เชียงใหม่เผยแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 63 ใช้ค่า pm2.5 เฉลี่ย 24 ชม.25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.

เชียงใหม่เผยแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 63 ใช้ค่า pm2.5 เฉลี่ย 24 ชม.25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.

จังหวัดเชียงใหม่เผยแผนแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 63 ใช้ค่าคุณภาพอากาศตามที่ WHO กำหนด pm2.5 เฉลี่ย 24 ชม.25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.โดยใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy ที่มีอยู่ครอบคลุมพื้นที่

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.62 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่     นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ครั้งที่ 3/2562

โดยมีวาระเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้นายสมคิด ปัญญาดี เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความคืบหน้าในที่ประชุมว่าการแก้ปัญหาหมอกควันในปี 2563 จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคในเมืองซึ่งจะเกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก กับภาคป่า ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาไฟป่า โดยจะโฟกัสไปที่ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนประชาชนหากการตรวจวัดคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจะใช้ค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO  กำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม. ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. ทั้งนี้จะใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy ที่มีอยู่ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า จะแบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย โดยในเขตป่าไม้และอุทยานแห่งชาติซึ่งจากสถิติปีที่ผ่านมาพบว่ามีการเผาสูงมากถึงร้อยละ 80 จะเป็นหน้าที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่จะควบคุมดูแล สำหรับพื้นที่เกษตร จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดที่จะควบคุมดูแลเรื่องการไม่ให้เผาเศษวัสดุทางการเกษตร แต่จะนำเศษวัสดุมาทำประโยชน์เช่น อาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยหมัก

ในส่วนของพื้นที่ชุมชน จะเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัด และในด้านสาธารณสุข ซึ่งจะดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น จะใช้ค่าคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกใช้ โดยค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม.มาตรฐานต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้เครือข่ายเครื่องวัดของ CMAQI และ Dustboy และจะมีการติดตั้งระบบเตือนภัยแบบ On Ground โดยใช้ธงสีเป็นสัญลักษณ์ ทั้งนี้ในคณะกรรมการทั้ง 4 ชุดนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนร่วมด้วย

ทางด้านนายวิทยา ครองทรัพย์ กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางภาคเอกชนได้เสนอให้มีคณะกรรมการระดับชาติ และผลักดันCAA (Clean Air Act)ตามมติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนหรือ กกร. เมื่อ 15 สิงหาคม 2562 อย่างไรก็ตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่น่าพอใจคือการที่หน่วยงานราชการยอมใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากค่าที่ตรวจวัดได้เกินกว่าค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้แจ้งเตือนประชาชนได้ทันที

กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามทางภาคเอกชนต้องชื่นชมทางสถาบันวิจับสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก(pm2.5)ครบทั้ง 204 ตำบล และ Dust boy โดยกรมอนามัยติดตั้งเกือบ 200 จุดในภาคเหนือ ซึ่งหากขยายได้ จะทำให้รัฐปรับวิธีการแก้ไขปัญหาเหมือนแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควันปี 2563 ของจังหวัดเชียงใหม่ และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ค่ามาตรฐานตามที่ WHO กำหนดเพียงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเดียวแต่ก็ถือเป็นความคืบหน้าที่ดี และหากมีการเชิญชวนภาคเอกชนในจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือติดตั้งเครื่องวัด pm2.5 เครื่องละ 2,500 ให้ครอบคลุมทุกตำบล ก็จะเป็นแรงกดดันให้จังหวัดนั้นๆ ให้ใช้ค่าวัดpm 2.5 ด้วย ซึ่งจะสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและส่งผลให้การเผาลดลงไปได้ในอนาคตด้วย

ขณะที่นายปัณรส บัวคลี่  หนึ่งในแกนนำภาคประชาสังคมได้รายงานผลการประชุมร่วมภาคเอกชน ประชาชน และภาควิชาการเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน วันนี้ 16 ส.ค. 2562  ณ สำนักงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เชียงใหม่ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากแกนนำของภาควิชาการ ภาคประชาชน และกกร. หอการค้าจังหวัด เห็นตรงกันว่าควรจะมีองค์กรร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดการประสานงานที่กระชับ สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว เพื่อจะผลักดันและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นควันต่อภาครัฐ  อีกทั้งเพื่อให้สะดวกต่อการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐอาจจะติดขัด ประเด็นหลักที่หารือคือมาตรฐานค่ามลพิษอากาศของเชียงใหม่ โดยจะมีการก่อตั้งองค์กรร่วมขึ้นมา จากสมาชิก 4 ฝ่าย คือฝ่าย วิชาการ / สาธารณสุข/ เอกชน-ธุรกิจ / และภาคประชาชน+เอ็นจีโอ โดยเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ Chiang Mai Breath Council ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเปิดตัวและขับเคลื่อนในโอกาสต่อไป.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้