โชว์ศักยภาพ”เชียงใหม่เมืองกาแฟ”เผยมูลค่าการตลาดกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟสูงปีละกว่า 2 พันล้านบาท

โชว์ศักยภาพ”เชียงใหม่เมืองกาแฟ”เผยมูลค่าการตลาดกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟสูงปีละกว่า 2 พันล้านบาท

เชียงใหม่เตรียมโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมกาแฟก้าวสู่ Coffee Hub ในงาน Lanna Expo 2018 เผยเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมด 19 อำเภอ กว่า 2 หมื่นไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาด 3,848 ตัน มีโรงคั่วและแปรรูปขนาดใหญ่มากกว่า 20 แห่ง มีธุรกิจร้านกาแฟมากกว่า 1,000 แห่ง มูลค่าธุรกิจกาแฟแต่ละปีพุ่งกว่า 2 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ HILLKOFF LEARNING SPACE อ.เมืองเชียงใหม่ นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมด้วยนางจันทรัตน์ ปิยพัทธชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่,นายจักริน วังวิวัฒน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่และนางสาวนฤมล ทักษอุดม ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ซึ่งเป็นงานแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมกาแฟจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการในการ ประกอบธุรกิจ” โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานภาคี และคลัสเตอร์กาแฟเชียงใหม่ จะจัดขึ้นภายในงาน Lanna Expo 2018 ระหว่างวันที่ 22 มิ.ย.-1 ก.ค.61 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชนอื่นๆ ดำเนินกิจกรรมและโครงการที่สามารถสร้างผลผลิต และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศ และต่างชาติ

“ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้มีการผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ ที่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟภาคเหนือให้เติบโตและยั่งยืนมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะของ “คลัสเตอร์ (Cluster)” ให้เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกาแฟ โดยในกลุ่มต้นทาง ได้สนับสนุน ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว การแปรรูปเมล็ดกาแฟ ตลอดจน การเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กลุ่มกลางทางสนับสนุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิต และกลุ่มปลายทาง ได้สนับสนุนมุ่งเน้นด้านการประกอบธุรกิจกาแฟ เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟ เทคนิคการคั่ว การผสมสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ การชงกาแฟ และการบริหารจัดการหน้าร้าน เพื่อให้เกิดความ อยู่รอดและยั่งยืน”อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวและชี้แจงอีกว่า

นอกเหนือจากการพัฒนาเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้ประกอบการกาแฟให้มีความพร้อมแล้ว การสร้างภาพลักษณ์ และการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเชียงใหม่ มีการพัฒนาตนเองสู่การเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมกาแฟแล้วนั้น ก็มีความสำคัญยิ่ง และนี่จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์ และการสร้างการรับรู้เพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่เมือง โดยนอกจากจะสร้างภาพลักษณ์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในงาน Lanna Expo 2018 แล้ว ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีแผนในการสร้างภาพลักษณ์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ภายในงาน Thailand Industry Expo 2018 และ Roadshow ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ที่กรุงเทพฯด้วย

อุตสาหกรรมกาแฟ เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ และสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยมีข้อมูลทางสถิติว่า คนไทยมีการบริโภคกาแฟเฉลี่ย 1 กิโลกรัม / คน / ปี         จากเมล็ดกาแฟกว่า 20,000 ตันทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟทั้งรายใหญ่และรายเล็กเป็นจำนวนมากที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานนี้ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมด 19 อำเภอ รวมจำนวน 20,144 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2559 – 2560 จำนวน 3,848 ตัน มีโรงคั่วและแปรรูปขนาดใหญ่มากกว่า 20 แห่ง มีธุรกิจร้านกาแฟมากกว่า 1,000 แห่ง ธุรกิจกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่มีมูลค่าตลาดราว 2,000 – 3,000 ล้านบาทต่อปี เชียงใหม่จึงมีเมล็ดกาแฟคุณภาพระดับโลก อีกทั้งยังเป็นเมืองท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่สำคัญ เรียกได้ว่าเชียงใหม่ได้พัฒนาตัวเองก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองกาแฟอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

ด้านางจันทรรัตน์ ปิยพัทธไชย์ อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า นับตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช      ในหลวงรัชการ ที่ 9 ทรงพระราชทานกาแฟต้นแรกให้กับเกษตรกรบนดอยอินทนนท์ อำเภจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุน พัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ได้ก้าวหน้าไปอย่างมาก เชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพ มีการแปรรูปที่ทันสมัย มีมาตรฐาน และมีร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์ มีจุดขายที่แตกต่างกันเกิดขึ้นจำนวนมากมาย พร้อมทั้งมีบุคคลากรในด้านกาแฟที่มีคุณภาพระดับโลก สร้างมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท และก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองกาแฟ ได้อย่างสง่างาม

