เชียงใหม่ / นักศึกษา นักวิชาการ ครึ่งร้อยจุดประทีป พร้อมวางช่อดอกไม้ ไว้อาลัยผู้พิพากษา “คณากร เพียรชนะ” หน้าตึกคณะนิติศาสตร์ มช. ขณะที่อดีตรอง หน.พรรคอนาคตใหม่ ย้ำถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก่อนสังคมจะสูญเสียคนดีไปมากกว่านี้เมื่อ 18.15 น. วันที่ 8 มี.ค.63 ที่บันไดทางขึ้นอาคาร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป จำนวน 50 คน ได้ร่วมกันแสดงความไว้อาลัยนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ช่วยงานชั่วคราวที่กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปลิดชีพตัวเองเมื่อวันที่ 7 มี.ค.63 ที่ผ่านมา
กิจกรรมเริ่มด้วยการจุดประทีปที่วางเป็นรูปตราชูเอนไปข้างหนึ่ง โดยมีรูปของนายคณากร วางไว้ข้างๆ ตราชู จากนั้นนายนพดล พอใจ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นตัวแทนผู้ร่วมกิจกรรมอ่านจดหมายอำลาของผู้พิพากษา ต่อด้วยบทร้อยแก้วแสดงความอาลัย ก่อนที่จะร้องเพลง “เพื่อมวลชน” ร่วมกัน แล้วเปิดให้ผู้ร่วมกิจกรรม ได้กล่าวคำไว้อาลัย ซึ่งมีผู้ออกมากล่าว 3-4 คน ส่วนใหญ่พูดถึงความอยุติธรรม และการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย ทำให้ต้องสูญเสียผู้พิพากษาคณากรไป ในช่วงสุดท้าย มีการยืนไว้อาลัย และวางช่อดอกไม้บริเวณประทีปรูปตราชู ก่อนจะแยกย้ายกัน
นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า ไม่ทราบใครเป็นคนต้นคิดจัดกิจกรรม แต่เห็นจากเฟส ไทม์ไลน์ จึงคิดว่าน่าจะมีส่วนร่วมในการแสดงออก เพราะสังคมไทยได้สูญเสียคนดี มีอุดมการณ์มากเกินไปแล้ว นับตั้งแต่สืบ นาคะเสถียร, นวมทอง ไพรวัลย์ ล่าสุดก็ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ซึ่งจริงๆ ก็มีสัญญาณอยู่แล้ว ตั้งแต่พยายามทำอัตวินิบาตกรรมครั้งที่แล้ว และหลายคนก็มองว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งในข่าวก็บอกว่าเคยตรวจถึง 2 ครั้งไม่ได้เป็น แสดงว่ามีความตั้งใจอย่างแรงกล้า
“ความตายมันอยู่ที่การมอง สำหรับผม คิดว่าการตัดสินใจจบชีวิตลง เป็นการตัดสินใจที่ยากและลำบาก และต้องเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ สังคมไทยจะต้องเรียนรู้ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด นั่นคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ตุลาการ อัยการ ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานปกครอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหลาย ควรต้องปฏิรูปแล้ว ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ คนทำผิดเห็นชัดๆ ไม่ถูกลงโทษ คนผิดเล็กๆ น้อยๆ ถูกลงโทษ
กระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง ซึ่งสังคมไทย โดยส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าสามารถถูกแทรกแซงได้ แต่จริงเท็จแค่ไหนไม่มีใครรู้ หากถึงขนาดผู้พิพากษาลงทุนทำลายชีวิตตัวเอง แสดงว่าทนเห็นไม่ได้แล้ว ดังนั้นต้องรื้อฟื้นขึ้นมาโดยองค์กรที่เป็นอิสระในการตรวจสอบ ความจริงที่ท่านออกมาเผยแพร่ มันจริงเท็จแค่ไหน อย่างไร อย่าไปซุกไว้ใต้พรม มิฉะนั้นสังคมจะไม่ได้อะไรเลย และถ้าคนคิดว่าศาลไม่ใช่ที่พึ่งสุดท้าย สังคมไทยก็คงจะพังทลาย” นายชำนาญ กล่าว.