เครือข่ายสภาลมหายใจ 9 จังหวัดภาคเหนือ เสนอมาตรการบลูพรินท์ฉบับประชาชนอุดช่องโหว่มาตรการรัฐ

เครือข่ายสภาลมหายใจ 9 จังหวัดภาคเหนือ เสนอมาตรการบลูพรินท์ฉบับประชาชนอุดช่องโหว่มาตรการรัฐ

เครือข่ายสภาลมหายใจ 9 จังหวัดภาคเหนือ เรียกร้องรัฐทบทวนวาระแห่งชาติแก้ปัญหาฝุ่นควัน  เสนอมาตรการบลูพรินท์ฉบับประชาชนอุดช่องโหว่มาตรการรัฐ ปธ.ยุทธศาสตร์สภาลมหายใจชี้ Hot spotและจำนวนวันที่เกิดมลพิษทางอากาศไม่สะท้อนความจริง

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว   เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัดได้จัดเวทีสรุปบทเรียนและสร้างแนวทางการขับเคลื่อนภาคเหนือสู้ฝุ่นควัน ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2565 โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการผลักดันยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน pm2.5 ในปี พ.ศ.2566 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งตั้งเป้าจะพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีเจตนาร่วมกันเพื่อให้พื้นที่ภาคเหนือเกิดมีอากาศสะอาดและปลอดภัยในทุกฤดู เพื่อสุขภาวะของประชาชนทุกพื้นที่ของภาคเหนือ

โดยเมื่อเวลา 13.30 น.ตัวแทนเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด ประกอบด้วย สภาลมหายใจแม่ฮ่องสอน, สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจลำพูน ,สภาลมหายใจเชียงราย, สภาลมหายใจลำปาง, ชมรมอากาศดีที่เมืองแพร่ ,สภาลมหายใจพะเยา, เครือข่ายรักษ์อากาศน่าน และสภาลมหายใจตาก ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปบทเรียนและสร้างแนวทางการขับเคลื่อนภาคเหนือสู้ฝุ่นควันภายใต้หัวข้อ “การเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงมาตรการตามวาระแห่งชาติแก้ปัญหาฝุ่นละออง 2562  ภาคเหนือ       และเปิดตัวชุดมาตรการ Blue Print ข้อเสนอจากภาคประชาชน”เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน pm2.5 ที่เป็นวิกฤตมายาวนาน

นายภาณุพงศ์ ไชยวรรณ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดลำพูน กล่าวว่า แม้ว่าเมื่อฤดูแล้งที่ผ่านมาการเกิดฝุ่นควันและไฟน้อยกว่าปีก่อนหน้า แต่ก็สืบเนื่องจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศมีฝนตกจากภาวะลานีญ่าเป็นสำคัญ     เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ มองว่า ต้องมีการยกระดับปรับปรุงชุดมาตรการแก้ปัญหามลพิษอากาศจากฝุ่นควัน pm2. ตามวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละอองที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพราะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาของภาคเหนือ ใช้ตัวชี้วัดที่ไม่สะท้อนและไม่ครอบคลุม มุ่งเน้นที่การบังคับห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ชุดมาตรการ zero burning ซึ่งไม่ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ

ทางเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ ได้ร่วมกันสังเคราะห์และปรับปรุงและยกระดับจากวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง เป็นรายงานข้อเสนอเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันภาคเหนือ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “บลูพรินท์” โดยจะนำเสนอต่อรัฐบาลในทุกช่องทางนับจากนี้ โดยหวังว่าจะนำไปสู่การนำไปปรับปรุงยกระดับนโยบายและมาตรการต่อไป

ทั้งนี้ชุดข้อเสนอตาม “บลูพรินท์” จัดทำขึ้นตามหลักแนวคิด 6 ประการคือ    1.บริหารจัดการสาเหตุตามบริบทภูมิสังคม (แทนการห้ามเผาเด็ดขาด)    2.หลักความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม    3.หลักสุขภาพประชาชนเป็นตัวตั้ง    4.เปิดการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกน    5.การเข้าถึงอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครอง    6.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (เอาพื้นที่ปัญหาเป็นตัวตั้งไม่ใช่เขตอำนาจปกครองหรืออำนาจหน่วยงานตามกฎหมาย)

ทั้งนี้เมื่อแปลงข้อเสนอสู่มาตรการเชิงปฏิบัติ เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อาทิเช่น หน่วยงานรัฐต้องแจ้งล่วงหน้าต่อสาธารณะว่าจะดำเนินการบริหารเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ในพื้นที่ใด เวลาใด เช่นเดียวกับแปลงชิงเผาของประชาชน, หน่วยงานรัฐมีมาตรการป้องกันสุขภาวะเชิงรุกเช่นการจัดเตรียมเครื่องฟอกอากาศให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยืมไปใช้,   รัฐต้องขยายเครื่องวัดคุณภาพอากาศมาตรฐานไปยังพื้นที่รอบนอก แทนที่จะมีแต่เครื่องวัดมาตรฐานที่ตัวจังหวัดเพียงตัวเดียว, จัดทำแผนมาตรการบูรณาการเพื่อบริหารพื้นที่ไฟไหม้ขนาดใหญ่ ขนาดกลางที่คาบเกี่ยวเขตปกครองและเขตความรับผิดชอบหน่วยงาน ให้เป็น KPI ร่วม เป็นต้น  ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดชุดข้อเสนอและมาตรการฉบับเต็มตามบลูพรินท์โดยตรงได้ทางเว็บไซต์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ https://breathcouncil.org/  และเว็บไซต์ WEVOสื่ออาสา https://wevo.news/

