ผู้ว่าฯเชียงใหม่ขีดเส้น 15 วันให้ทุกอำเภอรายงานปริมาณขยะติดเชื้อและของเสียอันตราย รวมทั้งการรวมกลุ่มพื้นที่บริหารจัดการขยะ

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ขีดเส้น 15 วันให้ทุกอำเภอรายงานปริมาณขยะติดเชื้อและของเสียอันตราย รวมทั้งการรวมกลุ่มพื้นที่บริหารจัดการขยะ

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ขีดเส้น 15 วันให้ทุกอำเภอรายงานปริมาณขยะติดเชื้อและของเสียอันตราย รวมทั้งการรวมกลุ่มพื้นที่บริหารจัดการขยะ พร้อมทั้งประสานอบจ.เชียงใหม่จัดทำแผนงบประมาณรองรับภาระในการขนและกำจัดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

ที่ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเชียงใหม่และคณะทำงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด”ระดับจังหวัด โดยนายชานนท์ คำทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งที่ประชุมทราบถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดเชียงใหม่

ตามประกาศจังหวัดเพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นไปตามโรดแมพการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่ได้รับความเห็นชอบจากคสช. ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และได้หมดวาระลงตามคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ลงวันที่ 4 พ.ค.2560 ที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องนำแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจังหวัดเชียงใหม่ระยะ 5 ปี(พ.ศ.2558-2562)มาทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดเก็บและขนขยะอันตรายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตาม Roadmap ที่ได้รับความเห็นชอบจากคสช.ในการประชุมครั้งที่ 12/2557 เรื่องขยะอันตรายกำหนดให้จังหวัดต้องจัดสถานที่เก็บรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนของจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง ซึ่งในแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจังหวัดระยะ 5 ปี(พ.ศ.2558-2562) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย กลยุทธ์ 2.4 ก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการของเสียอันตรายชุมชน กำหนดให้อบจ.สร้างศูนย์บริหารจัดการของเสียอันตรายชุมชน 1 แห่งในปีงบประมาณพ.ศ.2561 ตามพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2560 หมวดที่ 3/1 การจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย มาตรา 34/1 การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย

“ในปีนี้อบจ.อาจจะเตรียมการไม่ทัน แต่ปีต่อไปอบจ.จะต้องทำหน้าที่ทั้งจัดเก็บและขนขยะอันตราย ซึ่งอบจ.ต้องมีแผนในเรื่องนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลทางจังหวัดจะใช้อำนาจผู้ว่าฯในฐานะกำกับดูแลทำหนังสือสอบถามไป พร้อมกับเชิญอบจ.เชียงใหม่มาหารือเร่งด่วน โดยขอให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะส่วนสนับสนุนทางด้านวิชาการเข้าร่วมด้วย เนื่องจากปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีการพิจารณาเรื่องงบประมาณแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งหารือเพื่อปรับแผนเข้าสู่งบประมาณให้ทัน เนื่องจากปี 2561 อบจ.จะต้องเป็นผู้รับภาระนี้แล้วตามกฎหมาย ตามโรดแมพของคสช. นอกจากนี้ขอให้ทุกอำเภอไปสำรวจปริมาณขยะของเสียอันตรายในพื้นที่ด้วยว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ใช้วิธีการกำจัดอย่างไรที่ผ่านมา มีจุดรวบรวมกี่แห่ง โดยให้รายงานมาที่จังหวัดภายใน 15 วัน ถือเป็นข้อสั่งการ”ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

ทางด้านนายประสพชัย แขกอ้อย หัวหน้างานกำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการจัดเก็บและขนขยะและของเสียอันตรายมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งมีจุดที่ให้ประชาชนนำของเสีย ขยะอันตรายมาทิ้ง 100 จุดไม่รวมกับที่ประชาชนนำมาส่งเอง โดยปริมาณขยะของเสียอันตรายของเทศบาลนครเชียงใหม่มีประมาณีละเกือบ 40 ตัน แต่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ตั้งงบประมาณในการกำจัดและขนขยะของเสียอันตรายประมาณ 37 ตันโดยจ้างเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

