ถก”พื้นที่พลเมืองสามัญชนเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” ชี้สันติภาพจะเกิดถ้า3จชต.พอใจรัฐ

ถก”พื้นที่พลเมืองสามัญชนเปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” ชี้สันติภาพจะเกิดถ้า3จชต.พอใจรัฐ

- in headline, จับกระแสสังคม

เชียงใหม่ (16 พ.ค.58) / กลุ่มปาตานีฟอรั่มและเครือข่าย จัดเสวนา “พื้นที่พลเมืองสามัญชน  เปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” ระบุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากการเรียกร้องเอกราชของชาวมลายู ขณะที่สันติภาพ จะเกิดขึ้นได้รัฐต้องใช้การเจรจา และทำให้ประชาชนใน 3 จชต. เกิดความพอใจ

เมื่อเวลา 18.00-21.00 น. วันที่ 15 พ.ค. กลุ่มปาตานีฟอรั่ม ได้ร่วมกับ LEMPAR พรรคสามัญชน พลเมืองเท่ากัน เครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี และคนประชาธิปไตย จัดกิจกรรมเสวนา “พื้นที่พลเมืองสามัญชน  เปลี่ยน(ไม่)ผ่าน” ที่โรงน้ำชาสนิมทุน ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายตูแวดานิยา  ตูแวแมแง  รองผู้อำนวยการ สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา(YDA) และนายอัสมิ ปุ ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี โดยมีนายกิตติศักดิ์ จันทร์ใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางนักศึกษาและผู้สนใจกว่า 50 คน

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง กล่าวถึงที่มาของคำว่า Lempar ซึ่งแปลได้ว่า “การเอาสิ่งไม่ดีไปทิ้ง” ส่วนคำว่า ปาตานี เป็นชื่อของอาณาจักรของคนมาลายู ซึ่งไม่เหมือนกับคำว่า ปัตตานี ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดของประเทศไทย ทั้งนี้การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราช ของชาวมลายูเริ่มขึ้นภายหลังที่รัชกาลที่ 1 ยกทัพมาตีเมืองปาตานีเป็นเมืองขึ้น ซึ่งภายหลังการเข้าปกครองของไทย คนมลายูก็พยายามลุกขึ้นต่อสู้มาโดยตลอดจนกระทั่ง นายหะยีสุหลง ผู้นำมลายู-ปาตานี ได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อต่อนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้ปาตานี เป็นเขตปกครองพิเศษ อาทิ การแยกศาลออกจากศาลหลักของประเทศไทย การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การใช้ภาษามลายูในการสอนชั้นประถม เป็นต้น แต่ภายหลังกลับไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทย และนายหะยีสุหลง ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มฆ่าพร้อมบุตรชายและเพื่อนอีก 2 คน ก่อนนำศพทิ้งทะเลสาบสงขลา สร้างความหวาดระแวง และมองรัฐเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

ทั้งนี้ ถ้าลำดับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ แบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกเกิดจากการต่อต้านของกลุ่มเจ้าเมืองเก่า ยุคถัดมา เป็นการต่อต้านโดยกลุ่มผู้นำทางศาสนา และยุคสุดท้ายคือนับตั้งแต่ปี 2503 คือการลุกขึ้นสู้ของปัญญาชน ดังนั้น หากเอ่ยถึงคำว่า “สันติภาพ” ในพื้นที่ 3 จชต. ก็คือประชาชนต้องพึงพอใจ แต่จะเป็นรูปแบบใด อาทิ การกระจายอำนาจ การเจรจา การตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือมากกว่านั้น เช่น ติมอร์-เลสเต  ที่แยกตัวเป็นอิสระจากอินโดนีเซีย จนสามารถปกครองตนเองแบบรัฐอิสระได้ ซึ่งหากเป็นรูปแบบสุดท้ายรัฐยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้อยู่แล้ว และคำว่าสันติภาพก็คงจะอยู่ห่างไกลออกไป

ภายหลังการปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่าคนจาก 3 จชต. ลี้ภัยไปอยู่มาเลเซียแล้ว 131 คน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชีวิต  เนื่องจากแต่ละเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่รู้ใครเป็นใคร ทุกคนหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แม้จะพูดด้วยภาษามลายูเหมือนกัน นอกจากนี้สมาชิก BRN ยังกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม รวมทั้งแผงตัวอยู่ในกลุ่ม จนท.รัฐ ซึ่งแนวร่วมดังกล่าว เมื่อก่อเหตุเสร็จ ก็จะกลับไปเป็นชาวบ้าน ชาวสวน ตามปกติ

ขณะที่นายอัสมี ปุ ที่ปรึกษาเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี กล่าวถึงความสำคัญของแม่น้ำสายบุรี ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นกลางระหว่างปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของ 3 จชต. ซึ่งการรวมตัวของเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี เพื่อต้องการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ จากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุก รวมถึงการละเมิดของ จนท.รัฐต่อชุมชนชาวมลายู ทั้งนี้ปัจจุบันเครือข่ายฯ ได้เร่งขยายมวลชนแนวร่วมให้คลอบคลุมในทุกพื้นที่ ทุกมิติ พร้อมขยายเป้าหมายจากการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำสายบุรี เป็นการปกป้องสิทธิชาวมลายู และการรักษาวัฒนธรรมมลายูด้วย.

You may also like

ททท. จัดใหญ่เอาใจคนรักเนื้อและชาวแคมป์มาแอ่วเหนือรับลมหนาวกับงาน “Amazing Chiang Mai Meat and Camp 2024” ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคมนี้ ที่สวนอบจ.เชียงให

จำนวนผู้