อบจ.เชียงใหม่สนับสนุนรถตรวจหาเชื้อโควิดฯให้จังหวัดเชียงใหม่นำไปตรวจคัดกรองเชิงรุก คัดแยกผู้ติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกล รู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง

อบจ.เชียงใหม่สนับสนุนรถตรวจหาเชื้อโควิดฯให้จังหวัดเชียงใหม่นำไปตรวจคัดกรองเชิงรุก คัดแยกผู้ติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกล รู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง

อบจ.เชียงใหม่สนับสนุนรถตรวจหาเชื้อโควิดฯให้จังหวัดเชียงใหม่นำไปตรวจคัดกรองเชิงรุก คัดแยกผู้ติดเชื้อในพื้นที่ห่างไกล รู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง “พิชัย”เผยเตรียมกู้อีก 370 ล้านบาทจัดหาวัคซีน Mrna  สร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวเชียงใหม่ แจงวัคซีนโมเดอน่าให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ยันไม่มีเปิดลงทะเบียนหรือล่ารายชื่อตามข่าวลือ

เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมสภาอบจ.เชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย โควิด-19” ระหว่างนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ กับนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายธัชพล อภิรติมัย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และนายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารอบจ.เชียงใหม่ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.)จังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน ก็จะช่วยทำให้สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เองในขณะนี้พบการแพร่ระบาดทั้งในพื้นที่และนำเข้าจากต่างพื้นที่ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เร็วที่สุดคือการแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ยังไม่ติด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

“จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่กว้างขวางและมีพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร แต่ก็ยังพบปัญหาการแพร่ระบาดที่มีคนนำเชื้อเข้าไปแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชน ดังนั้นการคัดกรองโดยการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกลก็มีความสำคัญอย่างมาก ถ้าหากสามารถตรวจคัดกรองได้เร็ว ก็สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น”ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ด้านนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยที่ผ่านมาได้ขออนุมัติสภาฯใช้เงินทุนสำรองสะสมจำนวน 260 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกโมเดอน่าจากสภากาชาดไทย และได้รับการจัดสรรจากสภากาชาดไทยจำนวน 1 แสนโดสรวมเป็นเงิน 110 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะจัดส่งมาให้ในช่วงเดือนต.ค.นี้ ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนจะเป็นไปตามเงื่อนไขของสภากาชาดไทยที่กำหนดไว้ใน 5 กลุ่ม และทางอบจ.เชียงใหม่ได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

“หากวัคซีนโมเดอน่าจัดส่งมาทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง อบจ.เชียงใหม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและยืนยันว่า ไม่มีการไปล่ารายชื่อคนที่จะมาฉีดหรือเปิดให้มีการลงทะเบียนใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับการลงทะเบียนที่มีการส่งต่อกันนั้นเป็นช่วงแรกที่อบจ.เชียงใหม่ได้รับการประสานจากภาคเอกชนซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกที่เพิ่งจัดซื้อครั้งนี้ และผมได้หารือกับทางผู้ว่าฯและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ไปแล้วว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาวัคซีนทางเลือก MRNA ทางอบจ.เชียงใหม่ก็พร้อมที่จะกู้เงินจากกองทุนจำนวน 370 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนMrna นั้นจะมี 5 หน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่สั่งซื้อได้ และถ้าหน่วยงานดังกล่าวจะสั่งซื้ออบจ.เชียงใหม่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบฯเพื่อนำวัคซีนนั้นมาฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพี่น้องประชาชน”นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวและว่า

ในวันนี้ทางอบจ.เชียงใหม่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงที่จะสนับสนุนรถตรวจหาเชื้อ ซึ่งจะเป็นรถ SWAP 2 คันๆ ละ 1 ล้านบาท และรถตรวจหาเชื้อ(LAB)คันละประมาณ 4 ล้านบาทจำนวน 1 คัน รวมเป็นเงินประมาณ  6 ล้านกว่าบาท เพื่อที่จะได้สนับสนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดฯในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้เร็วที่สุด

ขณะที่นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิดจะทำได้เร็วต้องตรวจเชื้อให้เร็วที่สุดด้วย รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้ประชาชนได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด การบริหารจัดการที่เร็วและไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งคนเชียงใหม่เองจะต้องไม่เลือกและรอนานเกินไป หากมัวแต่เลือกวัคซีนและรอเวลาไม่แน่ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ยังรอวัคซีนอาจจะติดเชื้อได้

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อหรือแลปของเชียงใหม่ถือเป็นหนึ่งในอีกหลายจุดของประเทศที่พัฒนาได้เร็ว ซึ่งการตรวจแลปในรอบการระบาดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาการตรวจหาเชื้อต้องมีการเข้าคิวถึงวันละ 4,000 คนทำให้กว่าจะทราบผลใช้เวลา 2-3 วันและในช่วงที่ผลตรวจยังไม่ออกก็ทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้ออีก ปัจจุบลันได้มีการเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อให้รวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลนั้นเราใช้ประสบการณ์ในการต่อสู้ที่ผ่านมา และจากการศึกษาของพื้นที่ตัวอย่างเช่นกวางโจว ที่สามารถควบคุมโรคได้ภายใน 1 เดือนโดยส่งโมบายลงพื้นที่

“ครั้งนี้อบจ.เชียงใหม่สนับสนุนรถโมบายเคลื่อนที่ให้ เป็นรถSWAP 2 คันและรถตรวจLAB อีก 1 คันซึ่งรถโมบายนี้จะลงพื้นที่คัดกรองเชิงรุกพร้อมกันโดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 24 ชั่วโมงจะต้องได้ผลตรวจหาเชื้อ และภายใน 24 ชั่วโมงก็นำคนที่ผลเป็นบวกเข้ารับการรักษา เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกเป็นวงกว้าง”นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและว่า

ในขณะนี้มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกจึงมีความสำคัญต้องทำต่อเนื่องและรวดเร็ว และขณะนี้มีการล็อคดาวน์พื้นที่กรุงเทพและอีกหลายจังหวัดที่มีการระบาดสูง ประกอบกับการปูพรมฉีดวัคซีนให้เร็วและมากที่สุด ก็เชื่อว่าต่อไปเคสผู้ติดเชื้อนำเข้าของเชียงใหม่จะเริ่มลดลงและในพื้นที่เองก็จะเริ่มดำเนินการตรวจเชิงรุกในทุกพื้นที่ด้วย

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับผู้ป่วยสีเขียวการรองรับยังมีเตียงมากพอ เพราะมีการเตรียมโรงพยาบาลสนามในระดับพื้นที่ด้วย ซึ่งเชียงใหม่ทำมาแล้วในหลายจุดและได้ผล แต่ที่มีปัญหาคือเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองซึ่งจะต้องมีการเพิ่มจำนวนซัพพลายทั้งออกซิเจนและแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งตอนนี้เชียงใหม่เองก็มีการสนับสนุนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไปสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีวงรอบทุก 15 วัน ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดทั้งในพื้นที่และการส่งบุคลากรไปสนับสนุนด้วยเช่นกัน.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้