การท่าฯเชียงใหม่เตรียมผุดโครงการเร่งด่วนแก้ปัญหาผู้โดยสารคับคั่ง ขณะที่บอร์ดเห็นชอบสร้างสนามบินแห่งที่ 2

การท่าฯเชียงใหม่เตรียมผุดโครงการเร่งด่วนแก้ปัญหาผู้โดยสารคับคั่ง ขณะที่บอร์ดเห็นชอบสร้างสนามบินแห่งที่ 2

 

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เตรียมผุดโครงการเร่งด่วนแก้ปัญหาผู้โดยสารคับคั่ง เน้นการเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสาร พื้นที่จอดรถและช่องทางจราจร  ยันการดำเนินงานอยู่ในแนวเขตพื้นที่เดิม ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มถึง 16 ล้านคนในปี 2568 ขณะที่บอร์ดทอท.เห็นชอบสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ชี้ “บ้านธิ”เหมาะสม

ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ กรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. พร้อมด้วยนาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของ ทอท.หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ กงสุลต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ และบริษัทสายการบิน ได้ร่วมพิธีทำบุญครบรอบ 30 ปีการดำเนินงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีพิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อพนักงาน ลูกจ้าง ท่าอากาศยานเชียงใหม่

จากนั้น นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมด้วย เรืออากาศโทวศิน พลนาวี รองผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่และนายอภิชาต ชอบทำเหมือน รองผอ.ทชม. ได้แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2560 และโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสาร โดยกล่าวว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นท่าอากาศยาน 1 ใน 6 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท.ได้รับโอนกิจการจากกรมการบินพาณิชย์    มาอยู่ในความดูแล ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 และแปรสภาพเป็น บริษัท  ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี แต่เนื่องจากแนวโน้ม การเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ส่งผลให้ในปี 2560 (มกราคม-ธันวาคม 2560 )                     มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการมากกว่า 10.2 ล้านคน

“แม้ว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะปรับปรุงสิ่งอำนวย                        ความสะดวกต่างๆ ขยายพื้นที่การให้บริการ และบริหารจัดการเส้นทางเดินของผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากที่สุด ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากลและมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาโดยตลอดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทันต่ออัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร โดยในปี 2560-2568 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต้องให้บริการผู้โดยสารในปริมาณที่เกินขีดความสามารถ และต้องเผชิญกับปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสาร “ผอ.ทชม.กล่าวและว่า

เพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสารระหว่างรอการดำเนินงาน ตามแผนแม่บทท่าอากาศยานเชียงใหม่ คณะกรรมการ ทอท.จึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ที่กำหนดดำเนินการภายในเดือนเมษายน 2561 อาทิ  ปรับปรุงป้ายบอกทางเพื่อปรับเปลี่ยนการเข้า-ออก ของผู้โดยสาร เพิ่มพื้นที่บริเวณหน้าชานชาลาอาคารผู้โดยสาร ด้วยการรื้อย้ายสวนหย่อม จัดเจ้าหน้าที่ตรวจค้นให้เพียงพอกับจำนวนเครื่อง X-ray เพิ่มช่องทางเข้าอาคาร บริเวณประตูหมายเลข 6 เพื่อเป็นช่องทางของเจ้าหน้าที่และสำหรับขนถ่ายสินค้า เพิ่มเคาน์เตอร์สำหรับผู้โดยสาร Self Check-in อีก 3 เคาน์เตอร์และปรับปรุงพื้นที่ เพื่อเป็นห้องสัมภาษณ์พิเศษสำหรับด่านควบคุมโรคและด่านจัดหางาน

ส่วนแผนงานแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ที่จะดำเนินการภายในปี 2562 อาทิ  ปรับปรุงทางสัญจร และเพิ่มพื้นที่ผิวการจราจรบริเวณชานชาลาหน้าอาคารผู้โดยสาร ปรับปรุงเพิ่มทางลาดบริเวณชานชาลาหน้าอาคารผู้โดยสาร  ปรับปรุงพื้นที่เพื่อเป็นห้อง Bus Gate สำหรับอากาศยานขนาดเล็ก ปรับปรุงพื้นที่บริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ จัดทำห้องตรวจตัวพิเศษ บริเวณเครื่อง X-ray ให้เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ก่อสร้างที่จอดรถบัสเพิ่มเติม บริเวณด้านทิศใต้อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ก่อสร้างลานวางอุปกรณ์ภาคพื้น (GSE: Ground Service Equipment) ปรับปรุงพื้นที่ดาดฟ้าชั้น 2 เป็นห้องโถงผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ  ปรับปรุงพื้นที่ดาดฟ้าชั้น 3 อาคารผู้โดยสารเป็นพื้นที่สำนักงาน ก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัย  ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ด้านทิศเหนือ สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่จอดรถ โดยดำเนินการ ในรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

นาวาอากาศตรีมณธนิก ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่    ในปี 2560 ว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศ (มกราคม-ธันวาคม 2560) มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 71,994 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 4.03 มีสายการบินที่บินประจำภายในประเทศ จำนวน 8 สายการบิน ทำการบิน     ใน 13 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศ จำนวน 26 สายการบิน ทำการบินใน 23 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ย   221 เที่ยวบินต่อวัน

มีจำนวนผู้โดยสาร 10.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8.30 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทาง               ระหว่างประเทศมีประมาณ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า 1.42 ล้านคน                 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณร้อยละ 15 การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารชาวจีนดังกล่าวนำมาซึ่งความเติบโต                    ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จำเป็นต้องขยายเวลาให้บริการในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์          ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชุมชนที่อาศัยโดยรอบและในแนวขึ้นลงของอากาศยานบ้าง มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 17,303 ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 6.53

สำหรับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของ ทอท.นั้น ในปี 2560 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยได้สนับสนุนงบประมาณสร้างเมรุและเตาเผาศพไร้มลพิษ ในพื้นที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง การสนับสนุนงบประมาณขุดสระกักเก็บน้ำเพื่อใช้สำหรับพื้นที่การเกษตร และป้องกันน้ำท่วม ในพื้นที่ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนด้านการศึกษาและสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน ตลอดจนให้การสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ สถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนน้ำดื่ม การสนับสนุนงบประมาณจัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ  และการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ สำหรับจัดกิจกรรมของท้องถิ่นและชุมชน

“ในระหว่างนี้ไปจนถึงปี 2568 ทางบอร์ดให้ดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนา ทชม.โดยมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 16 ล้านคน โดยการดำเนินการจะอยู่ในเขตพื้นที่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ปัจจุบันคือ 1,609 ไร่ แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่การขยายสนามบินแต่เป็นการดำเนินการในเขตพื้นที่เดิมสำหรับการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 นั้น ทางบอร์ดก็ให้ความสนใจกับการมีสนามบินแห่งใหม่ แต่การที่จะตัดสินใจว่าควรสร้างหรือไม่สร้างนั้น อยู่ที่การตัดสินใจที่อยู่ระดับสั่งการ”ผอ.ทชม.กล่าว

มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมบอร์ดทอท.ได้มีการพูดถึงเรื่องการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ซึ่งกรมการบินพลเรือนได้เคยทำการศึกษาและมีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 คือที่ต.บ้านธิ รอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน โดยกระบวนการต่อไปอยู่ที่กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ผลักดันต่อโดยให้บรรจุเข้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ซึ่งจะต้องจัดทำการศึกษาและผลักดันทั้งเรื่องของการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ระบบขนส่งทางราง โดยมีทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งหรือสนข.ร่วมด้วย.       

 

 

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้