ทน.เชียงใหม่ตั้งงบศึกษาระบบน้ำเสีย 20 ล้านเริ่มปี 62 ขณะที่กรรมาธิการปกครองสนช.แนะใช้เวทีสนช.พบประชาชนยื่นขอดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

ทน.เชียงใหม่ตั้งงบศึกษาระบบน้ำเสีย 20 ล้านเริ่มปี 62 ขณะที่กรรมาธิการปกครองสนช.แนะใช้เวทีสนช.พบประชาชนยื่นขอดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด

กรรมาธิการปกครอง สนช.ลงพื้นที่ดูแนวทางแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า ที่ปรึกษาฯ/กรรมาธิการฯแนะให้เสนอของบฯเพื่อเร่งรัดดำเนินการจากเวทีสนช.ลงพื้นที่พบประชาชนต้นเดือนธ.ค.นี้ ขณะที่เทศบาลนครเชียงใหม่ตั้งงบ 20 ล้านให้อจน.ศึกษาและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียคาดเริ่มในปี 62 ขณะที่อีก 7 แห่งแม้ลง MOU แต่คาดขับเคลื่อนได้หลังต.ค.นี้

ที่ห้อง POC อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดยนายชาญวิทย์ วลยางกูร รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 และคณะอนุกรรมาธิการด้านการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไปและแก้ไขปัญหาร้องเรียน ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานและรับทราบข้อมูลกรณีปัญหาน้ำเน่าเสียคลองแม่ข่า การบริหารจัดการและแนวทางแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คลองแม่ข่าไหลผ่านเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างพร้อมเพรียง

นายชาญวิทย์ วลยางกูร รองประธานคณะกรรมาธิการ การปกครอง สนช.คนที่ 1 กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็สืบเนื่องจากที่มีชาวบ้านหมู่ 1 ต.ป่าแดดร้องเรียนไปยังส่วนกลาง ว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาคลองแม่ข่าเน่าเสีย ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯเคยได้ให้ทางส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงครั้งหนึ่งแล้ว แต่เห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการชุดนี้จะมีอนุกรรมาธิการด้วยกัน 4 ชุดและชุดนี้จะเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดยตรงจึงต้องลงมารับฟังและลงพื้นที่รับทราบปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าคณะกรรมาธิการฯจะสามารถจัดหางบประมาณมาให้ได้ แต่จะมาดูถึงวิธีการบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากทราบว่าจังหวัดเชียงใหม่เองมีโรงบำบัดน้ำเสียซึ่งสร้างมาได้ 20 ปีแล้ว จึงอยากทราบถึงการบริหารจัดการ ระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อที่จะได้ทำเป็นข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตในการพิจารณาจัดทำงบประมาณของหน่วยงานต่อไป นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่ามาโดยตลอด และได้ประกาศเป็นวาระการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัด โดยปี 2555 ได้มุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและตั้งคณะทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแบบบูรณาการและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาออกเป็น 8 มาตรการคือ มาตรการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพน้ำแม่ข่า แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินตามแนวลำน้ำแม่ข่า จัดหาแหล่งน้ำต้นทุน ปรับภูมิทัศน์และพัฒนาริมน้ำแม่ข่า ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิม บริหารจัดการน้ำแม่ข่าอย่างเป็นระบบ สร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกของชุมชนและพัฒนาและปรับปรุงลำน้ำสาขา

ขณะที่นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการฯได้เคยชี้แนะให้ทางจังหวัดและส่วนที่เกี่ยวข้องให้จัดทำแผนงานและโครงการที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะใน 8 มาตรการที่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 ฝ่ายนั้นก็ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายขอให้เร่งดำเนินการด้วย เพราะในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพน้ำแม่ข่าก็มีการลงนาม MOU ระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่งที่คลองแม่ข่าไหลผ่านแล้ว นายไฉน นาคทรัพย์ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของการสอบเขตแนวคลองแม่ข่าตั้งแต่อำเภอแม่ริม-หางดง แต่เนื่องจากสำนักงานเจ้าท่าฯมีงบประมาณเพียง 1.4 ล้านบาทจึงได้ดำเนินการในเขตอ.เมืองและหางดงก่อน โดยเฉพาะอ.เมืองที่คาดว่าจะมีปัญหาบุกรุกแนวเขตมากที่สุด

สำหรับปัญหาที่พบในเขตเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจะใช้หลักฐานโฉนดเป็นรายแปลง แต่จริงๆ จะพบว่ามีการบุกรุกเกินกว่าโฉนดที่มีเพราะจะมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน แต่ทั้งนี้พบว่าในจำนวน 132 แปลงที่มีการบุกรุกมีสิ่งปลูกสร้างด้วยและอีก 14 แปลงไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และตามกฎหมายใหม่ที่ให้อำนาจกรมเจ้าท่าดำเนินการและคสช.ได้มีคำสั่งให้ผ่อนผันถึงวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาและทางเจ้าท่าฯได้ให้ประชาชนมายื่นไว้ก่อน ขณะนี้ข้อมูลอยู่ระหว่างสรุปเบื้องต้นมีประมาณ 300-400 ราย

