ตัวแทน สกน.ทั่วเหนือยื่นหนังสือถึงเลขา คทช.ค้านยกเลิกโฉนดชุมชน

ตัวแทน สกน.ทั่วเหนือยื่นหนังสือถึงเลขา คทช.ค้านยกเลิกโฉนดชุมชน

ภาคเหนือ / ตัวแทน สกน. รุดยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ถึงเลขา คทช. คัดค้านการยกเลิกโครงการโฉนดชุมชน พ้อรัฐขาดความจริงใจแก้ปัญหา เสนอ 3 ข้อเรียกร้อง “ทบทวนการยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน-พิจารณาข้อเสนอ P-move ให้โฉนดชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งภายใต้ คทช.-คุ้มครอง 486 ชุมชนไม่ให้รับผลกระทบ”เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) แต่ละจังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง,เชียงราย,แพร่,พะเยา,แม่ฮ่องสอน,น่าน และตาก ได้เดินทางไปที่ศาลากลางของแต่ละจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ สนง.นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  คัดค้านการยกเลิกโครงการโฉนดชุมชนเนื้อหาภายในหนังสือของแต่ละจังหวัดเหมือนกัน โดยสรุปคือ ภายหลังการรัฐประหาร ภาคประชาชนได้ผลักดันโครงการโฉนดชุมชนและเจรจากับรัฐบาลหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 63  พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส./P-move) และมอบหมายให้นำแนวทางโฉนดชุมชนหรือการจัดการที่ดินแปลงรวม ให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้ง 486 ชุมชน รวมทั้งให้คุ้มครองพื้นที่และเข้าถึงสาธารณูปโภคไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติหากตลอด 6 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลเพียงแค่รับข้อเสนอ เพื่อยืดเวลา และลดความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล แต่ไม่จริงใจในการผลักดันแนวทางโฉนดชุมชน ซ้ำยังมีความพยายามทำลายหลักการของโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการรับรองสิทธิชุมชน มีการยึดที่ดินของชาวบ้าน กล่าวหาว่าชุมชนบุกรุก ดำเนินคดีกับชาวบ้าน ประกอบกับมีหลายชุมชนปฏิเสธและไม่เข้าร่วมตามแนวทางของ คทช. ที่สำคัญ คือได้มีการเตรียมวาระการประชุม คทช.เพื่อพิจารณาให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (สนร.) ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนทาง สกน.จึงมี 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คือ 1) ให้ทบทวน แก้ไข วาระการประชุม คทช.ข้อ 3.2 ที่ให้ยกเลิกระเบียบ สนร.ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนโดยทันที 2) ให้นำข้อเสนอของ ขปส.ไปพิจารณาให้แนวทางโฉนดชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งภายใต้ คทช. เพื่อจัดที่ดินในรูปแบบสิทธิชุมชนแปลงรวม โดยเริ่มที่ 486 ชุมชน ที่ยื่นไว้กับ สนง.โฉนดชุมชนแล้ว 3) ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ให้คุ้มครองพื้นที่ทั้ง 486 ชุมชน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชน อีกทั้งให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และเข้าถึงโครงการพัฒนาของรัฐทั้งนี้ สกน. ยังได้แนบเอกสาร “ข้อเสนอโฉนดชุมชน” ซึ่งระบุถึงข้อจำกัดของการดำเนินการตามแนวทางของ คทช. คือ 1) การพัฒนาพื้นที่ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ทำให้เกิดความขัดแย้งในบางพื้นที่ 2) ชุมชนที่ดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชน เมื่อเปลี่ยนเป็นแนวทางของ คทช. จะถูกรื้อถอนทรัพย์สินและจัดพื้นที่ใหม่ สร้างผลกระทบต่อสมาชิก 3) คทช.ให้สิทธิรายปัจเจก ไม่นำไปสู่การสร้างองค์กรเกษตรกร ไม่ก่อให้เกิดการรวมตัวและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน.

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้