รัฐมนตรีคมนาคมขีดเส้น 30 วันให้อธิบดีกรมทางหลวงยกเลิกสัญญาผู้รับเหมาสร้างถนนชม.-ชร.ล่าช้า

รัฐมนตรีคมนาคมขีดเส้น 30 วันให้อธิบดีกรมทางหลวงยกเลิกสัญญาผู้รับเหมาสร้างถนนชม.-ชร.ล่าช้า

รมว.คมนาคมขีดเส้น 30 วันให้อธิบดีกรมทางหลวงชี้แจงเดินหน้าหรือยกเลิกสัญญาผู้รับเหมาสร้างทางป่าเมี่ยง-ปางน้ำถุที่ล่าช้าสร้างปัญหาผลกระทบ ย้ำหน่วยงานในสังกัดเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชานและบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น “ศักดิ์สยาม”ยันหนุนสร้างรถไฟฟ้า ระบุเชียงใหม่เมืองในฝันอยากให้โครงการเกิดได้จริง ชื่นชมงานสร้างทางช่วงดอยติ-เชียงใหม่งานเร็ว แก้ปัญหาเก่ง

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.62 ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมมอบนโยบาย  รับฟังปัญหา อุปสรรค พร้อมเร่งรัดการดำเนินงานในโครงการที่ล่าช้าของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายไพฑูรย์ พงษ์เชาวลิต ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 1 กล่าวว่า  กรมทางหลวงได้พัฒนาโครงข่ายภายในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง การเดินทางและท่องเที่ยวรวมทั้งการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดที่กำลังทำการก่อสร้างมีทั้งหมด 4 สายทางจำนวน 7 โครงการวงเงินงบประมาณรวม 4,447 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ตอนดอยติ-เชียงใหม่ งบประมาณ 1,471 ล้านบาท  ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 121 ตนต้นเปา-ดอนแก้ว งบประมาณ 616 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118 แบ่งเป็น 3 โครงการงบฯ 2,157 ล้านบาทและโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1260 ตอนศรีบุญเรือง-รพ.สันทราย งบ 200 ล้านบาท

สำหรับการก่อสร้างต่างๆ ของกรมทางหลวงที่กำลังก่อสร้างขณะนี้จะสามารถรองรับการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยทางหลวงหมายเลข 11 ดอยติ-เชียงใหม่ขยายเพิ่มจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจรรวมทั้งสะพานข้ามแยกบริเวณจุดตัด 4 แห่ง ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายนี้มีการจราจรสูงถึง 56,742 คันต่อวัน คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2563

ส่วนการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 121 หรือวงแหวนรอบ 3 ต้นเปา-ดอนแก้ว งบ 616 ล้านบาท ขณะนี้เป็นการกอ่สร้างเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการประชาชน เส้นทางสายนี้มีปริมาณจราจรสูงถึง 30,296 คันต่อวัน โดยเป็นกอสร้างที่บริเวณทางแยกแม่กวงแบบทางแยกผสมและวงเวียนรูปเลข 8 ที่จะทำให้บริเวณจุดตัดทางแยกไม่มีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งถือเป็นการก่อสร้างรูปแบบใหม่

การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118 เชียงใหม่-ดอยนางแก้ว แบ่งเป็น 3 ตอนงบฯ 2,157 ล้านบาท จะเป็นการขยายเพิ่มเติมช่องจราจรจากทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจรให้เป็น 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางชนิด CONCRETE BARRIRE กั้นกลางระหว่าง 2 ทิศทาง โดยทางหลวงสายนี้มีความสำคัญในการให้บริการกับประชาชนและนักท่องเที่ยว เพราะเชื่อมโยงระหว่างเชียงใหม่ไปเชียงรายและพะเยา ทำให้มีปริมาณจราจรสูงถึง 74,053 คันต่อวัน และยังเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าจากจีน จากทางเรือเชียงแสนและเชียงของเข้าเชียงใหม่ โดยงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1260 ตอนศรีบุญเรือง-รพ.สันทรายงบ 200 ล้าน ทางหลวงสายนี้มีปริมาณจราจรสูงถึง 30,325 คันต่อวัน เชื่อมโยงระหว่างทางหลวงหมายเลข 107(อ.แม่ริม)กับทางหลวง 1001 (อ.สันทราย)ระยะทาง 5.250 กม.ทำการขยายช่อจราจรจาก 2 ช่องผิวแอสฟัลต์เป็น 4 ช่องจราจรผิวคอนกรีต ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2564

