สภาพลเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา 18 ชุมชนโชว์แผนแม่บท แผนปฏิบัติการที่จะร่วมกันดูแลและพัฒนาคลองแม่ข่า

สภาพลเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา 18 ชุมชนโชว์แผนแม่บท แผนปฏิบัติการที่จะร่วมกันดูแลและพัฒนาคลองแม่ข่า

เปิดเวทีสภาพลเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา 18 ชุมชนโชว์แผนแม่บท แผนปฏิบัติการที่จะร่วมกันดูแลและพัฒนาพื้นที่ ขณะที่บ.วิสาหกิจเพื่อสังคมร่วมสนับสนุนกองทุนดูแลแม่ข่า ด้านภาครัฐชี้การแก้ปัญหายั่งยืนทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.61 ที่ห้องประชุมเทศบาลนครเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ อดีตผวจ.เชียงใหม่,นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานชลประทานเชียงใหม่ ,นายไพรัตน์ โตวิวัฒน์ ผอ.บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมเชียงใหม่จำกัด (CSE) ,4.ผู้แทนคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.),ผู้แทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ,ผู้แทนสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่และผู้แทนชุมชนสองฝั่งคลองแม่ข่าและคลองสาขา จำนวน 27 ชุมชน รวมถึงภาคประชาสังคมกับประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมเปิดเวทีสภาพลเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 /2561

นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานสภาพลเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่ ในเรื่องของคลองแม่ข่าเกิดขึ้นจากการตื่นตัวของคนเชียงใหม่ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแม่ข่า ซึ่งเกิดการตื่นตัวหลังจากที่จังหวัดเชียงใหม่เสนอตัวเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งตนได้นำความเห็นส่วนตัวไปโพสต์ในเฟสบุ๊คว่า การที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองมรดกโลกได้ ขอให้ทำคลองแม่ข่าให้ใสให้ได้ก่อน เพราะการพิจารณาจะดูด้วยว่าภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง

จากนั้นก็มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเองก็สนใจประเด็นนี้เช่นกัน เพราะน้ำเน่าเสียในคลองแม่ข่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา และตลอดที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น 2 พลังที่เข้มแข็งและจะช่วยในการขับเคลื่อนได้สภาพลเมืองเชียงใหม่มองว่าต้องมีภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมหรือประชาชนมาร่วมกันขับเคลื่อนด้วย

ประธานสภาพลเมืองเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เวทีนี้เป็นความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ และภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นสำคัญของเมืองเชียงใหม่มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน มีทั้งเรื่องของการพัฒนาคลองแม่ข่า การแก้ไขปัญหาโคมลอยหรือโคมไฟในเทศกาลยี่เป็ง และเรื่องการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของคลองแม่ข่า

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาคลองแม่ข่าจะต้องร่วมกันกับหลายภาคส่วนเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่า ส่วนราชการ รวมทั้งสภาพลเมือง ซึ่งตนได้เคยไปสำรวจที่ชุมชนคลองเงินมาแล้วและห้ามไม่ให้ทิ้งสิ่งสกปรกลงในคลองแม่ข่า เพราะคลองแม่ข่าเห็นชัยยะมงคลของเชียงใหม่

“คนเราทุกคนต้องมีจิตสำนึก มีประธานชุมชน 2 ฝั่งคลองรวมทั้งหมด 27 ชุมชน ก็อยากฝากให้ช่วยกันดูแล ร่วมมือกันซึ่งทางมทบ.33 จะเป็นแม่ข่ายหลักที่ประสานการทำงาน ผมอยากให้คลองแม่ข่าเหมือนกับกรุงเทพฯ ที่สัญจรทางน้ำได้ แต่เชียงใหม่มีเอกลักษณ์คือวัฒนธรรมอันเก่าแก่กว่า 700 ปี แม้ผมจะเป็นคนร้อยเอ็ดแต่ก็รักเชียงใหม่ สิ่งที่อยากจะฝากไว้อีกเรื่องคือรากเหง้าของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม อยากให้ช่วยกันรักษาไว้ทั้งแต่งเมือง อู้เมือง และอีกเรื่องคือฝากดูแลเมืองเก่าของเชียงใหม่ไว้ด้วย”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ทางด้านนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ อดีตผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มีแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่ามานาน ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งผวจ.เชียงใหม่ก็มีการตั้งคณะกรรมการและลงสำรวจสภาพปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้ได้ผลอย่างยั่งยืนจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ต้องให้มีจิตสำนึกในการขับเคลื่อนรวมกัน

ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาปัญหา ซึ่งคลองแม่ข่ามีเส้นทางยาวกว่า 20 กม.ผ่านพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง เพราะฉะนั้นความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ในช่วงที่น้ำในคลองแม่ข่าเน่าเสียมากๆ ก็มีแนวคิดในการเอาน้ำดีมาไล่น้ำเสีย รวมถึงการเติมน้ำ ซึ่งมีแผนและโครงการที่ดำเนินการไปแล้วโดยทางสำนักงานชลประทานเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่าก็ต้องเป็นหู เป็นตาในการสอดส่องเพื่อไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงไปอีก

ในส่วนของตลาดสดที่มีการปล่อยน้ำเสียลงไป ก็ขอให้มีถังดักไขมัน เพื่อกรองก่อนปล่อยน้ำเสียออกไป รวมถึงครัวเรือนและสถานประกอบการริมคลองด้วย ส่วนนี้ทางท้องถิ่นก็ต้องกำกับดูแลด้วย หากทุกฝ่ายร่วมมือกันดูแลกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าอนาคตคลองแม่ข่าจะดีขึ้น

หลังจากนั้นตัวแทนเครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ได้ชี้แจงถึงแผนแม่บท แผลปฏิบัติการและกิจกรรมการดูแลและพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมว่า เครือข่ายฯนี้เกิดจากการประชุมแกนนำและตัวแทนคณะกรรมการชุมชนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา 18 ชุมชนประกอบด้วย บ้านท่อ เทียมพร ศรีลานนา หลิ่งกอก ป่าเพ็ง อุ่นอารี ช้างม่อย ช่างฆ้อง ระแกง กำแพงงาม หัวฝ่าย ฟ้าใหม่ ป่าแดด(ลำคูไหว) ทิพยเนตร ห้าธันวา ศรีปิงเมือง ศาลาแดงและนันทาราม ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาแผนการขับเคลื่อนการดูแลคลองแม่ข่าเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2560 เป็นต้นมา

จนกระทั่งมีฉันทามติ จัดตั้งเครือข่ายชุมชนดูแลคลองแม่ข่าและลำสาขาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2560 และก่อตั้งกองทุนดูแลแม่ข่าเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานดูแลคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาของชุมชนให้มีความเป็นเอกภาพ และมีพลัง จัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการและกิจกรรมการดูแลและพัฒนาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ให้ดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมและเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมการสนับสนุน และการส่งเสริมให้เกิดการดูแลและพัฒนาคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขาอย่างยั่งยืนร่วมกับทุกภาคส่วน

ขณะที่นายไพรัช โตวิวัฒน์ ผอ.บ.เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ทาง CSE พร้อมที่จะทำเรื่องดีๆ คืนสู่สังคม ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทและระดมทุนกันมา ซึ่งเรื่องของคลองแม่ข่าก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาร่วมสนับสนุนเงินทุน และเข้าร่วมสร้างโมเดลในการจัดการพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าทั้งระบบ โดยความร่วมมือ 4 ฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในการสนับสนุนข้อมูล เพื่อออกแบบภาพใหม่ของคลองแม่ข่า พร้อมแผนปฏิบัติการเพื่อทำให้คลองแม่ข่ามีสภาพที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน.

 

 

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้