว่าไม่สามารถให้ทายาทสืบทอดได้ ก็เอาโควตาคืนมาให้คนพิการและคนยากจนที่ขึ้นบัญชีไว้

สัญญาการรับสลากฯไปจำหน่ายจะมีอายุประมาณ 2 ปี และการเลือกผู้ค้าฯทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีระเบียบกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีการตรวจสอบด้วย ตอนนี้มีผู้ขึ้นบัญชีสำรองของกองสลากฯ ทั่วประเทศไว้ มีอยู่ 402,581 ราย ประเภทบุคคลทั่วไปและบุคคลพิการ นิติบุคคล 17,924 ราย และสุ่มจับสำรองไว้เป็นรายจังหวัดแล้ว ซึ่งบัญชีรายชื่อผู้ค้าสำรองจะอยู่ที่กองสลากฯแล้ว

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ขายในราคา 80 บาทนั้นจะมีขายอยู่ที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ทุกงวดจำนวน 100 เล่ม แต่การขายสลากฯเกินราคาอาจจะไม่ใช่สินค้าควบคุมราคาและเป็นความพึงพอใจของผู้ซื้อด้วยส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่ทำให้คนขายเกินราคาคือการนำไปจัดชุด ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะทำได้ และจังหวัดเองก็พยายามควบคุมซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนหลายมิติ เพราะมีการนำโควตาที่ได้ไปขายต่ออีก เมื่อผู้ขายรายย่อยที่รับต่อจากคนอื่นก็ย่อมขายให้เกินราคาที่รับซื้อ นอกจากนี้ยังมีพวกเลขเก็ง เลขดังที่มักจะขายเกินราคาซึ่งก็มีผู้ที่พอใจจะซื้ออีก

“การควบคุมราคานี้ ยอมรับว่าสามารถควบคุมได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ทั้งนี้ต้องดูมาตรการที่จะออกมาซึ่งทางกองสลากฯได้เชิญผู้ว่าฯและเสมียนตราทั่วประเทศไปประชุมแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการรวมชุดนั้นจะทำอย่างไรที่จะลดราคาลง และเรื่องที่จะควบคุมไม่ให้ผู้ค้าขายเกินราคาทางจังหวัดก็ประกาศชัดเจนแล้วว่าหากพบก็จะตัดโควตา แต่ก็ยังมีอยู่ที่คนที่ได้โควตาแล้วเอาไปขายต่อ ซึ่งเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อนก็ต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไปและคืนความเป็นธรรมให้สู่สังคม คืนความถูกต้องแต่กระบวนการก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป มีเหตุผลและมีหลักการด้วย”นายสุริยะ กล่าวชี้แจง

นางศิริกัญญา ดวงจันทร์ตุ้ย ชาวอำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นผู้ค้าสลากฯหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สลากที่นำมาขายนี้จะซื้อต่อจากคนที่มีโควตาที่หน้ากองสลากฯที่กรุงเทพฯอีกที เพราะตนไม่ได้โควต้าและราคาที่ซื้อจากคนที่ได้โควต้าก็ไม่แน่นอน งวดที่จะออกวันที่ 16 พ.ค.2558 นี้ตนซื้อมาฉบับละ 83 บาท แต่บางเลขที่เป็นเลขที่ออก 2 ตัวงวดก่อนก็จะนำมาขายเป็นฉบับละ 80 บาท ซึ่งก็ยอมขาดทุน แต่ก็ไปเฉลี่ยเอาจากเลขอื่นแทนไม่เช่นนั้นจะขายไม่หมด