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวอีกว่า สำหรับ นโยบายเร่งด่วนที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาทางหลวงที่ล่าช้า สาย108 ในช่วงบ้านป่าเมี่ยง – บ้านปางน้ำถุ อยู่ระหว่างติดตามเร่งรัดโครงการ

ภายหลังรับฟังการชี้แจงจากตัวแทนแต่ละหน่วยงานแล้ว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังมาต้องขอย้ำว่าให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแผนงาน โครงการที่จะดำเนินการ หรือกำลังดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รู้ อย่างเส้นทางเชียงให่-เชียงรายที่ล่าช้ากว่าแผน ถ้าหากอยู่ใกล้กรุงเทพฯคงต้องให้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบแล้ว และหลายๆ โครงการขอให้หน่วยงานในกระทรวงคมนาคมไปหารือและบูรณาการกัน โดยเฉพาะดึงภาคประชาชนมาร่วมด้วย

“อยากจะขอเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้รถ ใช้ถนน โดยเฉพาะเส้นทางของทางหลวงชนบท อยากให้ทำเป็น 4 ช่องจราจร  ส่วนการสร้างรถไฟทางคู่ อยู่ในแผนงานที่รัฐบาลก็สนใจ เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟเก่ด้วย ส่วนทางอากาศ วันนี้เชียงใหม่ถือเป็นเกทเวย์ของภาคเหนือ ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่กำลังดำเนินการ แต่จะสำเร็จได้ต้องอยู่ที่ประชาชน เรากำลังพัฒนาที่กระทรวงในเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะได้สื่อสารให้ถึงประชาชน มีทั้งคอลเซ็นเตอร์ และการรับฟังความเห็นของประชาชน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวและชี้แจงอีกว่า

อีกเรื่องคือการพัฒนาทางราบ การสื่อสารจะต้องเข้าถึงของประชาชน มีโครงการของกระทรวงคมนาคมบางโครงการที่ทำประชาคมแล้ว แต่พอจะเริ่มก่อสร้างก็จะมีการประท้วง ซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าเป็นเพราะทำไม่ถึงประชาชนแท้จริงจึงทำให้ต้องระงับและทำใหม่ เพราะฉะนั้นทั้งระบบรางหรือถนน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนขอให้ถึงประชาชนอย่างแท้จริง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการของทุกหน่วยงานในสังกัด ขอให้บริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับโครงการที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนขอให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ในส่วนโครงการที่มีความล่าช้า อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 ในช่วงบ้านป่าเมี่ยง – บ้านปางน้ำถุ ให้อธิบดีกรมทางหลวงไปตรวจสอบข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หากเกิดจากความไม่พร้อมของบริษัท ให้พิจารณาแก้ไข หรือยกเลิกสัญญาและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากเกิดจากสาเหตุอื่น ให้เร่งแก้ไข แต่ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้ชาวเชียงใหม่ไม่เกิน 1 เดือน

นายศักดิ์สยาม ยังยืนยันด้วยว่า กระทรวงคมนาคมไม่มีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายคมนาคมโดยก่อสร้างถนนวงแหวน รอบ 4 รวมถึงได้เร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะบริเวณสี่แยกรินคำ ให้ดำเนินการตามกฎหมายเป็นหลัก และต้องดำเนินการอย่างชัดเจน โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และจะต้องมีคำตอบให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ภายใน 30 วัน เช่นเดียวกัน

