5หน่วยงานร่วม MOU เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นในภูมิภาค

5หน่วยงานร่วม MOU เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นในภูมิภาค

วช.ผนึกกำลังร่วมกับมช. ภาคเอกชนลงนาม MOU โครงการประเทศไทยไร้หมอกควันเพื่อขับเคลื่อนและถ่ายทอดแนวทางการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร เพื่อลดการพึ่งพาไฟไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค ตัวแทนชาวแม่แจ่มยอมรับเงินเป็นปัจจัยทำให้ต้องเผา ขณะที่นักวิชาการชี้แม่แจ่มเหมาะเป็นแหล่งผลิตปศุสัตว์ที่ดีของเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.62 ที่ห้อง The Brick X อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.)  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (CLT) ได้จัดพิธีลงนาม MOU โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน โดยรศ.ดร.สมเกียรติ จอมจันทร์ยอง หัวหน้าแผนงานโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (HAZE FREE THAILAND) กล่าวต้อนรับโดยก่อนจะเริ่มพิธีการได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

นายสุทัศน์ ยงศักดิ์วัฒน์ ตัวแทนชาวบ้านนาฮ้องใต้ หมู่ 10 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า แม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดในเชียงใหม่และตกเป็นจำเลยของสังคมในเรื่องปัญหาหมอกควัน ไฟป่ามาโดยตลอดและไม่ปฏิเสธว่ามีการเผาไร่ข้าวโพดหลังเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกจริง สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับปัญหาหมอกควันคือ เงิน ชาวบ้านจำเป็นต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวปีละ 2-3 แสนบาท ถ้าไม่เผาเศษวัสดุการเกษตร ก็จะไม่สามารถปลูกพืชในปีต่อไปได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเผา

“ชาวบ้านทำเพื่อความอยู่รอด เพื่อปากท้อง แต่ทางราชการคิดแต่จะแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ พอถึงช่วงที่ชาวบ้านจะต้องเผาตอซังก็ห้ามเผา ราชการได้แต่เอางบประมาณมาทำแนวกันไฟกับปลูกป่า และออกกฎหมายห้ามเผา แต่ชาวบ้านทำไม่ได้เพราะครอบครัวจะอยู่อย่างไร ปีนี้สถานการณ์หมอกควันไฟป่าค่อนข้างหนักกว่าเดิม ยอมรับว่ามีการเผาและขยายพื้นที่เพาะปลูกอีก เนื่องจากครอบครัวขยายเพิ่มมากขึ้นจึงมีการบุกรุกและเผาป่าขยายพื้นที่ทำกินออกไป”นายสุทัศน์ กล่าวและว่า

ทำไมภาครัฐไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ชาวบ้านไม่ได้ต้องการเงินค่าจ้างมาทำแนวกันไฟ แต่ชาวบ้านต้องการรายได้ที่พอจุนเจือครอบครัว ผมเองได้มาเข้าร่วมโครงการกับทางอาจารย์จากเดิมที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7-10 ไร่ถึงจะพอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ตอนนี้ได้เปลี่ยนมาปลูกส้มอินทรีย์ใช้เนื้อที่ 5 ไร่ ก็ทำให้มีรายได้พออยู่ได้ไม่เดือดร้อน ซึ่งชาวบ้านเองพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ แต่ขอให้มีการส่งเสริมอาชีพที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พออยู่ พอกิน ไม่เดือดร้อน ถ้าหากภาครัฐตั้งใจจะแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าจริงๆ ขออย่าตั้งงบประมาณเพื่อเอาไปทำแนวกันไฟเลย แต่ขอให้ส่งเสริมอาชีพ หาตลาดรองรับ จะให้ปลูกผักอินทรีย์หรืออะไรก็ได้ ขอให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุอย่างที่ทำกันอยู่ขณะนี้

ด้านนายกฤต อินต๊ะทาม ชาวบ้านต.เมืองจั่ง อ.ภูเพียง จ.น่าน กล่าวว่า ทุกวันนี้เป็นหนี้ธ.ก.ส.เพราะกู้เงินมาทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีถึง 53 ไร่ แต่หลังจากที่นักวิชาการเข้าไปส่งเสริมและชักชวนให้ทำเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้ใช้พื้นที่ 52 ไร่ในการปลูกพืชผักอินทรีย์ทำให้ไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม และมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว สิ่งที่ชาวบ้านต้องการขณะนี้คือการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปแต่ขาดความต่อเนื่อง ถ้าหากมีการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านมีกิน มีใช้ ไม่กู้หนี้เหมือนตอนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชาวบ้านก็ยินดีเป็นอย่างมาก