ด้านนายกิตติ ธีรสรเดช ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) กล่าวว่า โรงบำบัดน้ำเสียของจังหวัดเชียงใหม่ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้างให้เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าสร้างมานานและมีปัญหาท่อแตกบ่อย โดยเฉพาะในส่วนของสถานีสูบน้ำที่ 10 ที่ใช้ท่อใยแก้วรุ่นเก่า และเสื่อมสภาพเมื่อสูบน้ำก็แตก ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่และอจน.ได้วางแผนร่วมกันสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการสูบน้ำเสียไปยังโรงบำบัดน้ำเสียให้มากขึ้น ซึ่งโรงบำบัดฯนี้มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียได้สูงถึงวันละ 55,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ปัจจุบันนี้มีน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบเพียง 17,000 ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น

“ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ตั้งงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาทเพื่อให้อจน.ศึกษาและวางระบบทั้งหมด ซึ่งจะใช้งบประมาณปี 2562 ในการดำเนินการ เช่นเดียวกับที่ลงนามกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 8 แห่งซึ่งรวมถึงทน.เชียงใหม่ด้วยที่ท้องถิ่นจะต้องตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาและวางระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งทางทสจ.และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการ และอจน.เป็นผู้ศึกษาและวางระบบบำบัดน้ำเสียที่จะต้องดำเนินการกันต่อไป”ผอ.ฝ่ายวิศวกรรม อจน.กล่าว

รศ.รศ.ชูโชค อายุพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่ามีการดำเนินงานมาหลายปี จากการติดตามมาโดยตลอดจะเห็นว่าคณะกรรมการของจังหวัดเชียงใหม่ชุดปัจจุบันมีการทำจริงจังและต่อเนื่องที่สุด แต่ที่เป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องของการจัดการน้ำเสียจากแหล่งต้นกำเนิดไม่ได้ ถึงแม้จะมีการลง MOU ไปแล้วก็ตาม ก็ได้แต่คาดหวังว่าทางอจน.จะหาวิธีการจัดการน้ำเสียได้ เพราะจนถึงขณะนี้เทศบาลนครเชียงใหม่เองก็ไม่สามารถทำได้และแม้จะมีการตั้งงบฯเพื่อศึกษานี้ไว้แล้วแต่ก็ต้องรอแผนหลักจากอจน.ก่อนเช่นกัน

ขณะที่นายทนง ตันติธีรวิทย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ(อดีตผอ.องค์การจัดการน้ำเสีย) กล่าวว่า ต้องชมเชยชาวบ้านต.ป่าแดดที่ไปร้องเรียนเรื่องปัญหาน้ำเสียคลองแม่ข่า ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนเพราะอยู่ปลายน้ำ ทั้งๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็น 1 ใน 2 แห่งที่มีโรงบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ โดยในส่วนของเชียงใหม่สร้างมาเกือบ 20 ปีแล้วแต่ในทางวิศวกรรมแล้วถือว่าเครื่องจักร เครื่องกลหมดอายุไปเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว

“น้ำเสียจากคลองแม่ข่า เป็นเพียงดัชนีชี้วัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียทั้งจังหวัดว่ามีศักยภาพทำได้แค่ไหน ขณะนี้มีการลงนามMOU ไปแล้ว แต่เฉพาะของเทศบาลนครเชียงใหม่กว่าจะได้งบประมาณมาศึกษาและสำรวจก็ปี 2562 และหากต้องทำทั้งจังหวัดก็ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นและที่สำคัญระยะเวลาก็ควรจะเร็วขึ้นด้วย เพราะหากต้องรออีก 2 ปีเกรงปัญหาจะยิ่งทับถมและรุนแรงมากขึ้นด้วย”ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนปิดการประชุม นายชาญวิทย์ วลยางกูร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่ 1 กล่าวว่า อยากจะให้แผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของคลองแม่ข่าประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นโมเดลสำหรับที่อื่นต่อไป ซึ่งก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิดให้รอบคอบ ช่วยกันผลักดันและช่วยกันทำให้ดีขึ้น ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ก็ทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าไปพอสมควร แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเท่าไหร่ และหากใครมีข้อเสนอแนะดีๆ ก็ขอให้ส่งมาให้ทางคณะกรรมาธิการฯด้วย

ขณะที่นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ กรรมาธิการฯ      กล่าวว่า ปัญหาคลองแม่ข่าส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากการที่ไม่มีผังเมือง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯลงพื้นที่มาดูเรื่องนี้แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่ายังขาดงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามทางสนช.จะมีการพิจารณาเรื่องงบประมาณนี้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งในวันที่ 2 ธันวาคม 2560 นี้ทางสนช.ชุดใหญ่จะมีการประชุมสัญจรพบปะประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ขอให้ทุกภาคส่วนเตรียมแผนงาน โครงการ รวมถึงงบประมาณที่จะดำเนินการมาเสนอในเวทีสนช.พบประชาชนครั้งนี้ด้วยเพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ในภาคบ่าย ทางคณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่ดูแนวทางแก้ไขปัญหาการบุกรุกคลองแม่ข่าตามแนวทางประชารัฐที่สะพานศรีดอนไชย จากนั้นไปดูระบบบำบัดน้ำเสียที่อจน.เข้ามาดำเนินการด้วย.

 

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้