ธ.ก.ส.แจงผลดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยพร้อมหนุนอาชีพสร้างรายได้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

ธ.ก.ส.แจงผลดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยพร้อมหนุนอาชีพสร้างรายได้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

ธ.ก.ส.แจงผลการดำเนินงานตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย( 3 มาตรการ 9 โครงการ) พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ให้กับชุมชน และพร้อมหนุนการให้สินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อดึงอุปทานข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกัน

วันนี้(4กรกฎาคม2561) นายพงษ์เทพ รัตนธาดากุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.  เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงการคลัง ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ ซึ่งการดำเนินงานของธ.ก.ส. มีบทบาทช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มเกษตรกร ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งด้านการพัฒนาตนเอง ในการให้ความรู้ทางการเงิน และส่งเสริมการออม มาตรการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อแก่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร เพื่อจ้างงานผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชน รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายใน การพัฒนาอาชีพ และมาตรการลดภาระหนี้สินในระบบและนอกระบบ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน เป็นต้น

สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนแสดงความประสงค์เข้าร่วมพัฒนาคุณชีวิตในภาพรวมทั้งประเทศ 4,086,035  ราย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เกษตรกรที่เข้าร่วมพัฒนาอาชีพกับหน่วยงานราชการ จำนวน 2,862,770 ราย และเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตกับ ธ.ก.ส. จำนวน 1,223,265 ราย แยกเป็นโครงการให้ความรู้แก่เกษตรกรลูกค้า จำนวน 949,193 ราย โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 107,088 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพ จำนวน 82,097 ราย โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จำนวน 47,699 ราย โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ จำนวน 21,602 รายและโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิต(XYZ) จำนวน 15,586 ราย ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 27,578 ราย แยกเป็นโครงการให้ความรู้แก่เกษตรกรลูกค้า จำนวน 21,869 ราย โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 2,305 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพ จำนวน 744 ราย โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน จำนวน 1,883 ราย โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบ จำนวน 511 รายและโครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิต(XYZ) จำนวน 266 ราย

ในส่วนของการขับเคลื่อนโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและสถาบันเกษตรกร 10,000 รายทั่วประเทศ สร้าง ปรับปรุงและซ่อมแซม ยุ้งฉางของตนเองเพื่อใช้เก็บข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูข้าวนาปี ไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกันมากเกินความต้องการของตลาด โดยผู้กู้เงินสร้างยุ้งฉางตามโครงการฯ จะต้องเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่สร้างขึ้นและเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในฤดูนาปีให้อยู่ในยุ้งฉางชั่วคราว ซึ่งจะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพ โดยเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถ ทยอยนำข้าวเปลือกออกขายในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น

ทั้งนี้  ธ.ก.ส จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 150,000 บาท และสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 1,671 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 ร้อยละ 4 ต่อปี โดยผู้กู้จ่ายร้อยละ 1 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี สาหรับปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ธนาคาร โดยเริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และกำหนดให้สร้างยุ้งฉางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 เพื่อให้ทันการเก็บข้าวเปลือกนาปีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยหลักประกันที่ใช้สามารถใช้หลักประกันที่มีอยู่เดิม หรือใช้บุคคลค้ำประกันเงินกู้ได้ กรณีไม่มีหลักประจำนองที่ดิน

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบัน เกษตรกรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปีตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง ซึ่งถือเป็นแก้มลิงขนาดเล็กในการเก็บข้าวเปลือกไม่ให้ล้นออกสู่ตลาด โดยเกษตรกรยังได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวอีกด้วย ทั้งนี้ในส่วนของวงเงินให้กู้ธนาคารเตรียมไว้กว่า 1,600 ล้านบาท เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อและขอสินเชื่อพร้อมคำแนะนำได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วจังหวัดเชียงใหม่.

You may also like

อบจ.เชียงใหม่ระดม108หน่วยงาน “รวมใจเป็นหนึ่ง”ฟื้นฟูทำความสะอาดเมืองตั้งเป้าเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ขณะที่”ทักษิณ”ให้ 1 ล้านสนับสนุนกิจกรรม

จำนวนผู้