สองที่ปรึกษานายกอบจ.เชียงใหม่ฟิตจัดเปิดโต๊ะรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที“กิตติรัตน์”ภูมิใจทำงานร่วมกับ”หมอธีระเกียรติ แม้ไม่ปลื้มพรรคการเมืองแต่เห็นแก่ส่วนรวม ชี้ผลกระทบโควิดฯทำเศรษฐกิจทรุดทั้งระบบ เชื่อหากทุกฝ่ายร่วมมือและสามัคคีจะช่วยแก้ไขปัญหาได้
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.64 ที่ห้องประชุมอบจ.เชียงใหม่นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ได้เชิญภาคธุรกิจ เอกชนเข้าร่วมประชุมหารือ หลังจากการประชุมแถลงนโยบายต่อสภาอบจ.เชียงใหม่ โดยกล่าวว่า ได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นที่ปรึกษา และวันนี้ได้เชิญภาคธุรกิจเอกชนมาร่วมประชุมและรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกัน
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ได้เคยมีโอกาสพบภาคธุรกิจเอกชนมาครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ก็พบว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวไม่ดีขึ้นเลย และดูจะหนักกว่าเดิม อย่างไรก็ตามได้สัญญากับนายพิชัยไว้ตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้งว่าหากได้รับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.เชียงใหม่จะมาร่วมทำงาน และได้พบกับคุณหมอธีระเกียรติครั้งแรก ซึ่งผมเป็นรองหัวหน้าพรรคการเมืองมาก่อนแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน เมื่อมาทำงานที่อบจ.เชียงใหม่ก็จะไม่รับค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน
“นายแพทย์ธีระเกียรติได้เคยมีผลงานมาอย่างน่าภูมิใจและดีใจที่ได้ตอบรับนายกอบจ.เชียงใหม่มาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งคุณหมอเคยเป็นรัฐมนตรีที่ไม่รักพรรคการเมืองที่ผมเคยสังกัด แต่ก็มาทำงานร่วมกันจึงเป็นความภาคภูมิใจมาก ซึ่งจากการติดตามการทำงานช่วงที่ท่านเป็นรัฐมนตรีทั้งด้านสาธารณสุขและการศึกษาจะเป็นประโยชน์กับเชียงใหม่รวมทั้งภาคธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิดฯ เช่นนี้ด้วย”นายกิตติรัตน์ กล่าวและว่า
ถ้าเราช่วยกันคิดและผลักดันให้ธุรกิจ เศรษฐกิจกลับมาเรื่อยๆ และเข้มแข็ง ก่อนโควิดฯรอบใหม่ โดยเชื่อว่าความสามัคคีที่ช่วยกันคิดจะทำให้บังเกิดผล ขอให้เปิดใจรับไอเดียและนำไปปฏิบัติให้ได้ สมัยผมเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเคยเกิดสงครามราคามาแล้ว หัวใจสำคัญของภาคธุรกิจคือต้องแข่งขัน แต่การแข่งขันจะเรื่องราคาและคุณภาพ แต่เมื่อไหร่ให้น้ำหนักเรื่องราคามากทุกคนจะเดือดร้อนกันหมด เพราะจะไม่มีแรงพอที่จะมาแข่งขันด้วยคุณภาพ
ที่ปรึกษานายกอบจ.เชียงใหม่ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวอีกว่า ถ้าเราจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่ามกลางโควิดฯ ถ้าหากเกิดทอล์คออฟเดอะทาวน์ขึ้นมา อย่างเช่น มาเชียงใหม่ราคาที่พักจะไม่เกินแค่นี้โดยให้อยู่ในข้อตกลงและปฏิบัติร่วมกัน แล้วผนึกพันธมิตรจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวมาให้หมดแล้วประชาสัมพันธ์ออกไป แม้จะผ่านช่วงอากาศหนาว ที่อากาศดีไปแล้ว แต่หากมุ่งมั่นในการทำงานว่า นับตั้งแต่เดือนมี.ค.ทะลุไปถึงช่วงที่เชียงใหม่อากาศดีย่อมเกิดผลดีอย่างแน่นอน ซึ่งไม่แค่ภาคเอกชนแต่จะมีการหารือกับหน่วยงานและองค์กรภาครัฐด้วยเพื่อทำให้ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ได้รับการแก้ไข
ทางด้านนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ยอมรับว่าไม่เคยรู้จักนายพิชัย มาก่อน เพราะหลายคนอาจจะนึกว่าตนมาเป็นที่ปรึกษาให้มีมูลเหตอะไร และได้คุยกับนายกิตติรัตน์แล้ว เรามองข้ามเรื่องพรรคการเมือง ซึ่งผมก็ไม่เคยสนใจและไม่ใช่งานถนัดอยู่แล้ว แต่ผมสังกัดพรรคประเทศไทย และอยากทำงานที่รักคือด้านการศึกษา ผมสนใจด้านเศรษฐศาสตร์และใช้ในการบริหารตอนเป็นรัฐมนตรีด้วย ทุกคนกล่าวหาว่ากระทรวงใช้เงินเยอะซึ่งก็จริงแต่ตอนผมอยู่ ผมลดงบฯตลอด การเทรนนิ่งครูก็ใช้ระบบตลาด พยายามทำให้การศึกษาไม่ผูกขาด เพราะเป็นกระทรวงที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีข้าราชการ 3 หมื่นคน