ด้านนายบัณรส บัวคลี่ ประธานยุทธศาสตร์สภาลมหายใจภาคเหนือ ได้บรรยายหัวข้อ  “พิมพ์เขียวสู่การเปลี่ยนแปลง :ยกระดับการแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการถอดบทเรียนของแต่ละจังหวัด โดยเน้นไปที่จุดความร้อนหรือ Hot spot และจำนวนวันที่ค่ามลพิษหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งการสะท้อนปัญหาของภาครัฐใช้ข้อมูลสถิติดังกล่าวเป็นตัวชี้วัด โดยย้ำที่จุดความร้อนและจำนวนวันที่ลดลงถือว่าประสบความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผลตามแผนงานและเป้าหมาย แต่สิ่งดังกล่าวมันเป็นปัญหาเชิงมาตรการที่ต้องปรับปรุง

ประธานยุทธศาสตร์สภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงเกี่ยวกับจุดความร้อนหรือ Hot spot นั้นสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้ดาวเทียมที่ภาครัฐใช้อ้างอิงตรวจสอบได้ เพราะในแต่ละจังหวัดจะมีประกาศห้ามเผา จึงทำให้เกิดการเผาทั้งก่อนและเผาหลบการตรวจจับของดาวเทียม ตัวเลขของ Hot spot ในแต่ละวันจึงไม่ใช่ตัวเลขจริงของปัญหา และจำนวนวันที่ค่ามลพิษเกินมาตรฐานก็เช่นเดียวกัน ที่หน่วยงานรัฐซึ่งควบคุมโดยกรมควบคุมมลพิษให้ใช้ค่าตรวจวัดจากเครื่องวัดที่ได้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษซึ่งมีเพียงไม่กี่จุดและสถานที่ตั้งก็ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงมีเครื่องตรวจวัดขนาดเล็กที่หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำขึ้นและติดตั้งไปแต่ละพื้นที่เพื่อสะท้อนให้รัฐและสังคมได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดแต่ละวันเกิดอันตรายต่อประชาชนแค่ไหน เพื่อจะได้ช่วยกันป้องกัน แต่จุดอ่อนระบบราชการให้ใช้ค่ามาตรฐานเท่านั้น ซึ่งยกตัวอย่างจังหวัดพะเยาและแพร่มีเครื่องตรวจวัดจังหวัดละ 1 แห่งและติดตั้งในจุดที่ไม่ใช่แหล่งก่อมลพิษ แต่รัฐก็จะใช้ค่าจากเครื่องดังกล่าวเป็นตัวแทนบอกกล่าวปัญหา ซึ่งตัวเลขที่ได้ก็ไม่สะท้อนความเป็นจริง

“ในเชียงใหม่เอง มีเครื่องตรวจวัดอยู่ 4 แห่ง ในช่วงหนึ่งที่ผมติดตามสถานการณ์พบว่าในตัวเมืองค่าตรวจวัดคุณภาพอากาศยังอยู่ในระดับที่พอรับได้คือสีเหลือง แต่เครื่องตรวจวัดที่อ.แม่แจ่ม ค่ารายชั่วโมงก็เริ่มสีแดง และมาดูเครื่องตรวจวัด Dust boy และของมช.ที่เชียงดาวค่าตรวจวัดอยู่ในระดับสีแดงเช่นเดียวกับแม่แจ่ม แต่เครื่องตรวจวัดมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษทางโซนเหนือใช้สถานีตรวจวัดที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับเรื่องการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีการใช้แอพพลิเคชั่นในการจอง ลงทะเบียน แต่ปรากฏว่ามีการบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าของรัฐที่ไม่มีการบอกกล่าวให้ประชาชนได้รู้ แต่ก็มีการแชร์ภาพและวิจารณ์กันในสังคมสื่อสังคมออนไลน์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการบริหารเชื้อเพลิงจึงกว้างกว่าการชิงเผาที่กำหนดวันให้ชาวบ้านเผาได้ถ้าเป็นการขออนุญาตที่ถูกต้อง”นายบัณรส กล่าวและว่า

เมื่อสรุปและถอดบทเรียนจากที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มา ของบลูพรินท์ ที่สภาลมหายใจ 9 จังหวัดภาคเหนือเสนอต่อรัฐให้เป็น วาระแห่งชาติเน้นใน 6 แนวคิด เพื่อก้าวให้พ้นจากวังวนฝุ่นควันฝุ่นจากภาคประชาชน.

You may also like

ดีป้า ปิดท้ายกิจกรรม Coding Inspire กระตุ้นเยาวชนเข้าถึงโค้ดดิ้งเท่าเทียมและทั่วถึง
ภายใต้ โครงการ Coding for Better Life ‘สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย

จำนวนผู้