เชียงใหม่-ดานัง กับแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เชียงใหม่-ดานัง กับแผนพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

- in headline, อาเซียน +3

ท่าอากาศยานเชียงใหม่นำคณะผู้บริหารและสื่อฯ ศึกษาดูงานสนามบินดานัง สนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของเวียดนามเชื่อมโยงปลุกกระแสการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียน

 การที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.)บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางไปศึกษาดูงานที่ท่าอากาศยานนานาชาติดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันนั้น นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากสนามบินแห่งนี้ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 อยู่ในส่วนของเวียดนามกลาง และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศเวียดนาม รองมาจากท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ตนครโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งอยู่ภาคใต้ของเวียดนามและท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ

Mr.Le Xuan Tung Vice Gerneral Director of Airport Corporation of VietNam (ACV), Director of Da Nang International Airport กล่าวว่า ท่าอากาศยานแห่งนี้เดิมเคยใช้เป็นสนามบินทหารมาก่อนในช่วงสงครามโลก และได้รับการพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ในเวลาต่อมา ปัจจุบันมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารที่ 1 ที่เปิดใช้เมื่อปี 15 ธ.ค. 2554 รองรับการบริการเที่ยวบินในประเทศ และอาคารผู้โดยสารที่ 2 รองรับบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับอาคารผู้โดยสารที่ 2 นั้น เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 50,055 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่ครบครันทันสมัย แต่ละชั้นแบ่งเป็นพื้นที่ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออกอย่างเป็นสัดส่วน มีเคาน์เตอร์เช็กอิน 52 เคาน์เตอร์, เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมือง 42 เคาน์เตอร์ และประตูขึ้นลงเครื่องบิน 10 ประตู ปัจจุบันมีสายการบินขึ้นทั้งสิ้นกว่า 30 สายการบิน จำนวนเที่ยวบินประมาณ 220 เที่ยวบิน/วัน แบ่งเป็นเที่ยวบินในประเทศกว่า 120 เที่ยวบิน/วัน และเที่ยวบินระหว่างประเทศกว่า 100 เที่ยวบิน/วัน รวมทั้งเที่ยวบินตรง เชียงใหม่-ดานัง

ขณะที่ในปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ท่าอากาศยานนานาชาติดานังมีจำนวนเที่ยวบินขึ้นลงทั้งสิ้นกว่า 80,000 เที่ยวบิน, จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้งสิ้น 13.3 ล้านคน และปริมาณขนส่งสินค้า 39,800 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 17, ร้อยละ 23.1 และร้อยละ 22 ตามลำดับ โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเที่ยวบินขึ้นลงทั้งสิ้นกว่า 87,000 เที่ยวบิน,จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการทั้งสิ้น 14.9 ล้านคน และปริมาณขนส่งสินค้า 43,500 ตัน ซึ่งท่าอากาศยานนานาชาติดานัง มีแผนที่จะพัฒนาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคน/ปี และเปิดใช้ภายในปี 2573

ขณะที่นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา  ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียเจริญเติบโตขึ้นมาก เป็นผลจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบกับแนวโน้มและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ที่เปลี่ยนจากกลุ่มที่เดินทางกับทัวร์ เป็นการเดินทางเองโดยหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยเริ่มทำงาน หรือผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ทำให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางบินตรงในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น และมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ ในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเวียดนามมีเที่ยวบินตรงจากเชียงใหม่ไปเมืองหลักถึงสามเส้นทาง คือ เชียงใหม่-ฮานอย โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ เชียงใหม่-โฮจิมินห์ โดยสายการบินเวียดเจ็ทแอร์ และเชียงใหม่-ดานัง โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย

สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติดานังนั้น เป็นท่าอากาศยานที่สร้างใหม่และเปิดใช้ไม่นาน มีขนาดใหญ่ ถือว่าทันสมัยและมีระบบการจัดการเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองที่ดี มีเจ้าหน้าที่มากเพียงพอที่จะให้บริการกับผู้โดยสาร มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ใกล้เคียงกับท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่รองรับได้ประมาณ 11 ล้านคนต่อปี พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารกว้างขวาง มีร้านค้าทันสมัย และป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ชัดเจน จากการเยี่ยมชมและศึกษาดูงานในครั้งนี้จะนำข้อดีต่างๆ ไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้กับท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อการดำเนินงานและการบริการที่ดีขึ้นต่อไป

นอกจากจะศึกษาดูงานที่ท่าอากาศยานนานาชาติดานังแล้ว ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังต้องการให้สื่อมวลชนได้เห็นถึงปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้อต่อการปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยเฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติดานังมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 20 นักท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มอาเซียนมากที่สุด  โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งมาท่องเที่ยวและมาลงทุนมากที่สุดในขณะนี้ รองลงมาเป็นกลุ่มยุโรป และจากดานังยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองต่างๆ อาทิ เว้ที่ต้องผ่านอุโมงค์ถึง 3 อุโมงค์แต่ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมง หรือจากดานังไปยังฮอยอันเมืองมรดกโลกที่ใช้เวลาแค่ 30 นาทีได้อีกด้วย

ที่ดานังยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทั้งทะเล พระราชวังโบราณ และการนั่งกระเช้าไฟฟ้าชมสวนสนุกที่บาน่าฮิลล์และสะพานมือซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่นี่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เอกชนเป็นผู้ลงทุนเอง และการเปิดเที่ยวบินตรงเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวก็จะส่งผลดีกับทั้ง 2 ประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อมายังดานัง ใช้เวลาบินประมาณสองชั่วโมง ซึ่งเที่ยวบินตรงจากเชียงใหม่ไปยังดานังมีวันละ 1 เที่ยวบิน

นายอมรรักษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8 ล้านคนต่อปี เป็นผู้โดยสารในประเทศ 6 ล้านคนและผู้โดยสารต่างประเทศ 2 ล้านคน ในปี 2561 มีผู้โดยสาร 10.8 ล้านคน และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่กำลังดำเนินการปรับปรุงตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 (ปี 2563-2565)โดยจะขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 16.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่ม และขยายลานจอดเพิ่มเป็น 31 หลุม เพิ่มทางขับสายด่วน กระจายขีดความสามารถรองรับ สร้างอาคารจอดรถจำนวน 800 คัน โดยอาคารเอนกประสงค์รองรับผู้โดยสารจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า

สำหรับแผนพัฒนาฯในระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) จะเพิ่มขีดความสามารถให้รับผู้โดยสารให้ได้ 20 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้คาดว่าปี 2562 จะมียอดผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่สูงถึง 12 ล้านคน และในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 12.8 ล้านคน ซึ่งเติบโตถึง 20 ล้านคนในปี 2568 และในปัจจุบันได้มีการเพิ่มเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองจาก 4 เคาน์เตอร์เป็น 6 เคาน์เตอร์ เพิ่มเก้าอี้นั่งรอของผู้โดยสาร มีการจัดระบบการจราจร เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดที่บริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร และการที่ไปศึกษาดูงานในแต่ละที่ ก็เพื่อที่จะนำเอาส่วนที่ดีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงด้วย.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้