รัฐมนตรีทส.ยอมรับแก้ไฟป่าหมอกควันล้มเหลว เตรียมเสนอใช้โครงสร้างแบบโควิดฯแก้ปัญหาไฟป่า

รัฐมนตรีทส.ยอมรับแก้ไฟป่าหมอกควันล้มเหลว เตรียมเสนอใช้โครงสร้างแบบโควิดฯแก้ปัญหาไฟป่า

“วราวุธ”ยอมรับแผนป้องกันไฟป่าและหมอกควันล้มเหลวจริง แต่ไม่ได้อยากให้เกิด เผยปีนี้พื้นที่ป่าไหม้เสียหายเยอะ เจ้าหน้าที่มีน้อยดูแลไม่เพียงพอ ชี้ปีหน้าท้องถิ่นต้องมีกลไกเข้าไปบริหารจัดการทั้งตั้งงบและดับไฟ ในขณะที่ปลัดทส.เตรียมเสนอแผน New Norm ใช้โครงสร้างเดียวแบบควบคุมการระบาดไวรัสโควิดมาแก้ปัญหาไฟป่า

วันที่ 20 พ.ค.63 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานมอบนโยบายการถอดบทเรียนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือปี 2563 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่และรองผวจ.ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมประชุมระดมความเห็นและถอดบทเรียนด้วย

นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในแต่ละปี และต้นตอของปัญหาต่างกัน เงื่อนไขต่างๆ ก็ต่างกัน อย่างไรก็ตามขอให้นำบทเรียนปีนี้มาประมวลผล เพื่อให้ปีหน้าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีนี้ ทั้งนี้เวทีนี้เป็นเวทีที่เปิดให้ทุกฝ่ายทั้งภาคราชการ พี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคมจะต้องมาคุย มาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่มีใครผิด ใครถูก แต่ไฟป่าก็เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้มีใครอยากให้เกิดขึ้น

“ตอนที่เครื่องบินร่อนลงสนามบินเชียงใหม่ สังเกตดอยสุเทพมองเห็นได้ชัดเจน ก็ดีใจ แต่สำหรับบางกลุ่ม บางคน เป้าหมายอาจจะต่างกัน แต่สำหรับกระทรวงทรัพย์ฯ เป้าหมายคือลดหมอกควัน คืนอากาศสดใส และพรุ่งนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจะมารับฟังการสรุปและถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่า ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควัน ไฟป่าเป็นอันดับต้นๆ”รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวและว่า

ปัจจุบันประเทศไทยเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเจอมาก่อน นายกรัฐมนตรีและทุกฝ่ายกำลังระดมสรรพกำลังเพื่อให้คนไทยปลอดภัยและแข็งแรง สำหรับปัญหาไฟป่า หมอกควันนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน แต่ไม่สามารถมาปรากฏตัวได้ในทุกๆ ที่ได้ แต่จังหวัดเชียงใหม่ ผมและทีมงานขึ้นมาถี่มาก ได้เดินลุยป่า ตั้งแต่ดอยปุยถึงสะเมิง  เกิดมาก็ไม่เคยเดินมากขนาดนี้มาก่อน วันนี้ผมขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยแบบปีนี้อีก

ด้านนายประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือปีนี้แย่กว่าที่ผ่านมา และมีไฟไหม้ในพื้นที่มาก แต่จุดความร้อน(Hot Spot)ลดลงจากปีก่อน จำนวนวันที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานก็มากกว่าปีที่ผ่านมา