“เวลาขายจริงๆ ส่วนมากก็จะขายใบละ 100-110 บาท เพราะเวลาซื้อต่อมาก็ค่อนข้างแพง แต่ก็ยอมรับว่าตอนนี้ราคาถูกลงกว่าเมื่อก่อนมาก เคยซื้อมาขายต่อใบละ 100 บาทแล้วพอเอามาขาย 110 บาทก็ได้กำไรแค่ใบละ 10 บาทแต่ต้องใช้เวลานานกว่าจะขายหมด ส่วนมากผู้ที่ได้โควต้าจากกองสลากฯมักจะไม่ขายเองแต่เมื่อเบิกสลากฯแล้วก็จะเร่ขายที่ด้านหน้ากองสลากฯเลย เพราะพวกมีโควตาจะขายไม่เป็น แต่คนที่ขายๆ กันทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่มีโควตาไปซื้อต่อมาขายอีกทอด สองทอด”ผู้ค้ารายย่อยรายนี้กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยถ้าจะใช้มาตรา 44 มาควบคุมการขายสลากฯไม่ให้เกิน 80 บาท เพราะมันเป็นไปไม่ได้เนื่องจากผู้ค้าทั่วไปรับซื้อสลากจากพวกที่มีโควต้ามาสูงแล้วคือเกิน 80 บาทอยู่แล้วจะให้ขายที่ 80 บาทเป็นไปไม่ได้ รัฐต้องไปจัดการปัญหาที่ต้นทาง รัฐต้องแก้ปัญหาให้ผู้ค้าเร่หรือไปแก้ที่ต้นทางโดยให้ผู้ขายจริงไปรับสลากฯมาจำหน่ายได้เองโดยยกเลิกโควต้าเดิมที่ไม่ได้ขายเอง เพราะพวกที่ได้โควตาและขายจริงก็มี และที่เอามาขายต่อก็มีเยอะ ส่วนใหญ่จะขายเกินราคา 80 บาทหมด

นางศิริกัญญา  กล่าวอีกว่า รัฐต้องกล้ารื้อระบบเดิม ถ้าคิดจะแก้ปัญหาเรื่องการขายเกินราคา แต่โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะแก้ไขได้ และหากจะจับก็ยอมแม้จะกลัว แต่ถ้าใช้ม.44 จริงผู้ที่ได้โควตาก็อาจจะขายต่อในราคาถูกลงอย่างที่มีการพูดกันว่าอาจจะเหลือ 70 กว่าบาท และเอามาขายต่อ 80 บาทก็จะเหลือกำไรนิดเดียว

ด้านนายพิชัย ประสายกา พ่อค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่อีกราย กล่าวว่า ราคาหวยจะขายที่เท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับต้นทุนที่ได้มาจากยี่ปั้วว่ามีราคาเท่าไหร่มากกว่า ถ้าต้นทุนรับมาแพง ก็ต้องขายแพงตามไปด้วย เพราะตอนนี้สภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น  ราคาน้ำมันแพง ค่าเล่าเรียนลูกก็แพงขึ้น  อย่างน้อยก็ขอให้ได้กำไรใบละ 10 บาท พ่อค้าเร่อย่างเราก็ยังพออยู่ได้ แต่ตอนนี้ได้แค่เท่าต้นทุนเท่านั้น

นายพิชัย บอกว่า ปัจจุบันนี้ โควต้าส่วนกลางก็อยู่ที่ราคา 70 กว่าบาทเหมือนกันทั่วประเทศ แต่ผู้ค้ารายย่อยที่ไปเอากับยี่ปั้ว อาจมีบวกเพิ่มอีก 2-3 บาท อย่างเมื่อวานไปจังหวัดเลย ที่วังสะพุง ส่งมาใบละร้อย เป็นหวยชุด หรือ ร้านยุพินที่สถานีขนส่งอาเขตเชียงใหม่ ก็ขายที่ 90 บาทแล้ว ยังไม่รู้จะขายอย่างไรกับราคาที่รัฐบาลกำหนด  80 บาท  ซึ่งคิดว่าพวกที่เดือดร้อนกับมาตรการนี้ คือพวกผู้ที่ได้โควต้าสลากหรือผู้ค้ารายใหญ่มากกว่า  สำหรับผู้ค้ารายย่อยแล้ว จะไม่ค่อยมีปัญหา อยู่ที่ว่าต้นทุนที่รับมานั้นอยู่ที่ราคาเท่าไร่มากกว่า ถ้าลดต้นทุนลงมาก็ขายได้ ถ้าไม่เอากับยี่ปั้ว ผู้ค้ารายย่อยก็ไม่มีเงินสดไปซื้อกับรายใหญ่ ความจริงแล้วถ้าตั้งราคาขายสลากที่ 100 บาท ก็เป็นราคาที่ผู้ซื้อรับได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร

