ผู้ว่าฯย้ำทางออกปล่อยโคมลอยยึดหลักกฎหมาย ไม่ทิ้งวัฒนธรรม คำนึงถึงความเหมาะสม ปลอดภัย

ผู้ว่าฯย้ำทางออกปล่อยโคมลอยยึดหลักกฎหมาย ไม่ทิ้งวัฒนธรรม คำนึงถึงความเหมาะสม ปลอดภัย

ถกปัญหาโคมลอย สภาวัฒนธรรมฯยืนกรานเป็นประเพณี ของดบิน 3 วัน ขณะที่ปลัดจังหวัดห่วงอ.เมืองอยู่ในเขตปลอดภัยการเดินอากาศห้ามปล่อยเด็ดขาด “ศุภชัย”แจงยึดหลักกฎหมาย ไม่ทิ้งวัฒนธรรม คำนึงถึงความเหมาะสม ปลอดภัย สร้างการรับรู้ ให้ไปหารือกำหนดกรอบออกเป็นประกาศจังหวัด ย้ำปีนี้ต้องทำงานกันอย่างรอบคอบ

วันที่ 22 ส.ค.62 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ(POC)จังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาการปล่อยโคมไฟในเวลากลางคืนช่วงเทศกาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยผวจ.เชียงใหม่กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการร้องทุกข์จากเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้มีการยกเลิกการปล่อยโคมไฟเกรงถึงผลกระทบว่าโคมไฟเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงเป็นที่มาของการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกัน

ทางด้านนายวัลลภ นามวงศ์พรหม กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่เป็นตัวแทนจากสภาวัฒนธรรมฯเข้าร่วมประชุมและชี้แจงว่างสภาวัฒนธรรมฯได้มีการประชุมในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนายติรวัฒน์ สุจริตกุล ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศของสภาฯในเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีเนื่องในเทศกาลลอยกระทงหรือประเพณีเดือนยี่เป็งของจังหวัดเชียงใหม่ออกมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยมีความเห็นว่าประเพณีเดือนยี่เป็งเป็นรูปแบบกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตามวิถีพุทธโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม การจัดกิจกรรมควรจะศึกษาถึงประเพณีในทุกด้านให้ครบองค์ประกอบตั้งแต่ความเหมาะสมของสถานที่และกิจกรรมประกอบให้สมบูรณ์เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่ในความจริงแท้ดั้งเดิมของประเพณีไม่ควรปรุงแต่งจนผิดเพี้ยนไปจากที่ปฏิบัติสืบทอดมา

สำหรับการปล่อยโคมลอย ถือเป็นวัฒนธรรมที่มีการปล่อยในประเพณีเดือนยี่เป็งอย่างยาวนาน ในอดีตมีการปล่อยเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่เหนือเท่านั้น โคมที่ใช้ปล่อยกลางวันเรียกว่าโคมลมหรือว่าวลม โคมที่ใช้ปล่อยกลางคืนเรียกว่าโคมไฟหรือว่าวไฟ ส่วนการปล่อยนอกเหนือจากวันขึ้น 15 ค่ำนั้นไม่ใช่ประเพณีวัฒนธรรมของชาวล้านนาไทยแต่ดั้งเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงาน องค์กรท้องถิ่นหรือภาคประชาสังคมจะเห็นสมควร

นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่มีประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่องมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควันฯลงวันที่ 7 ต.ค.2559 ซึ่งกำหนดให้ปล่อยโคมฯได้ในวันขึ้น 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำ(วันกระทงใหญ่)กับวันที่ 31 ธ.ค.ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยผู้ที่จะปล่อยต้องขออนุญาตจากนายอำเภอ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมีผู้มายื่นขออนุญาตปี 2560 จำตนวน 38,000 ลูก ปี 2561 จำนวน 58,000 ลูก

“หลังจากเป็นประเด็นในสื่อมวลชนและได้มีการแถลงข่าวถึงมาตรการไปเมื่ออังคารที่ผ่านมา ก็เพิ่งไปเจอว่ามีกฎหมายตามพ.ร.บ.การเดินอากาศ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 25 พฤษภาคม 2562 ม.33 ให้เพิ่มความต่อในม.59/1 ม.59/2 และม.59/3 ห้ามมิให้บุคคลใดจุดและปล่อยหรือกระทำการใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ซึ่งเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินอากาศหรือปฏิบัติการของอากาศยานภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศตามาตรา 58 ถ้าหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้มีประกาศกำหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ พ.ศ.2535 ครอบคลุมพื้นที่ต.ริมใต้ ต.แม่สา ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม ต.หนองหาร ต.สันทราย อ.สันทราย อ.เมืองครอบคลุมพื้นที่ทุกตำบล ต.บ้านปง น้ำแพร่ หนองควาย สันผักหวาน หางดง บ้านแหวน สบแม่ข่า ขุนคง หนองแก๋ว หารแก้ว หนองตอง อ.หางดง ต.ท่าวังตาล หนองผึ้ง ดอนแก้ว ขัวมุง อ.สารภี ซึ่งเขตปลอดภัยในการเดินอากาศจะเป็นรูปท็อฟฟี่ ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้คือห้ามไม่ให้มีการปล่อยโคมลอย โคมควันหรือจุดพลุเด็ดขาด

ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในตอนนี้ก็ต้องมาดูที่ทางนายอำเภออนุญาตไปแล้วว่าอยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศหรือในเขตท็อฟฟี่หรือไม่ และการแบ่งเขตหรือแนวเขตที่ดูก็ยังไม่ชัดเจนว่าในตำบลที่กำหนดนั้นมีหมู่บ้านไหนอยู่ในแนวเขตบ้าง จึงอยากให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการทำพิกัดแนวเขตให้ชัดเจนก่อน เพราะหากอยู่ในแนวเขตแม้จะเป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการก็คงไม่มีข้อยกเว้น

ด้านนายคัมภีร์ นามคำ ผอ.ส่วนมาตรฐานท่าอากาศยานและอาชีวอนามัย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.เดินอากาศฉบับใหม่ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่ควบคุมไว้ เนื่องจากเมื่อปี 2556-2557 ทางสนามบินสุวรรณภูมิได้มาดูพื้นที่รอบสนามบินและมีข้อสั่งการในเรื่องเขตการบินและภายนอกสนามบิน โดยได้กำหนดจุดในแผนที่ซึ่งคร็อบออกมาเป็นรูปคล้ายท็อฟฟี่ แต่เดิมที่ใช้ไว้ตรวจสอบการกำหนดความสูงของอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่อยู่ในเขตการบินแต่ต่อมาได้เพิ่มเรื่องของโคม พลุเข้าไปด้วย

“ในกรณีการขอตรวจสอบแนวเขตก่อนที่นายอำเภอต่างๆ จะพิจารณาอนุญาตนั้น ขอให้แต่ละพื้นที่ส่งพิกัดมาให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งจะทำการตรวจสอบให้  เพราะไม่สามารถที่จะปริ้นส์เป็นแผนที่ออกมาให้ได้เนื่องจากมีความละเอียดสูงมาก ส่วนเรื่องของประเพณีนั้นทางท่าอากาศยานฯก็สนับสนุน โดยประสานขอความร่วมมือไปยังสายการบินให้งดเที่ยวบินในช่วงที่มีการอนุญาตให้ปล่อยโคมลอย แต่ถ้าจะให้ไปสั่งห้ามไม่ให้สายการบิน บินในช่วงเทศกาลเลยคงทำไม่ได้”ผอ.ส่วนมาตรฐานฯ กล่าว

พันจ่าโทสาคร ปีกอง ผู้จัดการงานควบคุมจราจรทางอากาศ(ภูมิภาค) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับแนวร่อนลงของเครื่องบินจะอยู่ในเขตอ.เมือง สารภี หางดง สันป่าตอง อ.เมืองลำพูน อ.บ้านธิ จ.ลำพูน อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ดและอ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานของความร่วมมือกับทางสายการบินให้งดบินหลังเวลา 18.00-01.00 น.แต่ที่ผ่านมาก็ยังได้รับแจ้งจากนักบินว่าพบโคมลอยในเส้นทางบินอยู่ จึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องห้วงกำหนดระยะเวลาการปล่อย โดยเฉพาะโคมควันซึ่งลอยสูงมากและอยู่ในอากาศได้นาน รวมทั้งเรื่องของจำนวนที่ปล่อยด้วย เพราะที่ผ่านมาจะมีซากโคมลอยที่ปลิวมาตกในเขตรันเวย์ แม้จะมีการเพิ่มรอบในการเก็บให้ถี่ขึ้นก็ตาม แต่เวลากลางคืนการตรวจตราก็ยากลำบาก

ขณะที่นายจิรวัฒน์ วิศิษฐ์ผล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ แทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของการท่องเที่ยวที่ได้คุยกับทางผู้ประกอบการแล้วทราบว่าทางผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเช่าพื้นที่จัดกิจกรรมปล่อยโคมลอยได้ขายทัวร์ไปแล้ว ถ้าหากมีการยกเลิกก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัด แต่ถ้าจะให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกจะมีปัญหาได้ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยและความมั่นคงด้วย ซึ่งที่คุยกันก็อยากให้พิจารณาเรื่องความเหมาะสมและจำนวน ถ้าหากมีจำนวนมากเกินไปประชาชนก็คงเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยง ความปลอดภัยอยู่

ส่วนทางด้านพ.อ.อภิรักษ์ จุมปา รองผอ.กองการสัตว์ กล่าวว่า ทางหน่วยได้รับฟังและรับทราบข้อห่วงใยในเรื่องของการปล่อยโคม ซึ่งพื้นที่หน่วยได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการเช่าสถานที่จัดงาน 2 แห่งคือที่ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.แม่สากับที่ลานเนินนุ่ม ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริมโดยทั้ง 2 จุดนายอำเภอแม่ริมได้อนุญาตให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นขอตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 จุดมีการจัดงานมาแล้วปีนี้เข้าปีที่ 3 ถ้าหากให้มีการยกเลิกก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการ ที่ทราบว่ามีการจองโรงแรมที่พักต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตามทางหน่วยจะส่งพิกัดให้กับทางท่าอากาศยานเชียงใหม่เพื่อตรวจสอบว่าอยู่ในแนวเขตปลอดภัยฯหรือไม่

