ผุด “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” โมเดลนำร่องลดการเผาป่าช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ

ผุด “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” โมเดลนำร่องลดการเผาป่าช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ

ชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดลผุดโมเดล “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” ลดการเผาป่าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ เผย 1 ปีสามารถลดการเกิดไฟในพื้นที่ป่าได้ถึงร้อยละ 39 ยอมรับปัญหาปากท้องและความแห้งแล้งทำให้ชาวบ้านต้องหาของป่าเลี้ยงชีพ คาดต้องใช้เวลา 2-3 ปีจะเห็นผลชัดเจน

ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เปิดเผยว่า ชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดลได้รวบรวมศิษย์จากหลากหลายสาขา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ และฝุ่น pm 2.5 โดยได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่บ้านก้อ  จังหวัดลำพูนซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยใช้ชื่อว่า “บ้านก้อแซนด์บ๊อกซ์” ซึ่งได้ดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้วโดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถลดปัญหาการเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงได้ 39% เทียบจากปีที่ก่อน

สำหรับการดำเนินการนั้น ได้เริ่มจากการติดเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือpm2.5 ในโรงเรียนบ้านก้อ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากมลภาวะทางอากาศ  และให้ความรู้แก่เด็กๆ เริ่มกดดันพ่อแม่ซึ่งทำให้ได้ผลเป็นอย่างดีพอควร

ประธานชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวอีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าปัญหาพื้นฐานที่สุดคือ ปัญหาปากท้องของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากสภาพพื้นที่ต้องเจอกับความแห้งแล้งตลอดช่วง 6 เดือน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพในหมู่บ้าน แม้กระทั่งเพาะปลูกก็ทำไม่ได้  จึงต้องเข้าป่าหาของป่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่จะด้วยความไม่รู้ หรือไม่สนใจ ทำให้เผาป่าเพราะความง่าย  โดยเฉพาะการหาเห็ดที่ทำรายได้เงินเร็วอย่างมาก ซึ่งปีนี้ในพื้นที่อุทยานแม่ปิงชาวบ้านเก็บเห็ดเผาะได้ 25 ตัน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านกว่า 7 ล้านบาท

“สภาพพื้นที่แห้งแล้ง เพราะขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ   การแก้ไขจึงเริ่มจากการบริหารจัดการน้ำที่ไหลเข้าหมู่บ้านจากสันปันน้ำลงมาด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวนหลายพันฝาย ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของชาวบ้าน  และการทำฝาชะลอน้ำนี้คงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี   สำหรับสิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้นคือต้องเริ่มขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร  แต่ก็มีอุปสรรคเรื่องสิทธิในที่ทำกินที่รัฐไม่ได้จัดการได้เรียบร้อยมาเห็นเวลาเกือบ 60 ปี ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ย้ายขึ้นมาจากพื้นที่ลุ่มในการสร้างเขื่อนภูมิพล  รวมถึงการบุกรุกป่าของชาวบ้านเพิ่มเติมมาตลอดช่วง 60 ปี จึงทำให้สรุปไม่ลง”ดร.เจน กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับเรื่องเห็ดเผาะ  ทางชมรมฯได้ทำแปลงสาธิต เป็นการทดลองแบบวิทยาศาสตร์  ในป่าเต็งรังชุมชมที่เสื่อมโทรมที่สุด ไร้เห็ดขึ้นแล้ว  เราก็นำน้ำเชื้อเห็ดกลับไปราดตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ประมาณ 3 รอบ    พอถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มพบเห็ดเผาะในบริเวณดังกล่าวได้อีกครั้งแล้ว   จึงชวนกำนันไปดูเขาดีใจมาก  และคิดจะชวนชาวบ้านไปบำรุงป่าชุมชนที่ติดหมู่บ้านจำนวน 1,600 ไร่ เพื่อจะได้เก็บเห็ดได้โดยไม่ต้องเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์  ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีถึงจะเริ่มเก็บเห็ดได้   และเห็ดนั้นยังสามารถเพาะได้ เป็นการบำรุงป่าไปในตัว และยังเป็นการให้ความรู้กับชาวบ้านไปด้วยว่าการเผาป่านั้นเพียงแค่เปิดใบไม้ปกคลุมและหาเห็ดได้ง่ายขึ้น   แต่ถ้าจัดการใบไม้ล่วงหน้าก่อนฝนลงได้ ทุกอย่างจะง่าย  และชาวบ้านยังสามารถเก็บเห็ดอื่นๆ ไปพร้อมกันได้

“เราจะเริ่มชวนชาวบ้านปลูกป่าเต็งรัง จำนวน 70 ไร่  โดยสอนให้ความรู้ไปพร้อมกัน  เพราะป่าเต็งรังปลูกให้ถูกต้องนั้นไม่ง่ายเท่าไร  นอกจากนี้กำลังเริ่มศึกษาเรื่องการนำวัวออกจากป่า  เราเริ่มมีข้อสันนิษฐานแล้วว่าการเลี้ยงวัวทำให้เกิดไฟป่าบริเวณชายน้ำและลามขึ้นเขาไป ประเด็นคือชมรมฯ เราแค่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างฝ่ายปกครอง  ชาวบ้าน  และ เอกชนกับประชาชน   เราค่อยๆ ดึงบริษัทต่างๆ เข้ามาช่วยงานทีละนิด  แบบประหยัดงบประมาณ แบบพอเพียง  นอกจากนี้เพื่อให้ยั่งยืนต้องนำเอาชาวบ้านมาเรียนรู้และรับงานต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน ครู ในหมู่บ้าน  อาจจะลำบากนิดหน่อยที่ต้องทำไปสอนไป  แต่ถ้าทำได้จะยั่งยืน เพราะวันหนึ่งเราคงต้องถอนตัวออกไป สำหรับฝายชะลอน้ำจำนวนนับพันนั้น   stakeholder ที่สำคัญในพื้นที่คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ อุทยานฯและ ชาวบ้าน  ถ้าประสานสามส่วนนี้ได้ก็จะเริ่มจัดการเรื่องน้ำได้ บทเรียนที่บ้านก้อ อ ลี้ จ ลำพูน นี้ ถ้าถอดไปขยายผลที่อ่านๆได้  คงจะช่วยลดไฟป่าในภาคเหนือ เพราะเท่าที่เห็นปัญหาก็เหมือนๆกัน  ตอนนี้เริ่มขยายไปอ.แม่แจ่ม จ. เชียงใหม่”ประธานชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กล่าวชี้แจง.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้