ส่วนทางด้านรศ.ดร.วรทัศน์ อินทรัคคัมพร อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมงานโครงการฯ ซึ่งรับผิดชอบในด้านการส่งเสริมอาชีพชาวบ้านทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า ได้นำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์เข้าไปส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านในอ.แม่แจ่ม ซึ่งชาวบ้านต.แม่นาจรมีความพร้อมมาก โดยจะเอาตอซังเศษข้าวโพดไปหมักเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยแยกกลุ่มเป็นผู้ที่มีความพร้อมมาก ปานกลางและน้อย แล้วเสริมองค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนการผลิต โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 70-80 คน และนอกจากเลี้ยงโคแล้วก็ยังมีการเลี้ยงไก่ดำ สุกรและแกะด้วย

ในเฟสที่ 2 จะเน้นเรื่องการทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะไม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว แต่จะปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์และทำให้เป็นแหล่งปศุสัตว์ที่ดีที่สุดของเชียงใหม่ ส่วนที่ต.แม่ศึกก็มีการปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งทางเกษตรกรก็ต้องการความต่อเนื่องในการส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อที่จะทำให้ครอบครัวมีรายได้ต่อไป เพราะตอนนี้เกษตรกรยังไม่ชำนาญ และได้มีการขยายโครงการเลี้ยงปศุสัตว์ไปยังตำบลแม่ศึกด้วย ซึ่งทางท้องถิ่นก็ให้การสนับสนุนมีการจัดสรรงบประมาณในการฝึกอบรมอาชีพให้ด้วย

“ขณะนี่ได้เกษตรกรตัวอย่างแล้วในพื้นที่ ต่อไปจะเรื่องของการสร้างกลุ่มทั้งเชิงผลิตและการสร้างเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ส่วนการพัฒนาจะอยู่บนพื้นฐานการผลิตพืชอาหารปลอดภัย และลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ ทีทำรายได้ให้กับชาวบ้าน เพราะอำเภอแม่แจ่มถือเป็นแหล่งที่มีสภาพภูมิประเทศเหมาะในการทำปศุสัตว์อย่างมาก”รศ.ดร.วรทัศน์ กล่าว

จากนั้นได้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)โดยดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง) รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง หัวหน้าโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) นายวโรดม  ปิฏกานนท์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน(กกร.)   จังหวัดเชียงใหม่ และประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่  นายดำรงชัย เดชาธิคม ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายสมศักดิ์ ทะระถา ผู้อำนวยการสาขาเชียงใหม่ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (CLT) ,รศ.ดร.เศรษฐ์ สมัภตัตะกุล นักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหิจเพื่อสังคม จำกัด

โดยทั้ง 5 ฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนและกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน(Haze Free Thailand) เพื่อดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันจะดำเนินงานถ่ายทอดแนวทางการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร เพื่อลดการพึ่งพาไฟไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค และรวบรวมเป็นผลสัมฤทธิ์ของโครงการในแต่ละพื้นที่จัดทำโมเดลการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้ยังจะขยายแนวทางในการลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากปัญหาหมอกควันไปยังพื้นที่ศึกษาอื่นๆ เพื่อลดความเสียหายทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่รวมกับการบูรณาการการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำและป่าไม้เพื่อความยั่งยืน จดำเนินการนำแบบจำลองในการคาดการณ์การแพร่กระจายของหมอกควันและเครือข่าย รวมถึงการใช้เครือข่ายอัจฉริยะ เพื่อติดตามเฝ้าระวังภาวะหมอกควันและเป็นศูนย์กลางประชาสัมพันธ์และกระจายข้อมูลทางด้านการเฝ้าระวังและการเตือนภัยอันเนื่องจากภาวะหมอกควันที่จะเกิดขึ้น รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ผลการดำเนินงานเพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนาเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายสาธารณะ เสนอในการจัดการหมอกควันอย่างยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรท้องถิ่นและชุมชนเพื่อการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

โดยธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพภายใต้การดำเนินงานโครงการประเทศไทยไร้หมอกควันแก่เกษตรกรที่เป็นลูกค้าธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวต้องยื่นเอกสารแสดงความประสงค์ที่จะขอรับการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพ ภายใต้โครงการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานการเกษตรเพื่อการลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่เขตภาคเหนือภายใต้โครงการฯ ส่วนกกร.และบ.เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมพร้อมจัดหาตลาดรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการฯ และ CLT พร้อมจัดทำโครงการสนับสุนนและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศรวมถึงการใช้เครื่องมือ sensor ตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเครือข่ายอัจฉริยะเพื่อติดตามเฝ้าระวังภาวะหมอกควันที่จะเกิดในพื้นที่.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้