รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก-เมียวดี

รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก-เมียวดี

- in Exclusive, headline, เศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ            เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก-เมียวดี

 

ผวจ.ตาก เน้นย้ำคณะทำงานขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษพัฒนาให้เชื่อมโยงและเกื้อกูลประเทศเพื่อนบ้าน และให้เพิ่มศักยภาพ-โอกาสการลงทุนของ SMEs และการเปิดโอกาสให้เอกชนในพื้นที่ ขณะที่เมียวดีเทรดโซนคึกคัก การลงทุนและการพัฒนาโตอย่างต่อเนื่อง

การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจและติดตามความก้าวหน้าในการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2561ของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา

โดยในส่วนของไทยนั้น ได้มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด่านศุลกากรที่มีถึง 10 โครงการวงเงิน 5,146.87 ล้านบาท โดยรวมถึงการก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 และโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์โลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 การขยายสนามบินแม่สอดให้มีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายสนิท ทองมา  ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงตากที่ 2 (แม่สอด) กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด แล้วเสร็จตอนที่ 1-2 ตอนที่ 3 ผลงาน 95% ตอนที่ 4 ผลงาน 36.37% โดยเส้นทางนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 130 และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย (สะพานมิตรภาพไทย-พม่า) แห่งที่ 2 พร้อมโครงข่ายขณะนี้ผลงาน 100% ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่ถนน ผลงาน 91.95% และการก่อสร้าง border facility control : BCF ผลงาน 15.61% โดยโครงการจะแล้วเสร็จปี 2562

สำหรับโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด ในปี 2561 โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ผลงาน 86.65% โครงการก่อสร้างทางวิ่ง ลานจอดอากาศยาน และเสริมผิวทางวิ่งเดิม ผลงาน 82.66% จัดซื้อที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง พืชผล จำนวน 306 ไร่ จัดซื้อแล้ว 65% ของพื้นที่ที่ต้องการ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน) งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งขนาด 45×2,100 เมตร ผลงาน 0.98% โดยโครงการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จปี 2562

ในขณะที่ฝั่งเมียนมา ด้านเมียวดีซึ่งถือว่ามีบทบาททางการค้าเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประตูเข้าออกของสินค้าไทยและเมียนมาร์ เพื่อเข้าสู่ย่างกุ้งและประเทศไทยรวมทั้งบริเวณใกล้เคียงด้วย และเมียวดียังเป็นเมืองก่อนเมืองสุดปลายทางของระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (EAST-WEST ECONOMIC CORRIDOR : EWEC) เมืองสุดท้ายของเส้น EWEC คือ เมาะละเหม่ง เส้น EWEC นี้เชื่อมระหว่างเวียดนาม ลาว ไทย และเมียนมาร์

เมียวดีเป็นแหล่งการค้าและผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศที่ติดกับประเทศไทย เพราะมีเขตการค้าเมียวดี (MYAWADDY TRADE ZONE) และเขตอุตสาหกรรมเมียวดี (MYAWADDY INDUSTRIAL ZONE) เขตการค้าเมียวดีมีเนื้อที่ 1,150 ไร่  เขตการค้านี้ทำหน้าที่เป็นด่านจุดตรวจสอบสินค้าเข้ามาจากประเทศไทยหรือสินค้าส่งออกจากเมียนมาร์ไปประเทศไทย รถขนส่งจะต้องการเปลี่ยนถ่ายสินค้ากันที่นี่

นายพงค์ชัย ตันอรุณชัย รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า บริเวณเขตการค้าเมียนมาร์ จะแบ่งออกเป็น EXPORT ZONE ซึ่งเป็นการตรวจสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศไทยและ IMPORT ZONE ซึ่งเป็นการตรวจสินค้าที่น้ำเข้ามาจากประเทศไทย จะเห็นได้ว่าเขตการค้าเมียวดีนั้นเน้นที่การส่งออกสินค้าระหว่างสองประเทศ หน่วยงานที่อยู่ ได้แก่ DEPARTMENT OF COMMERCE AND CONSUMER AFFAIRS, CUSTOM DEPARTMENT, DEPARTMENT OF INTERNAL REVENUE, MYANMAR INVESTMENT BANK, DEPARTMENT OF IMMIGRATION และ MYANMAR POLICE FORCE

เมียวดี ยังมีเขตอุตสาหกรรมเมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดน 11 กิโลเมตร บนถนนเมียวดี – กอกาแระ ครอบคลุมพื้นที่ 786 ไร่ นอกจากเหตุผลของการมีเขตอุตสาหกรรมที่จะผลักดันให้เมียวดี กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างไทยกับเมียนมาร์แล้ว อีกเหตุผลที่สำคัญคือการเป็น “เมืองพี่เมืองน้อง (SISTER CITY)” กับแม่สอด ที่จะคอยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในแม่สอดที่มีหลายโรงงานตั้งอยู่ และต้องอาศัยแรงงานจากเมียวดี และเมืองอื่นๆ ของเมียนมาร์

รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทั้งภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของเมืองเมียวดี นับว่าเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านธุรกิจโรงแรม ธนาคารขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นางสาวสุภา จักรเจริญทรัพย์ เหรัญญิกหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ที่ด่านตรวจสอบค้าเมียวดีนี้ปกติถ้าไม่ใช่วันจันทร์จะเห็นคิวรถที่มาจอดรวมทั้งคนมายื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบยาวเหยียด เนื่องจากที่กรุงเทพฯจะหยุดทำงานวันอาทิตย์จึงทำให้รถบรรทุกที่รอส่งสินค้าไปพม่าน้อยลง แต่รถบรรทุกจากฝั่งพม่าที่ข้ามไปยังฝั่งไทยจะมีประมาณ 5 คันที่ผ่านทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 ซึ่งด่านนี้นอกจากขนส่งสินค้าแล้วก็ยังมีเรื่องแรงงานด้วย

อย่างไรก็ตามด่านแม่สอดถือเป็นด่านการค้าที่สำคัญ ที่มีการขนส่งสินค้าจากฝั่งไทยเข้าไปย่างกุ้ง ซึ่งผ่านที่เมียวดีไปย่างกุ้งระยะทางเพียง 450 กิโลเมตรและจากแม่สอด-กรุงเทพฯประมาณ 500 กิโลเมตร ตอนนี้ที่เมาะละแหม่งเองก็มีการปลูกยางพาราจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่แม่สอดขณะนี้ธุรกิจโรงแรมก็เกิดขึ้นมาก ในช่วงวันหยุดจะพบนักธุรกิจพม่าเข้ามาท่องเที่ยวและช้อปปิ้งกันมาก ส่วนสินค้าจากประเทศที่ 3 ก็จะส่งออกผ่านด่านแม่สอดเข้าเมียวดี ซึ่งขณะนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากมูลค่าการค้าเมื่อปี 2559 ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาทก็เพิ่มเป็น 33,000 ล้านบาทในปี 2560

แม้ว่ารัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก แต่ในส่วนของภาคเอกชนเอง นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ที.เค.การ์เม้นท์ แม่สอด จำกัด ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลประกาศตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แต่จะเห็นว่านโยบายดังกล่าวไปสนับสนุนภาคเอกชนรายใหม่ โดยสิทธิพิเศษที่ให้จะให้กับนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษตากใน 3 อำเภอ 23 กลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 50 กิจการ ก็มองวั่ฐบาลไปเน้นผู้ประกอบการรายใหม่และเอาเรื่องสิทธิประโยชน์ไปผูกกับบีโอไอ ทำให้ผู้ประกอบการที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก่อนถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้

“สำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรายเดิม ถ้าอยากจะได้สิทธิประโยชน์ก็ต้องขอขยายการลงทุน โดยยื่นกับบีโอไอซึ่งจะต้องมีรายละเอียด ข้อกำหนดตามที่กำหนดถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามเงื่อนไข ซึ่งข้อเท็จจริงอย่างของทีเคการ์เม้นท์เองก็เคยยื่นบีโอไอมาก่อนเมื่อปี 2537 แต่พอย้ายจากสถานที่ตั้งเดิมที่อยู่หลังโรงพยาบาลแม่สอดมาในที่ตั้งปัจจุบันสิทธิประโยชน์นั้นก็ยกเลิกไป เพราะไม่สะดวกเนื่องจากขั้นตอนที่มาก และเมื่อรัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุน แทนที่จะทำให้ภาคเอกชนที่ลงทุนใน 14 ตำบล กิจการที่รัฐบาลสนับสนุน 23 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวด้วยแต่ก็ไม่ทำ แต่เอาสิทธิประโยชน์ไปผูกไว้กับบีโอไอ ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอแนะไปแล้วแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ”ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญและจะขับเคลื่อนได้ดี โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากเกษตร เนื่องจากวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่ หรือเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เพราะในส่วนของทีเคการ์เม้นท์เองก็ไปปักหลักที่นิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ ที่กัมพูชาในช่วงที่ไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทแล้ว เพราะอุตสาหกรรมการ์เม้นท์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเชื่อว่าหากยังมีการปรับขึ้นค่าแรงไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 5 ปีอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นก็จะย้ายฐานการผลิตไปหมด โดยเฉพาะข้ามไปลงทุนในฝั่งเมียนมา ซึ่งขณะนี้ทางฝั่งโน้นก็กำลังมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบในการดูแลแรงงานของเค้า หากไทยยังไม่มีมาตรการก็อาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก จะไปได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับกลไกและนโยบายของรัฐ ซึ่งในส่วนของนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากเป็นพื้นที่มีศักยภาพการลงทุนสูง และได้เน้นย้ำให้คณะทำงานขับเคลื่อนในแต่ละด้าน เน้นพัฒนาให้เชื่อมโยงและเกื้อกูลกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ อาทิ การเพิ่มศักยภาพ/โอกาสการลงทุนของ SMEs และการเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอโครงการลงทุนและรัฐพิจารณาสนับสนุนโครงการ/มาตรการที่เหมาะสม รวมถึงพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตามจุดเน้นการพัฒนาในพื้นที่ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางฯ ให้บรรลุผลต่อไปด้วย.

 

ณัชชา  อุตตะมัง  รายงาน.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้