จัดงานทอเส้นฝ้าย สานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-2 เม.ย.นี้

จัดงานทอเส้นฝ้าย สานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-2 เม.ย.นี้

สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย จังหวัดเชียงใหม่จัดงาน ทอเส้นฝ้าย สานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติ ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-2 เม.ย.60 คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ชูเทรนด์และนวัตกรรมใหม่หวังเอาใจคนรุ่นใหม่หันมาสวมใส่มากขึ้น

ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 นางแก้วตา วรธรรมนนท์ ผอ.ส่วนพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ร่วมกับนางผ่องพรรณ ศิริวัฒนาวงศา รองผอ.ททท.จังหวัดเชียงใหม่ นายประภัสสร์ วงษ์รักษา นักวิชาการแรงงานชำนาญการ นายปราบ เพิ่มแสงงาม ประธานจัดงานผ้าฝ้ายครั้งที่ 19 สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย จังหวัดเชียงใหม่(ATSME) และนายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และนายรัชกร ปิยะสัจจบูลย์ รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งนายศราวุธ เลาหะวิสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เชียงใหม่ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานทอเส้นฝ้าย สานเส้นใยใส่สีธรรมชาติ 2560  ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มีนาคม-2 เมษายน 2560

นางแก้วตา วรธรรมนนท์ ผอ.ส่วนพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า ทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้สนับสนุนการจัดงานทอเส้นฝ้าย สานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ใช้สถานที่ในการจัดงาน และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาที่จะมาให้คำแนะนำความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่มาเที่ยวชมงานทั้งในเรื่องของบริการทางการเงิน ภาษี การตลาดรวมทั้งด้านการผลิต และนอกเหนือจากมีบูธให้คำปรึกษาตลอดช่วงการจัดงานแล้วยังให้คำปรึกษาผ่านแอพพลิเคชั่นและเวบไซต์อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสนับสนุนโดยเฉพาะให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านนางผ่องพรรณ ศิริวัฒนาวงศา รองผอ.ททท.จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ททท.ได้สนับสนุนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ โดยบรรจุงานทอเส้นฝ้าย สานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติไว้ในปฏิทินการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่งททท.มีสำนักงานที่ต่างประเทศ 401 สำนักงานและสำนักงานภายในประเทศอีก 27 สำนักงานที่จะช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบกันอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการจัดงานนี้เป็นช่วงก่อนที่จะมีงานเทศกาลสงกรานต์ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ายอดจองที่พักของโรงแรมในเชียงใหม่อยี่ 80-85% แล้ว

ขณะที่นายประภัสสร์ วงษ์รักษา นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กล่าวว่า ทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานได้สนับสนุนเครือข่ายในการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปีนี้ทางสถาบันฯได้จัดฝึกอบรมและสาธิตการประกอบอาชีพภายในงานนี้ด้วย ซึ่งมีทั้งการทำขนมไทย อาหารไทย เบเกอรี่และการแกะสลักผลไม้ศิลปะประดิษฐ์ต่างๆ มาออกบูธในงานนี้

นายปราบ เพิ่มแสงงาม ประธานจัดงานผ้าฝ้ายครั้งที่ 19 สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย จังหวัดเชียงใหม่(ATSME) กล่าวว่า สำหรับการจัดงานทอเส้นฝ้ายสานเส้นใย ใส่สีธรรมชาติทางสมาคมฯจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อช่วยสนับสนุนด้านช่องทางการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มผู้ที่ผลิตผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมและสินค้าพื้นเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและมีการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดโดยปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานกว่า 2 หมื่นคนมียอดขายกว่า 27 ล้านบาท

ในการจัดงานทุกครั้งที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้พยายามที่จะพัฒนารูปแบบการจัดงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในทุกๆ ด้าน โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 19 ซึ่งนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าทอและผลิตภัณฑ์จากผ้าแล้ว ก็ยังมีเครื่องแต่งกาย เครื่องหนังทำมือ อัญมณีเครื่องประดับ ของที่ระลึกของตกแต่งจากพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย โดยมีผู้ประกอบการที่มาออกบูธร้านค้ากว่า 400 คูหา

ขณะที่นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่และนายรัชกร ปิยะสัจจบูลย์ รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดงานนี้จะเห็นว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นทุกปีและมีการพัฒนารูปแบบมาโดยตลอดซึ่งปีนี้ก็เชื่อว่ายอดขายน่าจะถึง 30 ล้านบาท โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อหรือออเดอร์ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง และต้องยอมรับว่าผ้าฝ้ายของเชียงใหม่เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยม ซึ่งทางหอการค้าฯเองก็อยากจะเห็นการจัดงานผ้าฝ้ายสัญจรไปในทุกภูมิภาค เพื่อรณรงค์ให้คนในประเทศได้ใช้สินค้าของคนไทย ซึ่งเชื่อว่าเฉพาะตลาดในประเทศก็มีความต้องการสูงและน่าจะเติบโตได้ดีเพราะสินค้าของเชียงใหม่มีจุดขายอยู่แล้ว และปีนี้เป็นปีที่ทราบว่าได้นำเรื่องของดีไซน์และนวัตกรรมเข้ามาแมทซ์กับผลิตภัณฑ์และการจัดงานก็เชื่อว่าน่าจะขยายและเปิดช่องทางตลาดได้ดียิ่งขึ้น.

 

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้