“การประชุมถอดบทเรียนในปีนี้ ช่วงเช้าเป็นของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งได้นำเสนอบทเรียนค่อนข้างดีมาก ช่วงบ่ายมีพี่น้องชนเผ่า องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน ประชาสังคมมาร่วมสรุปบทเรียนด้วยกัน และที่เห็นพ้องกันคือต้องมอบภารกิจให้ชัดเจนคือการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะผู้ที่จะรู้ปัญหาได้ดี คือประชาชนในพื้นที่ เมื่อระดับทำงานในพื้นที่มีอำนาจ มีงบประมาณก็จะสามารถแก้ปัญหาได้”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าการจัดการเชื้อเพลิงอย่างไรก็ต้องมี เพราะประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาเชื้อเพลิงสะสมมาก แต่สำหรับปีนี้พื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ไม่เคยเกิดก็เกิดไฟ อย่างเช่นพื้นที่อุทยานดอยสุเทพ-ปุย เพราะมีการสะสมของปริมาณเชื้อเพลิง และรองผวจ.ในจังหวัดอื่นก็ให้ความเห็นแบบเดียวกันว่าจำเป็นต้องมีการบริหารเชื้อเพลิง ยกตัวอย่างเชียงรายจุดความร้อนปีนี้มีน้อยแต่ค่าฝุ่นสูง ซึ่งสาเหตุจากฝุ่นควันข้ามแดนด้วย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดระเบียบการเผา ควรอยู่ภายใต้กติกาของผวจ. ซึ่ง 97-98% เห็นด้วย และเวลาเกิดไฟไหม้เหมือนปีนี้ 90% เกิดในเขตอุทยานและป่าไม้ ซึ่งจริงๆ พื้นที่เหล่านี้ได้ผ่อนผันให้เข้าไปทำกิน เพราะฉะนั้นจะต้องพิสูจน์ทราบให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตามทางภาคประชาชนอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและร่วมทำแผน ซึ่งภาครัฐก็ให้โอกาสมาโดยตลอด แต่ภาคประชาชนอยากร่วมบูรณาการและทำแผนกับภาครัฐ ซึ่งวันนี้จะมีการสรุปบทเรียนไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด เพื่อที่จะได้นำเสนอพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะได้นำเขาครม.พิจารณาต่อไป

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ต้องแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน ซึ่งวนเวียนอยู่แบบนั้น สำหรับบทเรียนที่ได้ในปีนี้และที่จะนำเสนอต่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่ครม. เป็นรูปแบบ New Norm โดยใช้ลักษณะการบริหารสถานการณ์แบบเดียวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ซึ่งในระดับชาติหรือประเทศทางส่วนกลางหรือศบค.เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่การบริหารในระดับพื้นที่ก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารในฐานะคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด

ที่ผ่านมา แม้จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นซิงเกิ้ลคอมมานแต่การบริหารจัดการไม่ชัด จนกระทั่งมีการใช้พ.ร.บ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนซึ่งให้อำนาจผวจ.และภารกิจที่ชัดเจน ทั้งการออกคำสั่งห้ามเข้า- ออกพื้นที่ป่า และหากต้องการมีปัญหากระทบวงกว้างก็สามารถสวิงกำลัง โดยใช้กำลังจากส่วนกลางมาช่วยในกรณีที่เกินกำลังความสามารถในระดับจังหวัดที่จะทำได้ ซึ่งทางหน่วยงานส่วนกลางจะจัดเจ้าหน้าที่มาประจำเพื่อช่วยสนับสนุนทั้งกำลังพลและเครื่องมือ อุปกรณ์ให้

“การสรุปบทเรียนต้องได้คำตอบด้วยว่า ที่ผ่านมาได้สั่งให้นำกำลังลงฝังตัวในหมู่บ้านแล้วเป็นอย่างไร ผลการดำเนินการที่ผ่านมายังมองไม่เห็น มีแต่รายงานว่าดีครับ แต่ไม่เห็นภาพ 2-3 เดือนยังไม่เห็นรายงานผลการปฏิบัติ 1,000 กว่าหมู่บ้านเลย โควิด-19 มาแล้วก็ไป แต่เรื่องไฟป่าหมอกควันยังอยู่กับเราต่อไป การแก้ไขต้องมีประสิทธิภาพ ทสจ. ต้องรับผิดชอบ ในขณะนี้สิ่งแวดล้อมจังหวัดต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วย รวมทั้งโครงสร้าง อำนาจ ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็มานั่งบ่นให้ฟังกันเองแล้วก็ไม่มีอะไร ไม่ใช่มาพูดแค่ว่า เกิดจากล่าสัตว์ บุกรุก เลิกได้แล้ว แต่ต้องมาหาทางแก้ไข ทหาร ตำรวจ จะได้ไม่ต้องทำคดีกว่า 1,000 คดี ซึ่งเป็นปลายเหตุ  ยังไม่เห็นรายงานในระดับพื้นที่ทุกจังหวัดเพื่อที่จะได้ประมวลผลการแก้ปัญหา หรือจำเป็นต้องเพิ่มกำลังเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นวันนี้จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการบริหารสั่งการต่างๆ ว่ามีความชัดเจนแค่ไหน โครงสร้างที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคต่อระดับพื้นที่หรือไม่ อุปกรณ์ เครื่องมือมีประสิทธิภาพและเพียงพอหรือไม่ อะไรที่มีความจำเป็นบ้างจะต้องมีการเรียบเรียงให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็จะวนเวียนอยู่ที่เดิม”นายจตุพร กล่าวและชี้แจงอีกว่า