“ครูเราก็สับสนอยากเป็นข้าราชการ ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้าง และไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เพราะมันมีผล อย่าไปรื้ออะไรกับมันเลย เพราะบางทีเปลี่ยนไป เปลี่ยนมามันก็ไม่ได้ดีกว่าเดิมดีใจที่สมาคมโรงเรียนเอกชนก็ยังมาร่วมแสดงความเห็นด้วย สมัยเป็นรัฐมนตรีผมก็พยายามดึงเอกชนมาร่วมงานด้วย การอบรมครูใช้งบฯถึง 9 พันล้าน แต่คนอบรมก็เป็นคนเดิม โรงแรมเดิม งบฯมากกว่าเดิมแต่กลับพบว่าครูบางกลุ่มไม่เคยได้รับการอบรมเลย สมัยผมอยู่จึงใช้ระบบคูปองและให้ครู 3.2 แสนคนจากสี่แสนกว่าได้รับอบรม แต่พอหมดยุคผมโครงการนี้ก็ไม่มี อีกเรื่องคืออินเตอร์เน็ตโรงเรียน ซึ่งพบว่ายิ่งซื้อยิ่งแพง ทั้งๆ ที่เป็นสาธารณูปโภค สาเหตุเพราะมีเอกชนมาเสนอผลประโยชน์ ผมจึงเปลี่ยนนโยบายให้โรงเรียนซื้ออินเตอร์เน็ตเอง ไม่สั่งจากส่วนกลาง ก่อนที่ผมจะหมดวาระบริหารก็เหลือโรงเรียนเพียงแค่ 20กว่าแห่งเองที่ขาด และวันนี้ดีใจที่จะได้มาทำงานให้อบจ. เพราะสพฐ.เองคงไม่ปลื้มผม ผมจึงอยากฝากว่าในการทำงานถ้าเราไม่โกง แต่ถ้าเราฉลาดอย่างไรก็พัฒนาได้แม้จะช้า แต่ก็ยังพัฒนา”นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าวและว่า
ในฐานะที่เคยเป็นแพทย์ที่อังกฤษและลูกสองคนเป็นหมอ ขอพูดเรื่องโควิดฯ ซึ่งลูกผมก็เป็นหมอที่อังกฤษก็ติดโควิดเช่นกัน เรื่องสาธารณสุขเราเก่ง แต่เราต้องคิดเรามีมาตรการโควิดฯดี แต่เศรษฐกิจเราแย่ มาดูสถานการณ์ในไทยตอนนี้ อังกฤษจองวัคซีนโควิดตั้งแต่มีการระบาด เพราะเขามองอนาคตข้างหน้า เขาจึงจองไว้ 3-4 เท่าของพลเมือง สหรัฐฯเองก็จองไว้ 150 เท่า แต่หันมามองไทยจองแค่ไหน ยังดีที่ประชาชนกระทุ้งจึงได้มีการจองเพิ่ม ดูอย่างสิงคโปร์เองก็จองจาก 3 ผู้ผลิตเพราะรู้ว่าการจองช่วงที่มีวัคซีนออกมาแล้วจะลำบากเรื่องคิว หลายบริษัทผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า จอห์นสัน เอสสินิก้าเขาเซ็นต์สัญญาร่วมกันว่าจะไม่เอากำไร เพราะฉะนั้นการจองวัคซีนล่วงหน้าไม่มีการเอากำไร ดังนั้นจึงต้องจองไว้มากกว่า 1 ตัว
นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าวอีกว่า สิงคโปร์ยังรับเป็นตัวกลางประสานวัคซีน ยังแปลกใจมาถึงวันนี้ว่าทำไมไทยไม่เข้าไปจองด้วย ไม่ทราบเหตุผลจริงๆ และท้องถิ่นควรจะมีบทบาทด้วย เพราะบริษัทผลิตจะยังไม่ขายให้รพ.เอกชน แต่จะขายให้ท้องถิ่นในราคาเดียวกับรัฐบาล แต่สิ่งที่กลัวคือท้องถิ่นแข่งขัน จึงต้องหาวิธีกำหนดคือราคา และหากท้องถิ่นไม่มีกำลังรัฐบาลต้องสนับสนุน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเปิดประเทศได้อย่างแน่นอน
“อังกฤษจะฉีดวัคซีนทั้งประเทศในเดือนตุลาคมนี้ แต่ไทยจะเริ่มมิ.ย.ถ้าทำได้ แต่จะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งเป็นของแอสซ้าชิลิก้า ฉีดได้ 30 ล้านคน และกว่าจะฉีดประชาชนทั่วไปก็เริ่มปีหน้า ขณะที่สหรัฐฯมิ.ย.ฉีดได้หมด เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญ”ที่ปรึกษานายกอบจ.เชียงใหม่ด้านการศึกษาและสาธารณสุขกล่าว
จากนั้นได้เปิดให้ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมและชมรมต่างๆ เสนอปัญหา อุปสรรคที่ต้องการให้อบจ.เชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา โดยการหารือครั้งนี้นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่นำทีมผู้บริหาร อบจ.เชียงใหม่และหัวหน้าส่วนราชการอบจ.เชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังด้วย.