การจัดงาน “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” (CHIANG MAI : THE COFFEE HUB) ซึ่งจะมีขึ้นภายในงาน Lanna Expo 2018 โซน Northern Food Valley นับเป็นเวทีที่สำคัญ เนื่องจากงาน Lanna Expo 2018 เป็นงานแสดงและจำหน่ายสินค้าของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูนเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานมากกว่า 426,492 คน มียอดจำหน่ายสินค้าและยอดสั่งซื้อสินค้าภายในงานรวมมากกว่า 56 ล้านบาท โดยในส่วนของโซนกาแฟ ปีที่แล้วใช้ชื่อว่า “งานชงชา ชิมกาแฟ” มีผู้ประกอบการร่วมออกบูธจำนวน 80 บูธ  มีผู้เข้าชมงานในโซนนี้ จำนวนมากกว่า 100,000 คน และมียอดจำหน่ายสินค้าและยอดสั่งซื้อสินค้าในโซนชา กาแฟ จำนวน 11 ล้านบาท สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีรายได้มากกว่าปีที่แล้ว 10%

อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า งาน “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ในครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกาแฟ ได้แสดงศักยภาพภายในงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนบน                     ได้ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพต่อสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากนี้แล้ว เนื่องจากผู้ที่มาร่วมงาน Lanna Expo ไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนในพื้นที่ หรือคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักธุรกิจจากต่างประเทศด้วย อาทิ ประเทศแถบ AEC จีน หรือยุโรป เป็นต้น      จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการในการต่อยอดทางธุรกิจผ่านพื้นที่เจรจาธุรกิจด้วย

ขณะที่นายจักริน  วังวิวัฒน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่  เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมในการประสานงานระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐบาล ทั้งในและระหว่างประเทศ ไม่จำกัดอยู่แค่ในอุตสาหกรรมกาแฟเท่านั้น ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมกาแฟของจังหวัดเชียงใหม่ ทางสภาอุตสาหกรรมได้ประสานงาน จับมือ กับหลายภาคส่วนในการรวมกลุ่ม สร้างพลังขับเคลื่อนทำงานร่วมกัน ผนึกกำลัง ในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมกาแฟเชียงใหม่

การจัดงาน “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ในครั้งนี้คือ ผลสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของความเข้มแข็งของกลุ่มคลัสเตอร์ และการประสานงาน ผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและเอกชน ในวันนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่จังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มคลัสเตอร์กาแฟที่เข้มแข็ง และทำให้เชียงใหม่ไม่ใช่เพียงเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่หลงใหลในกาแฟ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คู่มือทองเที่ยวชื่อดังระดับโลก อย่าง Lonely Planet ได้จัดให้ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งใน 3 เมืองกาแฟที่ดีที่สุดในเอเชีย หรือ Asia’s 3 Best Coffee Cities เคียงคู่มากับ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และอิโป ประเทศมาเลเซีย

ส่วนทางด้านนางสาวนฤมล  ทักษอุดม ประธานคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟ กล่าวว่า  สำหรับกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟมีสมาชิกกว่า 1,000 รายซึ่งมีทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่ว บรจุไปจนถึงร้านกาแฟ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และการจัดงานในครั้งนี้ได้คัดสรรผู้ประกอบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟเชียงใหม่มาร่วมออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งหมด 50 บูธ มีรจัดแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมกาแฟเชียงใหม่ ที่ร้อยเรื่องราวจากการพลิกดอยฝิ่นให้เป็นถิ่นกาแฟ เพื่อให้เกิดความสมดุลแห่งวิถีป่า วิถีกาแฟ วิถีชีวิต สู่การขับเคลื่อนกาแฟด้านศาสตร์และศิลป์ จนมาสู่กาแฟระดับเวิร์ลคลาส มีเวทีเสวนา Coffee Talk ให้ความรู้ด้านอุตสาหกรรมกาแฟแก่ประชาชนทั่วไป จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อาทิ สมาคมกาแฟพิเศษแห่งประเทศไทย มีกิจกรรม workshop เกี่ยวกับ การชงกาแฟจากบาริสต้าชื่อดัง อาทิ การชงกาแฟแบบ Cold Brew, การ cupping, Home-Brewing, Signature Drink Coffee มี workshop อื่นๆ ที่เกี่ยวกับกาแฟ เช่น การถ่ายภาพ  การย้อมผ้าด้วยสีกาแฟ การสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่จากกาแฟ และไฮไลต์คือการแข่งขันลาเต้อาร์ต หาแช้มป์ลาเต้อาร์ตเชียงใหม่ประจำปี การแข่งขันแบบแบทเทิ้ล แพ้คัดออก ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท และถ้วยรางวัลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วย.

 

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้