กลุ่มรักษ์น้ำงาวฮือต้านโครงการเขื่อนน้ำงาว ย้ำขัดกม.-สร้างได้ไม่คุ้มเสีย

กลุ่มรักษ์น้ำงาวฮือต้านโครงการเขื่อนน้ำงาว ย้ำขัดกม.-สร้างได้ไม่คุ้มเสีย

ลำปาง / กลุ่มรักษ์น้ำงาว รวมตัวประท้วงหน้าที่ว่าการอำเภองาว ต้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พร้อมขอให้ยกเลิกการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ้างบริษัทที่กรมชลจ้าง ขาดความน่าเชื่อถือ และขัดกฎหมาย ทั้ง ม.57-มติ ครม. 3 ส.ค.53 ย้ำถ้าสร้างได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.62 กลุ่มรักษ์น้ำงาว ในนามเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง และสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง บริเวณที่ว่าการอำเภองาว ขอให้ยกเลิกโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาว ในพื้นที่บ้านขวัญคีรี อ.งาว จ.ลำปาง ด้วยโดยหนังสือระบุว่าตามที่อธิบดีกรมชลประทานได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าครัวเรือนเจ้าของบ้าน ที่อยู่ในหมู่ 11 บ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง ลงวันที่ 1 พ.ย. 2562 โดยอ้างว่า กรมชลประธานได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด มาดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ ตามสัญญาเลขที่ จ.52/2562 (สพด.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 – 24 ก.ย.2563 นั้น กลุ่มรักษ์น้ำงาว ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอ ในพื้นที่บ้านขวัญคีรี ขอแสดงความเห็นและข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ดังนี้​1. บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ไม่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากไม่ใช่สถาบันทางสังคมที่ประชาชนให้การยอมรับ และมีแนวโน้มว่าการทำรายงาน จะเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กรมชลฯ ในการดำเนินโครงการ มากกว่ารับฟังความต้องการและความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

2.การที่กรมชลฯ จ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด มาศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่า ​​“การดำเนินการใด ๆ ของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สำคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ ​​บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง”3.เราเป็นชุมชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ไม่มีความต้องการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวแต่อย่างใด น่าจะเป็นโครงการฯ ที่ไม่มีความโปร่งใสและประโยชน์ที่ได้ไม่น่าจะคุ้มค่ากับการสูญเสีย เพราะนอกจากจะทำลายวิถีชีวิตและที่ทำกินของชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่แล้ว ยังจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมาก นั่นคือ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จำนวน 481 ไร่ พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จำนวน 500 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งาวฝั่งซ้ายในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (ป่า C) เป็นพื้นที่ทั้งหมดของขอบเขตอ่างเก็บน้ำ 677 ไร่ และพื้นที่การเกษตรจากการแปลภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2557 ประมาณ 110 ไร่ อีกทั้งการจัดการน้ำด้วยการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน โดยรัฐไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้4.ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว ซึ่งเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอในพื้นที่บ้านขวัญคีรี ที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองใน 5 ด้าน ได้แก่ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมชาติพันธุ์ การศึกษา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สวัสดิการ และสถานะบุคคล หากมีการดำเนินการโครงการดังกล่าวในพื้นที่ นอกจากจะทำลายวิถีชีวิตชุมชนแล้ว ยังเป็นการไม่เคารพและไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม.3 ส.ค. 2553 อีกด้วย​5. ชุมชนปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในการดำรงอยู่อย่างสอดคล้องและสมดุลกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการน้ำ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำฝายน้ำล้นหรือฝายมีชีวิตกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดการและปรับปรุงฝายให้มีประสิทธิภาพในการใช้น้ำบริโภคอุปโภคในหน้าแล้งและหน้าฝน ดังนั้น ชุมชนจึงไม่จำเป็นให้มีการก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ทำลายชุมชนในพื้นที่แต่อย่างใด หากชุมชนใด ต้องการเขื่อน ก็ควรไปนำโครงการนี้ไปสร้างในชุมชนนั้น แต่เราขอประกาศว่า เราไม่ต้องการ “อ่างเก็บน้ำน้ำงาว” ในพื้นที่โดยเด็ดขาด6.ในนามกลุ่มรักษ์น้ำงาว เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ยื่นคัดค้านการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ และเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหา ดังปรากฏคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 12 ก.ย. 2562 ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาของคณะกรรมการดังกล่าว เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างพีมูฟ กับรัฐบาล จึงขอให้กรมชลฯ ยุติการดำเนินการโครงการนี้เอาไว้ก่อน และขอเสนอให้มีสถาบันทางวิชาการที่มีความเป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือทางสังคม มาศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบให้รอบด้าน รวมทั้งความคุ้มทุนของโครงการดังกล่าว และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์น้ำงาว ยังได้ขอให้ยกเลิกการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสม และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว  ในวันนี้โดยทันที ทั้งนี้ จะมีการประสานงานกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อคัดค้าน และให้โครงการนี้ยกเลิกให้ถึงที่สุด ซึ่งต่อมานายก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง ได้เดินทางมารับมอบหนังสือจากทางกลุ่ม และรับจะดำเนินการส่งเรื่องไปยังอธิบดีกรมชลประทานต่อไป.

You may also like

CEA – MUJI จับมือดันงานหัตถกรรมท้องถิ่นเชียงใหม่ ผลักดันผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดแบรนด์ระดับโลก

จำนวนผู้