เรื่องของการฟื้นฟูก็สำคัญ ปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร เรามีป่าชุมชนกี่แห่ง แต่ก็เห็นแล้วว่าพื้นที่ป่าชุมชนไหม้น้อยมาก เพราะฉะนั้นขอให้ขมวดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นปีนี้ออกมา และจะแก้ไขอย่างไรให้เสนอแนะออกมาด้วยเพื่อให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม อะไรคือสิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำ และตัวชี้วัดต้องมีเพราะการทำงานต้องมีตัวเปรียบเทียบด้วย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า พรุ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการมาร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าที่มีการเผาไหม้ไปหลายพื้นที่เมื่อต้นปี โดยจะเริ่มเร่งฟื้นฟูในป่าทั้งหมด แน่นอนเมื่อจะมีการฟื้นฟูป่าก็ย่อมมีคนพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิด เช่น การทุจริต แต่จากนี้ไปเราจะเริ่มต้นพื้นที่ป่าชุมชนก่อน โดยจะมีการระบุชัดเจนว่าจะปลูกพื้นที่ไหน พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ต้นไม้ 200 ต้น ทุกต้นที่ปลูกทั่วประเทศจะสามารถชี้แจงได้ว่าพื้นที่ใดและต้นไม้ใด จนถึงวันนี้เราปลูกต้นไม้ไปแล้ว 15 ล้านต้น เป้าหมายคือ 100 ล้านต้น ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีจากนี้ พรุ่งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาเป็นประธานเริ่มฟื้นฟูพื้นที่ป่าในภาคเหนือเพื่อที่ในอนาคตจะได้ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการเหตุการณ์ไฟป่าขึ้นอีก

“ในแต่ละจังหวัดมีข้อจำกัดต่างกัน เพราะสภาพปัญหาต่างกัน แต่ละจังหวัดจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริหารจัดการไฟป่าจังหวัด ซึ่งภารกิจดับไฟป่าคณะกรรมการกระจายอำนาจได้ถ่ายโอนภารกิจนี้ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากลไกในการทำงานไม่พร้อม งบประมาณก็ไม่พอ แต่จากนี้ไปแต่ละท้องถิ่นจะต้องไปตั้งงบประมาณแต่ละปีเพื่อเสนอผ่านจังหวัด เสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ท้องถิ่นทำภารกิจดับไฟป่าได้ เพราะเจ้าของพื้นที่ย่อมรู้สภาพปัญหาพื้นที่ดี ดังนั้นต่อไปทั้งงบและภารกิจที่ได้รับถ่ายโอนไปจะต้องใช้ให้คุ้มค่า ปีหน้าหนึ่งพันกว่าหมู่บ้านในภาคเหนือ 9 จังหวัดจะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน”รมว.ทรัพย์ฯ กล่าวและว่า

กลไกท้องถิ่นต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้กรมป่าไม้ของบประมาณในการดับไฟป่าได้ยากเพราะมีการโอนย้ายกำลังแล้วสู่มือท้องถิ่นแล้ว ผู้ว่าฯ ต้องไปแก้แต่ละอย่าง การที่สภาลมหายใจบอกว่าการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ผ่านมาของรัฐบาลล้มเหลวก็ยอมรับว่าสิ่งที่ได้วางแผนไว้ล้มเหลว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้เกิด คำพูดที่สวยหรูหรือสะใจของคนบางกลุ่มไม่ได้แก้ไขอะไร คนพูดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้พูด ต่อไปผู้ว่าฯจะต้องไปตั้งคณะทำงานเพื่อสร้างกลไก ทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ การทำไร่หมุนเวียนไม่ผิดแต่จะทำแบบเดิมไม่ได้

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวต่อด้วยว่า ในปี 62 เราตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้จากไฟป่า แต่กลับกลายว่าพื้นที่ที่ไม่เคยไหม้ก็ไหม้ เพราะฉะนั้นปีหน้าต้องตั้งเป้าให้พื้นที่ไฟไหม้ป่าลดน้อยลง พื้นที่ป่ามีเป็นล้านๆ ไร่ แต่จำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลมีจำกัด ซึ่งต่อไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าไปดูแล.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้