ส่วนทางด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 ทางนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญมาก ซึ่งทางภาคเหนือสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผา แต่ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมคือเรื่องการตรวจสภาพรถ และเรื่องควบคุมปัญหาไฟไหม้ข้างทางหลวง ซึ่งต้องช่วยกันดูแลและช่วยดับไฟหากมีไฟเกิดขึ้น นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทำเรื่องจิตอาสา 904 วปร.ตามแนวเส้นทางรถไฟด้วย ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยขอให้บริเวณสถานที่ที่ใกล้ชุมชนต้องสะอาด เรียบร้อยและให้ประชาชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางให้มามีส่วนร่วมทำให้สองข้างทางเส้นทางรถไฟสวยงาม จึงขอให้สำรวจและเริ่มกิจกรรมได้

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งขอให้ไปพิจารณาในเรื่องรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากมีผู้เสนอว่าภาคเหนือมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น สะพานขาว ทำไมรถไฟไม่จัดรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมนั่งรถไฟเที่ยว โดยขอให้ทำงานควบคู่กับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

“สำหรับการทำแผนรถไฟฟ้าของเชียงใหม่ ซึ่ง คจร.เห็นชอบและให้รฟม.เป็นเจ้าของโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังศึกษา แต่สิ่งที่กรมการขนส่ง และขนส่งจังหวัดต้องทำคือ เอาแผนมาดูว่า รถไฟฟ้ามีกี่เส้นทาง แล้วระบบรถเมล์หรือรถประจำทางที่จะมาเสริมเป็นอย่างไร เหมือนที่กทม.เอารถไฟฟ้าเป็นการเดินทางหลักของประชาชน และเอารถเมล์และเรือมาเสริมในการขนคนมายังเส้นทางรถไฟฟ้า”นายชัยวัฒน์ กล่าว

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางไปติดตามดูความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ตอนดอยติ-เชียงใหม่ และทางเลี่ยงเมืองสันป่าตอง โดยกล่าวชื่นชมนายช่างควบคุมโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ที่แม้จะมีอุปสรรคในการก่อสร้างเนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างมีต้นไม้สัก 1,597 ต้นและไม้หวงห้าม 876 ต้นรวมถึงไม้อื่นๆ 2,988 ต้น ซึ่งต้องขออนุญาตการเคลื่อนย้ายและเข้าดำเนินการโดยใช้เวลานาน แต่ผลการทำงานคืบหน้าเร็วกว่าแผนงานร้อยละ 27 และคาดว่าจะเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จภายในระยะเวลาโดยจะสามารถเปิดใช้งานได้ในเดือนมิ.ย.2568 และสั่งให้อธิบดีกรมทางหลวงไปพิจารณาเส้นทางเชียงใหม่-เชียงรายที่มีปัญหาว่าให้ยกเลิกสัญญาเพราะขณะนี้บริษัทต้องจ่ายค่าปรับกว่า 400 ล้านบาทและงานก็ล่าช้ามาก ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อการสัญจรสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องรถไฟฟ้ารางเบาที่จะดำเนินการในเส้นทางแรกเป็นสายสีแดงนั้น กระทรวงฯกำลังพิจารณาว่าในโครงการขนาดใหญ่แบบนี้รัฐจะลงทุนเอง แต่ก็ต้องไปดูว่าเม็ดเงินที่จะลงทุนเท่าไหร่แล้วรัฐบาลมีเงินหรือไม่ ถ้าหากไม่มีก็ต้องไปดูว่าจะสามารถก่อหนี้สาธารณะของประเทศได้มั้ยต้องไปดูเพดานหนี้สาธารณะของประเทศก่อน กับอีกทางเป็นแบบ PPP ซึ่งก็ต้องศึกษาว่าถ้าหากเป็นการลงทุนแบบนี้แล้วมีผลตอบแทนที่เอกชนสนใจหรือไม่และหากสนใจแล้วจะเป็นภาระต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจิรงๆ แล้วตนอยากให้ทำ อยากให้เชียงใหม่มีรถไฟฟ้าเพราะเชียงใหม่เป็นจังหวัดในฝันของตน.

 

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้