นักวิชาการแนะมาเริ่มต้นใส่ใจpm2.5 มหันตภัยเงียบชี้ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมทำให้เสียชีวิตภายในสัปดาห์ถึง 1.6%

นักวิชาการแนะมาเริ่มต้นใส่ใจpm2.5 มหันตภัยเงียบชี้ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมทำให้เสียชีวิตภายในสัปดาห์ถึง 1.6%

นักวิชาการแนะมาเริ่มต้นใส่ใจpm2.5 มหันตภัยเงียบที่ก่อให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษ เผยผลกระทบฝุ่นควันตามฤดูกาลทำให้คนเชียงใหม่อายุขัยสั้นขึ้น ชี้ค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นทุก 10 ไมโครกรัมทำให้เสียชีวิตภายในสัปดาห์ถึง 1.6% ระบุหากจะให้การเจ็บป่วยและตายลดลงค่า pm.2.5 ต้องอยู่ที่ระดับไม่เกิน 26 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.

วันที่ 16 ก.พ.62 ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานเสวนา “คืนลมหายใจบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่” ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกันจัดขึ้น โดยมี นักวิชาการ คณะครู อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นมานาน สาเหตุสำคัญจากการเผาขยะเศษเหลือจากการเกษตร การเผาขยะของครัวเรือน การเผาป่าเตรียมพื้นที่เพาะปลูกซึ่งเป็นปัญหาหลักและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การเกิดปัญหาจากการเผาเป็นวัฒนธรรมเดิมแต่อดีต แต่เมื่อสภาพแวดล้อมสังคมเปลี่ยนไป ประกอบกับการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีภูเขาล้อมรอบจึงนำมาให้เกิดปัญหามลพิษดังกล่าว

การแก้ไขจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมชุมชน โดยเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของชุมชนให้เห็นถึงปัญหาและผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการเกษตรแบบผสมผสานการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัยการติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย การประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ฝุ่น PM2.5 ที่ปล่อยจากการทดลองเผาชีวมวลประเภทฟางข้าวและข้าวโพด รวมถึงเศษใบไม้ในผืนป่าเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในเตาเผาระบบเปิดพบสารก่อมะเร็งในกลุ่มพอลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน โดยสารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันและชีวมวลต่างๆ เมื่อรับสารกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องยาวนานจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

“ผลจากการวิจัยฝุ่นในอากาศครั้งก่อนหน้านี้ พบสารก่อมะเร็งกลุ่มดังกล่าวมีปริมาณแปรผันตามค่าความเข้มข้นของฝุ่นในอากาศ ซึ่งถ้าฝุ่นในอากาศมีค่าสูงก็มีแนวโน้มที่สารอันตรายดังกล่าวซึ่งเป็นองค์ประกอบของฝุ่นจะมีค่าสูงตามไปด้วย จึงเป็นความเสี่ยงของประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีโอกาสได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็กมีค่าเกินมาตรฐานเป็นประจำ จุดที่น่าเป็นห่วงมากกว่ากรุงเทพฯ ก็คือพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้เผชิญกับปัญหาหมอกควัน ซึ่งรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่า 10 ปีแล้ว”ผศ.ดร.สมพร จันทระ กล่าว

ศ.ดร.นพ.พงค์เทพ วิวรรธนะเดช กล่าวว่า ระดับ PM2.5 ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ซึ่งหากในโมเดลที่ควบคุมให้ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือpm2.5 อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ก็จะช่วยลดการตายของคนจากมลพิษทางอากาศได้ 10-20% เท่านั้น แต่ในระดับปลอดภัยจริงๆ คือต้องเป็นศูนย์ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามหากจะลดผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็กที่ทำให้ประชาชนป่วยด้วยมลพิษทางอากาศให้เหลือร้อยละ 50 ค่า PM2.5 จะต้องอยู่ที่ระดับ 21.25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และหากจะป้องกันผลกระทบการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศได้ 50% ค่า pm2.5 ต้องอยู่ที่ 26.93-27 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และค่า PM10 ที่ช่วยลดการตายได้ร้อยละ 50 ต้องอยู่ที่ 34.35 ไมโครกรัมต่อลบ.ม. และลดการเจ็บป่วยได้ร้อยละ 40 ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลกเสนอไว้คือค่า PM2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.

ขณะที่ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ ภูมิแพ้และเวชบำบัดิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า การตื่นตัวเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และจากการศึกษาพบว่าอายุขัยจะสั้นลงเมื่อค่าฝุ่นขนาดเล็กเพิ่มขึ้น จากการศึกษา 4 เมืองใหญ่ในเอเชียเมื่อปี 2008 พบว่ากรุงเทพฯเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่า เพราะมีกิจกรรมนอกอาคารนานกว่าเมืองหนาว ในอาคารมีเครื่องปรับอากาศน้อยกว่า มีภาวะหรือโรคอื่นๆ ร่วมด้วยมากกว่าและมีค่า PM2.5 สูงกว่า

สำหรับอัตราการเสียชีวิตของชาวเชียงใหม่จากผลกระทบฝุ่นควันตามฤดูกาล ซึ่งพบว่าทุก 10 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ทำให้ชาวเชียงใหม่เสียชีวิตถึงร้อยละ 1.6 ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ และทำให้ชาวเชียงดาว(ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษา)เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.5 และมีผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงดาวเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 15%  โดยสาเหตุของการเสียชีวิตจากผลกระทบมลพิษทางอากาศจะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจหลอดเลือด หอบหืดและนิวโมเนีย ซึ่งจากผลการศึกษาเมื่อปี 2012 พบว่า PM2.5 เป็นสาเหตุของทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

“เราเป็นแพทย์ เราเป็นนักวิชาการ เพราะฉะนั้นต้องมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการรักษาและดูแลสุขภาพ เรามาเริ่มต้นใส่ใจกับค่าPM2.5 ซึ่งถือว่าเป็นมหันตภัยเงียบที่ก่อให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับมลพิษได้แล้ว”ศ.นพ.ชายชาญ กล่าว.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้