เช่นเดียวกับทางผู้แทนของผบ.พล.ร.7 กล่าวว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย แต่ประเพณีก็ต้องรักษาและยึดถือ ก็อยากให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ไปปรับเวลาการขึ้น-ลงของเครื่องบิน โดยเฉพาะวันที่เป็นประเพณีของคนล้านนา ก็น่าจะเป็นประเพณีของคนไป โดยน่าจะหารือกับทางสายการบินต่างๆ  ดู

นายนิคม พรหมมาเทพย์ ปราชญ์พื้นบ้านแห่งล้านนา กล่าวว่า ก่อนที่จะมีประกาศจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2557 ตนเป็นตัวแทนสภาวัฒนธรรมจังหวัดเสนอต่อที่ประชุมเอง โดยยืนยันว่าการปล่อยโคมเป็นประเพณีของล้านนาที่จะมีการปล่อยโคมลอยหรือโคมควันในเวลากลางวัน และโคมไฟในเวลากลางคืน จึงทำให้มีการกำหนดในประกาศจังหวัดอนุญาตในช่วงเทศกาลลอยกระทงหรือยี่เป็ง ส่วนวันที่ 31 ธ.ค.ใน 1 ปีมีเพียงวันเดียว เป็นวันของสากลโลกในการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เมื่อ 365 วัน การบินหรือเครื่องบินเอาไปหมด และขอแค่ 3 วันเป็นของประเพณีซึ่งก็น่าจะอยู่ด้วยกันได้

“ผมอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงแบบนี้ ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ เชียงใหม่นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่งจะได้อยู่ตลอดไป ส่วนสิ่งที่เป็นห่วงว่าทำอย่างไรไม่ให้วัฒนธรรมของเราเป็นสินค้าของชาวต่างชาติ หรือผู้ที่เอาวัฒนธรรม มรดกของเราไปทำการค้า พาณิชย์ เอาเงินเข้ากระเป๋า ก็ต้องให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมและมีรายได้จากประเพณีนี้ด้วย ซึ่งผู้ว่าฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าทำอย่างไรให้ประเพณีและคนอยู่ร่วมกันได้ให้สมกับเป็นเมืองวัฒนธรรม”นายนิคม กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทุกฝ่ายได้เสนอความคิดเห็นแล้ว นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ ได้สรุปผลการประชุมร่วมกันว่า ข้อแรกคือให้ยึดกฎหมายเป็นหลักในเรื่องของการอนุญาตให้ปล่อยโคมลอย ถ้าหากอยู่ในเขตปลอดภัยเดินอากาศก็ไม่สามารถให้ปล่อยได้ ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะเจอข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ สวนพื้นที่นอกเขตฯแต่อยู่ในกรอบประกาศจังหวัดก็ไปดูเรื่องจำนวน ไม่ใช่ปล่อยกันมากมาย เพราะวัฒนธรรม ประเพณีก็ต้องดูความเหมาะสม ความเสี่ยง ความปลอดภัย

“ในประกาศจังหวัดที่มีอยู่ ขอให้ปลัดจังหวัดไปตรวจสอบว่าจะต้องปรับให้สอดคล้องกับท็อฟฟี่ของการท่าฯอย่างไรไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมาย อาจจะปรับช่วงเวลาที่ให้เหมาะสมเพื่อทำเป็นประกาศจังหวัด และให้แจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องการจำหน่าย การผลิตให้ได้มาตรฐาน มผช. ต้องมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เพียงพอทั้งผู้ประกอบการ วัด ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ทราบตามกฎหมาย และให้ประชาชนได้เห็นหรือตระหนักถึงปัญหา วัฒนธรรมประเพณีมีเยอะแยะอย่าไปยึดเอาสิ่งที่ขัดแย้งหรือทำให้เกิดความเสียหายมาว่ากัน ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงด้วยว่า

นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลก็ต้องสร้างจิตอาสาให้มาช่วยระวังเรื่องของโคมลอย โคมไฟ เตรียมเครื่องมือชุดป้องกันภัย ดับเพลิงทุกท้องถิ่นต้องเตรียมให้พร้อม แล้วก็ไปพิจารณาประเด็นย่อยในกรณีที่มีการอนุญาตไปแล้วจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวน ความเหมาะสมต่างๆ ได้หรือไม่โดยทั้งนี้ขอให้ยึดหลักกฎหมายแต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรม คำนึงถึงความเหมาะสม ความปลอดภัย สร้างการรับรู้ ในปีนี้จะเป็นปีที่ต้องทำงานกันอย่างรอบคอบ.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้