ความร้อนแล้งอันเกิดจากฝนทิ้งช่วงที่ยาวนาน ทำให้แหล่งน้ำหลายพื้นที่แห้งขอด บางแห่งเกิดศึกแย่งชิงน้ำ สร้างความบาดหมางระหว่างชุมชนหลายต่อหลายครั้ง นั่นเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือที่เรียกกันว่า “สภาวะโลกร้อน”
ดร.สตรีไทย พุ่มไม้ จากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่า เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน เกิดความผิดปกติของฤดูกาล ในการใช้ทรัพยากรน้ำก็ต้องปรับตัว เพราะมนุษย์ไม่สามารถกำหนดให้ฝนตกหรือไม่ตกได้ แต่ถ้าเขารู้ วัดปริมาณได้ว่าแต่ละช่วงในพื้นที่ของตนมีปริมาณน้ำเท่าไหร่ เป็นน้ำนิ่ง หรือน้ำไหล เดือนไหนมีน้ำ เดือนไหนแห้งแล้ง พื้นที่การเกษตรต้องใช้น้ำแค่ไหน ก็จะวางแผน และบริหารจัดการได้ แม้ว่าบางทีอาจต้องปรับเปลี่ยนชนิดพันธุ์พืช ช่วงการเพาะปลูก เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างสอดคล้อง
วิธีจัดการของแต่ละชุมชนอาจไม่เหมือนกัน การใช้น้ำก็ไม่เหมือนกัน และวิธีคำนวณปริมาณน้ำก็มีมากมาย แต่เลือกวิธีกลางๆ มาใช้ จะได้ไม่ยากเกินไป ชุมชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจ และนำกลับไปประยุกต์ใช้พื้นที่ของตนเองได้ โดยแต่ละชุมชนควรเก็บข้อมูลน้ำของพื้นที่ตนเองอย่างน้อย 1-3 ปี จะได้วางแผนอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่อรู้เรื่องของปริมาณแล้ว ก็ควรใส่ใจด้านคุณภาพน้ำด้วย หากแหล่งน้ำในพื้นที่มีปัญหาน้ำเสีย ก๊าซจากน้ำเสียก็จะมีโอกาสส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ทำให้โลกร้อนได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำชุมชน ช่วยให้บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุข ชุมชนจึงต้องมีความรู้เรื่องน้ำในพื้นที่ของตนเอง แล้วรู้ว่าเชื่อมโยงกับอะไร มองเป็นระบบลุ่มน้ำ และวางแผนจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ต้นน้ำ-กลางน้ำปลายน้ำ
น้ำอ้อย อาชนะชัย นายก อบต.เก่าย่าดี อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ บอกว่า ฤดูร้อนที่ยาวนาน และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นแตกต่างจากเมื่อก่อน ทำให้เกิดโรคระบาดทางการเกษตร เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ซ้ำไฟป่ายังเกิดขึ้นง่าย และรุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง ไฟจึงลุกลามได้เร็ว อาหารจากป่าอย่างเห็ด หน่อไม้ แมลง ก็มีปริมาณน้อยลง เช่นเดียวกับอาหารจากแหล่งน้ำ หรือธรรมชาติ จำพวกกุ้งฝอย ปู หอย ก็ลดลง สังเกตได้ว่าสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมย่ำแย่กว่าเดิม
“พื้นที่ ต.เก่าย่าดี เป็นที่ลาดชัน มีแอ่ง ช่วงฤดูฝนจึงมีน้ำซึม น้ำซับ จากภูเขาลงมา แต่ฤดูร้อนก็แห้งแล้ง เหลือน้ำนิ่งเพียงเล็กน้อย จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากร เหมือนที่ สสส.สำนัก 3 ทำอยู่ โดยในการให้ความรู้ต้องให้ลงมือปฏิบัติจริงด้วย จะได้จดจำ แล้วนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้ ตัวอย่างกิจกรรมการวัดปริมาณน้ำ เมื่อรู้ข้อมูลของน้ำในพื้นที่ตนเองแล้วก็จะคำนวณการใช้ ให้คำแนะนำชาวบ้านในการเพาะปลูกได้
ด้านดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฤดูร้อนยาวนานและแล้งจัด ฤดูหนาวหดสั้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือเกิดน้ำท่วมใหญ่ หลายครั้งเกิดภัยพิบัติจากลมพายุ ลูกเห็บ และนับวันจะทวีความรุนแรงจนยากต่อการรับมือ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความแปรปรวนเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่
นอกจากจะนำมาซึ่งความแห้งแล้ง น้ำท่วม หรือคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อสุขภาวะชุมชน ทำให้พาหะนำโรค เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากความชื้นและความร้อน ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ผลผลิตอาหารจะลดลงจากความแห้งแล้ง อากาศเป็นมลพิษ ละอองเกสร ฝุ่นควันจะทำให้เกิดภูมิแพ้และหอบหืด รวมถึงอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น หรือน้ำท่วมบ่อยขึ้น เป็นบ่อเกิดของโรคจากการดื่มและใช้น้ำ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าระหว่างปี 2030-2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 คน/ปี เนื่องจากมาลาเรีย การขาดสารอาหาร ท้องร่อง และความเครียดจากความร้อน ซึ่งนับเป็นความสูญเสียที่รุนแรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นต้องวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น.