เวทีประชุมวิชาการนานาชาติBelt and Road Initiative Lancang-Mekong Cooperation: New Era and New Start คึกคักกว่า 500 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

เวทีประชุมวิชาการนานาชาติBelt and Road Initiative Lancang-Mekong Cooperation: New Era and New Start คึกคักกว่า 500 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

หน่วยงานรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย องค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการระดับภูมิภาค และแวดวงอื่นๆ ร่วม 500 คนร่วมประชุมและเสนอแนวคิดใหม่ในการส่งเสริมนโยบาย Belt & Road (B & R) และ Lancang- Mekong Cooperation (LMC) อดีตฑูตจีนประจำประเทศไทยเผยในช่วง 2 ปีมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ใน 6 ประเทศกว่า 300 สาย ประชาชนกว่า 20 ล้านคนเดินทางไปมาหาสู่กัน ชี้การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน 6 ประเทศจะต้องผนึกกำลังร่วมกัน

วันที่ 19 ก.ย.61 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ International Conference Belt and Road Initiative Lancang-Mekong Cooperation: New Era and New Start เกิดขึ้นจากความริเริ่ม และร่วมมือของหน่วยงานของประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีกิจกรรมหรือเวทีทางวิชาการในระดับภูมิภาค ที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนของไทย จีน และนานาชาติ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านสังคมศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีนกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

โดยเฉพาะการขยายบทบาทการพัฒนาความเจริญตามยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) เพื่อสร้างเส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 เชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ  เข้าด้วยกัน โดยเน้น 4 ประเทศหลัก คือ ลาว ไทย พม่า และ จีน ตามความร่วมมือด้านการคมนาคมเกษตรกรรม  การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการแพทย์แผนจีน ศึกษาความสัมพันธ์ และผลกระทบเชิงลึกของความสัมพันธ์ข้ามพรมแดน ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) รวมถึงในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาถึงพลวัตร ผลลัพธ์ และการคาดการณ์ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินโครงการ ‘Belt and Road Initiative’ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมวิชาการนานา ชาติในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ ที่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงทั้งของภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการได้ร่วมกันพิจารณา ศึกษาข้อมูล ผ่านการนำเสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมมิติของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศจีนกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการคมนาคมและการขนส่ง 2) ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน 3) ด้านการท่องเที่ยว 4) ด้านวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม และ 5) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเมืองอัจฉริยะ อันจะนำไปสู่การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศทั้งในระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือใน 5 สาขาดังกล่าว

นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเชีย งใหม่ กล่าวว่า นโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน จะส่งผลประโยชน์เชิงบวกกับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน และภาคเหนือของประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่นักลงทุนจีนกำลังให้ความสนใจเข้ามาลงทุน  สำหรับเวทีการประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจซึ่งกันและกันสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย องค์กรระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการระดับภูมิภาค องค์กรสื่อมวลชนและแวดวงอื่นๆ ประมาณ 500 คน ได้เสนอแนวคิดใหม่ในการส่งเสริมนโยบาย Belt & Road (B & R) และ Lancang- Mekong Cooperation (LMC) โดยต้องยึดมั่นในจิตวิญญาณของเส้นทางสายไหมด้วยการร่วมมือกันอย่างสันติ การเปิดกว้างและความอดทนในการเรียนรู้ร่วมกัน และแสวงผลประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้ ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งรวมถึงประเทศไทยและจีน มีข้อได้เปรียบในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานและความทันสมัยทางการเกษตร ทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนทางธรรมชาติ ผู้เข้าร่วมจากทั้งจีนและไทยทุกคนหวังว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการก่อสร้าง B & R ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาประเทศไทย 4.0 และ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจและการค้า e-commerce, การเกษตร, การศึกษา, การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งเราควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสองประเทศในสาขาต่างๆเพื่อขยายไปสู่ระดับที่กว้างขึ้นในวงกว้างและระดับลึก นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมวิสาหกิจและสถาบันต่างๆในจีนและประเทศไทยยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต

ขณะเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มกลไกสำหรับ “B & R” และ LMC ในภาคเหนือของประเทศไทย การประชุมนานาชาติเรื่อง Belt and Road Initiative Lancang-Mekong Cooperation: New Era and New Start ครั้งที่สองครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกซึ่งปัจจุบันประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงจีนและไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวที่สำคัญของโลก

ขณะที่นาย Zhang Jiuhuan Former Ambassador to the Kingdom of Thailand and Member of Foreign of Foreign Policy Advisory Committee, Foreign Ministry of China อดีตเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรไทยและสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวตอนปาฐกถาพิเศษว่า ในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 2 ล้านคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และมาเรียนหนังสือที่ภาคเหนือมากกว่า 7,000 คน และไทยก็เป็นที่นิยมของคนจีนมาก จนกระทั่งมีการทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และวัยรุ่นของทั้งสองประเทศยังสามารถสื่อสาร ร่วมแบ่งปันความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตได้

ในปี 2018 เป็นปีสำคัญของประเทศและการประชุมแม่โขง – ล้านช้าง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการแม่โขง-ล้านช้างระยะ 5 ปี และก้าวเข้าสู่ยุคใหม่และจุดเริ่มต้นใหม่ได้มีวิวัฒนาการ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศได้จัดตั้งสำนักงานเลขาธิการแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อประสานงานร่วมความร่วมมือ และโครงการนี้ยังได้ร่วมส่งเสริมนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางซึ่งจีนได้ร่วมแบ่งปัน ในการเกื้อกูลและเป็นหุ้นส่วนโดยธรรมชาติ ซึ่งจีนได้ใช้เจตนารมย์เส้นทางสายไหมในการเปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่าง เรียนรู้ ร่วมสร้างและร่วมแบ่งปันให้กับประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้พัฒนาส่งเสริมการค้า การลงทุน การศึกษาและจิตใจของประชาชนทั้ง 6 ประเทศ

ซึ่งความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างต้องเชื่อมกับนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทาง และเชื่อมกับยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของไทยด้วยเช่นกัน ในปี 2017 ยอดมูลค่าการค้าของจีนกับ 5 ประเทศสูงถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 10% การลงทุนของจีนข้ามประเทศมีมูลค่าถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ใน 6 ประเทศกว่า 300 สาย ประชาชนกว่า 20 ล้านคนเดินทางไปมาหาสู่กัน ด้วยเหตุนี้การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 6 ประเทศจะต้องเป็นเพื่อน เป็นหุ้นส่วนและเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันด้วย และตอนนี้สถานการณ์ของประเทศต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า ระบบบริหารกำลังปรับตัวเชิงลึก การเป็นรัฐฝ่ายเดียวและการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ระบบพหุการค้าเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจอย่างหนักซึ่งเราควรจะร่วมมือกัน และจีนเองก็มีคำตอบที่ชัดเจนในการประชุมฟอรั่มที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีสีเจี้ยนผิงได้ประกาศจริงจังว่าประตูของจีนจะต้องเปิดกว้างต่อไป           ในการเปิดประเทศเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีของการปฏิรูปประเทศจีน เป็นการให้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า ถ้าจะพัฒนาต้องก้าวหน้าตามประวัติศาสตร์ ซึ่งจีนจะร่วมมือ ร่วมแรงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออนาคตอันสดใสของมวลมนุษยชาติ.

 

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้