นาง เสน่ห์ สงคราม แม่ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล  กล่าวว่า ราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละที่ขายไม่เท่ากัน อย่างเช่น  สหกรณ์ขาย ที่ราคา 80 – 82 บาท แต่ร้านขายส่ง(ยี่ปั้ว)ขายที่ราคา 85  บาท ถ้าซื้อมา 85 แล้วเอามาขาย  80 บาท ก็คงอยู่ไม่ได้ เมื่อได้สลากมาแล้ว ทางกลุ่มผู้ค้าก็ต้องนำมาสลากแบ่งกันขาย  เมื่ออยู่เป็นกลุ่มก็ต้องแบ่งกันเพราะอยู่ในสมาคมหรือสหกรณ์กลุ่มเดียวกัน

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศไม่ให้ขายหวยเกินราคา 80 บาท เป็นเรื่องที่กะทันหันเกินไป  ผู้ขายสลากรายย่อยก็ไม่รู้จะทำอย่างไร  กลัวกฎหมายก็กลัว แต่ในเมื่อรับสลากต้นทุน 80 บาทแล้ว จะให้ขายราคาเดิม คนขายก็คงอยู่ไม่ได้ ผู้ที่ได้โควตาไปรับมาจากกรุงเทพ ก็ต้องมีการบวกราคานิดหน่อยแล้ว  อย่างงวดที่แล้วรับมาที่ 99.50 บาท เป็นหวยชุด ตกอยู่ที่ใบละ 93 ,92, 91 บาท  ถ้าหวยเดี่ยวของงวดที่แล้ว อยู่ที่  99.50  บางที่ก็ขาย 100 บาท  เต็ม100 ใบก็ตกหมื่นบาท มีบางงวดเคยมีราคาเกินถึงหมื่นกว่าบาท คือ ขายใบละ 103 บาท แต่ละที่จะมีราคาไม่เหมือนกัน  ถ้าใกล้วันหวยออก ผู้ขายขายไม่หมดก็ต้องยอมขายเท่าทุน เข้าเนื้อตัวเอง สำหรับตัวเองปกติแล้ว อย่างน้อยจะขายได้กำไรส่วนต่าง ประมาณ 5 – 7.50 บาท แต่ถ้าได้ 10 บาท ก็ถือว่าพอใจแล้ว

ด้านผู้ขายสลากร้านยุพิน ซึ่งเป็นร้านจำหน่วยสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่หน้าสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 (อาเขต) กล่าวว่า ราคาของสลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาขายที่ 80 บาท มานานหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก  ร้านใหญ่ต้องมีการจ้างลูกน้องหลายคน และต้องมาจ่ายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300  บาท ก็ยิ่งทำให้คนขายอยู่ลำบากมากขึ้น การขายหวยเกินราคาปัญหาอยู่ที่คนที่ไม่มีโควตา จะทำอย่างไร สำหรับผู้ค้ารายใหญ่ก็พออยู่ได้ แต่ผู้ค้ารายเล็ก รายย่อย คงอยู่ไม่ได้แน่ๆ  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ค้ารับมา 500 ใบ ต้นทุนอยู่ที่ 74.40 บาท ราคาขาย 80 บาท ส่วนต่างอยู่ที่ 5.60 บาท ขาย 500 ใบ เท่ากับได้กำไร 2,800 บาท อย่างตอนนี้ ได้ส่วนต่างที่ 5 บาท แทบอยู่ไม่ได้แล้ว และโดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าให้ขายแบบอยู่ได้ ควรมีส่วนต่างสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าผู้ค้าอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเลิกขายไปก่อน

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกกฎมา คิดว่าสามารถแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาได้แน่นอน แต่ในระยะยาวยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร   ความจริงอยากให้เป็นการพบกันครึ่งทาง  และควรจะมีการสอบถามความเห็นจากผู้ค้าก่อน ที่สำคัญคืออยากให้รัฐบาลไปแก้ปัญหาที่ต้นทางมากกว่า.

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้