ทีมแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.ปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จ สร้างศักยภาพทางการแพทย์ เทียบชั้นระดับโลก

ทีมแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช.ปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จ สร้างศักยภาพทางการแพทย์ เทียบชั้นระดับโลก

ทีมแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มช. โดยความร่วมมือระหว่างภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จ หลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องฉีดอินซูลินและสามารถกลับบ้านได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น พร้อมได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ นับเป็นแนวทางการรักษาสร้างศักยภาพเทียบชั้น การแพทย์ระดับโลก

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.65 ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวสื่อมวลชน ” เรื่อง ความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนเป็นครั้งแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการรักษาเบาหวาน ชนิดที่ 1 “โดยศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึงเคสการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ได้สำเร็จว่า“นับเป็นเคสแรก ที่สร้างความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ป่วยได้รับการดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (คณะแพทย์ มช.) เป็นอย่างดี นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ,รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี ,ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ รศ.ดร.พญ.เมตตาภรณ์ พรพัฒน์กุล ประธาน clinical lead team เบาหวาน แล รศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. พร้อมบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชา  โดยความสำเร็จของการรักษาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขยายศักยภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ซับซ้อนของโรงพยาบาลมหาราชฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หลายหลายสาขาวิชาที่ร่วมกันให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถ”คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่หายจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภายหลังได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน เนื่องจากเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ไม่ได้รับการตอบสนองต่อการฉีดอินซูลินชนิดเข้าใต้ผิวหนัง แนวทางการรักษาภาวะดังกล่าวได้แก่ การใช้อินซูลินปั๊ม การให้ยาทางช่องท้องผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น จึงต้องได้รับอินซูลินเข้าทางหลอดเลือดดำใหญ่อย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลรวมระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ไม่สามารถกลับบ้านได้และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการติดเชื้อในกระแสเลือดทุก 2-3 สัปดาห์ บางครั้งติดเชื้อรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตผู้ป่วย (ICU)     นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหลายชนิด เช่นระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จึงเป็นข้อบ่งชี้ในการปลูกถ่ายตับอ่อนเพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อน เพื่อรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นรายแรกของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับการปลูกถ่ายตับอ่อนนั้น เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยรายนี้ให้หายขาดจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย นอกจากนี้การเลือกตับอ่อนจากผู้บริจาคสมองตายนั้น ยังมีความซับซ้อนมากกว่าการปลูกถ่ายตับ หรือไต โดยต้องมีการตรวจความเข้ากันได้ของอวัยวะ และกรุ๊ปเลือดรวมถึงอายุและน้ำหนักของผู้บริจาค รวมทั้งลักษณะของตับอ่อนที่นำมาใช้ต้องไม่มีการบาดเจ็บและไขมันมากจนเกินไป ดังนั้นจากสถิติของสภากาชาดพบว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายเท่านั้น ที่ได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อน ซึ่งทั้งหมดทำการรักษาในสถาบันปลูกถ่ายอวัยวะในกรุงเทพมหานครทั้งหมด

โดยเมื่อ พยาบาลได้ประสานงานการปลูกถ่ายอวัยวะแจ้งว่า มีผู้บริจาคอวัยวะที่เหมาะสมทางทีมการรักษาและผ่าตัด ได้เตรียมความพร้อมและทำการผ่าตัดตับอ่อนออกมาเพื่อทำการปลูกถ่าย ให้ผู้ป่วยรายดังกล่าว โดยการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหลังจากผู้ป่วยพักฟื้นในหอผู้ป่วยวิกฤต โดยได้รับการดูแลจากทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดี พบว่าภายหลังการปลูกถ่ายตับอ่อนระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยกลับมาปกติ โดยไม่ต้องใช้อินซูลินและสามารถกลับบ้านได้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น”อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน  ได้กล่าวถึงความสำเร็จของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์ มช. ในปีที่ผ่านมาว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับอ่อนดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ณ เวลานี้ ทีมคณาจารย์ หน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับ ทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการแพทย์เพียงแห่งเดียวที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับเพื่อรักษาผู้ป่วยผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิต เพื่อแก้ปัญหาการรออวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราการบริจาคน้อย รวมทั้งยังสามารถทำการผ่าตัดในผู้บริจาคตับ โดยใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้อง ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคตับดีขึ้น ดังนั้นนับเป็นความสำเร็จถึงศักยภาพทางการแพทย์ของทีมแพทย์ ที่เทียบชั้นระดับโลกได้เลยทีเดียว

ในส่วนของน้องเนย ผู้ป่วยรายแรกของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่หายจากการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่การปลูกถ่ายตับครั้งนี้สำเร็จเหมือนกับได้ชีวิตใหม่ ปัจจุบันตนเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว สุขภาพร่างกายตอนนี้รู้สึกว่าแข็งแรงมาก แต่ก็ปฏิบัติตัวตามที่หมอแนะนำทุกอย่าง โดยเฉพาะการทานยากดภูมิซึ่งจะลืมไม่ได้เป็นอันขาด และหลีกเลี่ยงการพบปะคนเยอะๆ เพราะอาจจะติดเชื้อแทรกซ้อนได้

ทั้งนี้ผศ.นายแพทย์วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ผู้รับการปลูกถ่ายตับอ่อนจะต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิดและห้ามขาดยาเด็ดขาด เนื่องจากคนไข้ปลูกถ่ายตับอ่อนได้รับอวัยวะจากการบริจาคซึ่งหายากมาก และจะเสียอวัยวะได้ง่ายต่อเมื่อลืมทานยาและการติดเชื้อหากติดเชื้อขึ้นมาอาการก็จะรุนแรงได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องควบคุมไม่ให้พบคนเยอะๆ ไปในที่แออัด และหากมีอาการเช่นเป็นไข้ให้รีบติดต่อทางทีมรักษาทันที เพราะระดับยาที่กินก็จะต้องมีความเหมาะสมด้วย จึงต้องได้รับการดูแลจริงๆ

ขณะที่รศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า เนื่องจากคนไข้เป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่สามารถระบุได้ อาจเกิดขึ้นด้วยตัวเองเนื่องจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม สาเหตุยังไม่แน่ชัดและปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง FDA สหรัฐฯได้อนุมัติยาตัวหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่ยาตัวนี้ไม่รู้จะนานแค่ไหนที่จะมีใช้ในไทย อย่างไรก็ตามสำหรับคนไข้ที่อยากจะแนะนำคือต้องลดน้ำหนัก ทานอาหารสุขภาพ ลดอาหารที่ให้พลังงานเพื่อไม่ให้น้ำหนักเยอะเกินไป ควรงดอาหารสุกๆ ดิบๆ น้ำหวาน ขนม เพื่อไม่ให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่คนที่มีน้ำหนักมากส่วนใหญ่เป็นได้.

You may also like

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจัดงานมหกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่สูง สู่ผู้ประกอบการสังคมรุ่นใหม่ “ Tribal Product Expo 2024

จำนวนผู้