NCA พม่ากับ10 ชาติพันธุ์เหลว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชี้รัฐเมินประชาชน

NCA พม่ากับ10 ชาติพันธุ์เหลว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชี้รัฐเมินประชาชน

เชียงใหม่ / “จ๋ามตอง” ชี้ข้อตกลงหยุดยิงพม่ากับ 10 กลุ่มชาติพันธุ์เหลว ผ่านมา 4 ปี ยังไร้สันติภาพ ผู้ลี้ภัยเดือดร้อนหนัก กลับบ้านไม่ได้-นานาชาติยุติความช่วยเหลือ ซ้ำยุทธศาสตร์รัฐบาลมุ่งขายทรัพยากร ไม่สนใจผลกระทบสิ่งแวดล้อม-ชีวิตประชาชน วอนขอเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ นำข้อเท็จจริงสู่สังคมภายนอก หวังช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวน.ส.จ๋ามตอง ชาวไทใหญ่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่า  กล่าวถึง ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement) หรือ NCA ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งจัดทำขั้นถึง  2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2015 (พ.ศ.2558) มี 8 กลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วม และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2018 (พ.ศ.2561) เข้าร่วมอีก 2 กลุ่มชาติพันธุ์    แต่กระนั้นในสถานการณ์จริงก็ยังมีการสู้รบกันอยู่ ไม่ได้เกิดสันติภาพตามความเข้าใจของนานาชาติ และรัฐบาลพม่าก็ไม่ได้สร้างความไว้วางใจให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2008 (พ.ศ.2551) ยังคงให้อำนาจแก่ทหาร และแม้ในส่วนของไทใหญ่ที่รัฐฉาน พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) จะได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นตัวแทนชาวไทใหญ่ในสภา หากเมื่อนับจำนวนแล้ว ยังถือเป็นเสียงส่วนน้อย ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก การแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยาก

หลังทำข้อตกลงหยุดยิง เงินสนับสนุนจากรัฐบาลตะวันตก 7-8 ประเทศ ผ่านองค์กร  TBC (The Border Consortium) ที่ให้ชาวไทใหญ่ มากกว่า 6,300 คน ใน 6 ค่ายลี้ภัย ตามชายแดนรัฐฉาน 5 ค่าย และค่ายกุ่งจ่อ ในเขต อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ก็ยุติลง เพราะเขาเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือแล้ว สถานการณ์เข้าสู่ความสงบ ผู้ลี้ภัยจะได้เดินทางกลับบ้าน ขณะที่ความเป็นจริง ผู้ลี้ภัยไม่สามารถกลับไปสู่บ้านเกิดของตัวเองได้ เพราะขณะอพยพ หลายหมู่บ้านถูกทหารพม่าเผา บางหมู่บ้านพม่าอนุญาตให้กลุ่มว้าเข้ามาครอบครอง  ผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่จึงกลายเป็นคนไร้บ้าน อาจมีบ้างที่บ้านเดิมยังคงอยู่ แต่ถ้ากลับไปก็ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  อาจถูกข่มขู่ ทำร้าย หรือข่มขืน ขาดหลักประกันที่จะทำให้เกิดความมั่นใจ เช่น เมื่อเดือนเมษายน 2018 (พ.ศ.2561) หญิงชราวัย 73 ปี กำลังเก็บผักในสวนของตัวเอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่สัมปทานเหมืองทอง 140,000 เอเคอร์ ทางตะวันออกของรัฐฉาน ก็ถูกข่มขืน และไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ ดังนั้นนอกจากจะไม่ได้กลับไปบ้านแล้ว ยังมีชาวไทใหญ่บางส่วนอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มด้วย

สำหรับไทใหญ่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้น เข้ามามากเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ในยุคที่ MTA (Mong Tai Army) ล่มสลาย ภายใต้การนำของขุนส่า  หรือ จาง ซีฟู หรือชื่อไทย นายจันทร์ จางตระกูล ผู้นำกองทัพเมืองไต ยอมวางอาวุธ ส่งผลให้ประชาชนกว่า 3 แสนคน ระส่ำระสาย ส่วนใหญ่หนีข้ามมาฝั่งไทย ทำงานในสวนส้มตามเขตแนวชายแดน  โดยอพยพเข้ามาเป็นครอบครัว ประกอบด้วย 3 รุ่น คือ ปู่ย่าตายาย, พ่อแม่ และลูก

น.ส.จ๋ามตอง กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ในด้านทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น แผนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำสาละวินที่เมืองโต๋น ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ลงทุนโดยรัฐบาลพม่า ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และบริษัทจากประเทศจีน มีกำลังผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะส่งมายังประเทศไทย และจีน 

ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำโดยบริษัท Snowy Mountain Engineering Corporation (SMEC) ของออสเตรเลีย ขณะเดียวกันประชาชนก็ถูกข่มขู่ให้ยอมรับโครงการ ทำให้ชาวบ้านในเมืองโต๋น และเขตรัฐฉาน หวาดกลัวว่าโครงการดังกล่าวอาจทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ในภาคกลาง และภาคใต้ของรัฐฉาน ทั้งเมือง หมู่บ้าน และวัด

หรือการผลักดันสร้างเขื่อน 4 แห่งกั้นแม่น้ำตู ที่เป็นน้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดี 3 แห่งอยู่ในเขตรัฐฉาน และจะลงทุนโดยบริษัทจากประเทศตะวันตก อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฯ ทั้งที่บางประเทศให้ทุนสนับสนุนขบวนการสันติภาพด้วย แต่พื้นที่บางโครงการกลับอยู่ในเขตที่มีการทำข้อตกลงหยุดยิง ทว่ายังมีการสู้รบอยู่ และโครงการเหล่านี้ก็จะสร้างความขัดแย้ง มีการแย่งชิงทรัพยากร และเกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างมากขึ้น

รวมทั้งล่าสุด รัฐบาลพม่าก็เปิดให้บริษัทร่วมทุน Mai Khot Coal Company สัมปทานเหมืองถ่านหินเมืองก๊ก ในรัฐฉาน ระยะเวลา 28 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2019 (2562) เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ 13 ตารางกิโลเมตร สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงนโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาลพม่า ที่มุ่งขายทรัพยากร โดยไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ คือการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงในพื้นที่ ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่สร้างความเข้าใจ เห็นใจ กับสังคมภายนอก อันจะนำมาซึ่งความช่วยเหลือได้ และหวังว่าถ้าสังคมโลกช่วยกดดัน ก็จะนำไปสู่การพูดคุยและแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันก็ได้พยายามสร้างเครือข่าย ให้เกิดความเข้าใจ และเกิดการตั้งคำถามกับกลุ่มทุน เป็นการช่วยชาวบ้านอีกทางหนึ่ง.

You may also like

กกท. จัดการแข่งขันกรีฑาระดับโลก “Golden Fly Series Qualifier Chiang Mai 2024 presented by SAT”หวังสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น

จำนวนผู้