เนื่องจากการจัดเก็บและขนขยะของเสียอันตรายจะต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ใช้อาคารพักขยะเดิมที่มีอยู่แต่ได้ปรับปรุงสำหรับใช้เป็นที่พักขยะของเสียอันตราย ซึ่งก็ยอมรับว่ายังไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล สำหรับการเก็บจะเก็บทุกวันและสามารถนำมาพักเก็บไว้ที่อาคารได้เป็นปีแต่ต้องเป็นอาคารที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่รั่วซึม ทั้งนี้เพราะการกำจัดผู้กำจัดจะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในประเทศไทยทราบว่ามีเพียง 5-6 รายเท่านั้น ส่วนค่ากำจัดขยะของเสียอันตรายเฉลี่ยประมาณ 5-7 แสนบาทต่อปี โดยค่าขนส่งจากเชียงใหม่ไปโรงงานเฉลี่ยเดือนละ 8 พันบาทและค่ากำจัดอีก 8 พันบาท หากจังหวัดเชียงใหม่มีตัวเลขปริมาณขยะของเสียอันตรายที่แน่นอน ก็จะทำให้การตั้งงบประมาณของอบจ.เชียงใหม่ทำได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ นายสมบัติ เฟื่องปรางค์ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอเรื่องการพิจารณาการรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย(Clusters)ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ที่ประชุมพิจารณา โดยกล่าวว่า แต่เดิมจังหวัดเชียงใหม่ได้แบ่งกลุ่มพื้นที่ออกเป็น 3 โซนๆ เหนือมีเทศบาลตำบลเวียงฝางเป็นเจ้าภาพ โซนกลางมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพดำเนินการที่อ.ดอยสะเก็ดและโซนใต้มีเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพดำเนินการที่ฮอดแต่เป็นของเอกชน

นายชานนท์ คำทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า ในเรื่องการรวมกลุ่มพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยนั้น ภายหลังทางกระทรวงฯได้นำไปกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มคลัสเตอร์และเบื้องต้นทางท้องถิ่นได้มีการสำรวจความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะรวมกลุ่มกันแล้ว ซึ่งใน 3 กลุ่มเดิมก็ยังจะมีอยู่แต่เพิ่มเติมคือทางโซนใต้ที่เดิมเทศบาลนครเชียงวใหม่เป็นเจ้าภาพและนำไปกำจัดในพื้นที่บ้านตาลกรุ๊ปซึ่งเป็นของเอกชน

ได้มีการขอเพิ่มโซน 4 ขึ้นมาฌดยทางเทศบาลตำบลจอมทอง สบเตี๊ยะ ข่วงเปาและบ้านหลวงขอรวมกลุ่มกันโดยมีเทศบาลตำบลจอมทองเป็นเจ้าภาพหลัก มีเป้าหมายจะสร้างศูนย์จัดการขยะเพื่อนำขยะไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าจากขยะ

ขณะที่นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในกรณีของการรวมกลุ่มพื้นที่นี้ขอให้ทำการสำรวจความเห็นและให้ได้ข้อสรุปที่แน่นอนจากท้องถิ่นก่อน เพราะในส่วนของอ.พร้าวได้มาขอพบตนเช่นกันซึ่งก็จะสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะเช่นกัน และในส่วนของศูนย์จัดการขยะตามโซนเดิมที่มีอยู่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่อย่างที่ดอยสะเก็ดซึ่งก็ยังไม่ได้เปิดอยู่ในช่วงทดลอง และตอนนี้ก็ทราบว่ามีการข้ามกลุ่มพื้นที่กันไปมา จึงขอให้ทางท้องถิ่นไปดำเนินการสำรวจความเห็นอีกทีเพราะไม่อยากให้เกิดข้อครหาว่าไปล๊อคไว้ให้ใคร

“ขอให้ไปพิจารณาว่าการจัดกลุ่มคลัสเตอร์คืออะไร ให้ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมว่าเมื่อจัดกลุ่มคลัสเตอร์แล้วจะครอบคลุมการบริหารจัดการแค่ไหน เพื่อจะได้เอามาคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป รวมไปถึงเรื่องของการปิดบ่อขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย ตอนนี้มี 9 อำเภอที่รายงานว่าปิดแล้วแต่อีก 16 อำเภอยังไม่ได้รายงาน ให้เวลา 15 วันต้องดำเนินการรายงานมาพร้อมกับเรื่องขยะของเสียอันตรายด้วย”ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวย้ำ

ทางด้านนายชานนท์ คำทอง ผอ.ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การรวมกลุ่มพื้นที่บริหารจัดการขยะนั้นจริงๆ อยากให้ดูว่าพื้นที่ไหนมีศูนย์บริหารจัดการขยะอยู่แล้วก็ดึงเอาพื้นที่ใกล้ๆ มารวมกันแต่ก็ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นแบบนี้ทั้งหมด ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการระดับประเทศเห็นว่าการรวมกลุ่มพื้นที่น่าจะมีการบริหารจัดการเป็นแอเรียเบทน่าจะดีกว่า เหมือนอย่างที่สวีเดนดำเนินการ ซึ่งการรวมกลุ่มบริหารจัดการ บางทีไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นโรงไฟฟ้า แต่ทำเป็น RDF แล้วขายให้โรงไฟฟ้าก็ได้ โดยเฉพาะหากมีการคัดแยกขยะก่อนทำเป็น RDF จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก

“เรื่องคลัสเตอร์นั้นควรจะเชิญองค์กรปกครองส่วนทอ้งถิ่นมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเชิญผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจได้เลย เพราะทางกระทรวงมหาดไทยเองก็ต้องดูปริมาณของขยะที่มีอยู่ เพื่อให้การบริหารจัดการได้ดีขึ้น”ผอ.ทสจ.เชียงใหม่ กล่าว.

 

 

 

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้