ชลประทานยืนยันหลังขยายผลโครงการแกล้งข้าวหอมมะลิ ทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง ชี้การให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและช่วยประหยัดน้ำ

ชลประทานยืนยันหลังขยายผลโครงการแกล้งข้าวหอมมะลิ ทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง ชี้การให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและช่วยประหยัดน้ำ

ชลประทานเชียงใหม่ยืนยันหลังขยายผลโครงการแกล้งข้าวหอมมะลิ ทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง ชี้การให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมทั้งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและช่วยประหยัดน้ำได้

ที่แปลงนาสาธิตบ้านสันทราย หมู่ที่ 7 ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยนายอัษฎางค์ พุทธวงศ์ ปลัดอำเภอพร้าว นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดงานวันเกี่ยวข้าวโครงการการสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในเขตพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ประเภทข้าว ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสาธิตการให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสม ต่อการเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ในการดำเนินการสู่ พื้นที่รับผิดชอบเกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบประเภทข้าวของจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้เป็นโครงการนำร่องในการทำการเกษตรไปสู่เกษตรแบบปลอดภัย ในการช่วยการบริหารจัดการน้ำ และก่อให้เกิดการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง INWEPF Thai บริษัทสยามคูโบต้า จำกัด ซึ่งได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบวิธีเปียกสลับแห้ง จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ประหยัดการใช้น้ำ โดยได้มีการทดลองศึกษาวิธีการให้น้ำ และการใช้น้ำของข้าวเหนียวฤดูนาปรังซึ่งสามารถประหยัดน้ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% จนกระทั่งนำมาสู่การขยายผลโครงการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวหอมมะลิในฤดูนาปี เพื่อเป็นโครงการนำร่องสู่การขยายผลต่อไป

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลการทดลองในแปลงสาธิตการแกล้งข้าวได้ผลผลิตอยู่ที่ 680 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนแปลงเปรียบเทียบที่เกษตรกรทำในพื้นที่ติดกันได้ผลผลิตอยู่ที่ 560 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งทำตามกระบวนวิธีแกล้งข้าวจะได้ปริมาณมากกว่าปกติทั่วไปประมาณ 120 กิโลกรัมต่อไร่ หากจะคิดเป็นมูลค่าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัม 10-12 บาท เท่ากับว่าในแปลงที่ผลิตตามกระบวนการแกล้งข้าวจะมีรายได้มากกว่าปกติราว 1,200 บาทต่อกิโลกรัมต่อไร่

“นอกจากนี้ในเรื่องของการใช้ปุ๋ย หรือการใช้ยาฆ่าแมลง พบว่าจะใช้น้อยกว่าการทำนาโดยปกติทั่วไป โดยเฉพาะแปลงทดลองนี้ พิสูจน์ได้ชัดถึงการใช้ปุ๋ยที่ลดลง จากการสอบถามเกษตรกรที่ทำทราบว่า การให้ปุ๋ยมากเกินไปจะทำให้ข้าวหอมมะลิอ่อนแอ ส่งผลทำให้เกิดโรคค่อนข้างมากเพิ่มขึ้นด้วย และจะทำให้ผลผลิตที่ได้ลดน้อยลงไปด้วย ในปีนี้บริเวณพื้นที่นี้โรคไหม้คอรวงระบาดมาก การที่จะฉีดยา ฉีดฮอร์โมนยิ่งมากเท่าไรยิ่งเสียหายมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ได้ผลผลิตเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่สำหรับแปลงที่ทดลองเห็นได้ชัดเจนว่า ลำต้นจะแข็งแรงกว่า” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับกระบวนการในการทำนาโดยการแกล้งข้าวนั้น ไม่ได้ยากไปกว่าการทำนาแบบปกติทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการดำเนินการที่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษใน 2 ช่วงเวลาคือ ในช่วงที่จะแกล้งข้าว โดยในช่วงแรกเมื่ออายุข้าวอยู่ในช่วง 30-35 วัน สำหรับพันธุ์ข้าวที่อายุไม่เกิน 120 วัน เป็นการแกล้งครั้งที่ 1 ที่จะไม่ให้น้ำเลย ช่วงนี้จะเป็นการแกล้งเพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรง และมีการแตกรากในปริมาณที่มากๆ อีกช่วงเวลาจะอยู่ในช่วงอายุ 60-65 วัน ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ข้าวจะแตกกอสูงสุด หากไปแกล้งในช่วงเวลานี้อีกรอบ ต้นข้าวจะพยายามหนีตายเนื่องจากไม่มีน้ำ ต้นข้าวก็จะแตกกอเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อกอเพิ่มมากขึ้นจำนวนรวงข้าวก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ตรงนี้จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าผลผลิตได้มากว่า

ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า เดิมที่เคยคุยกันการแกล้งข้าวจะแกล้งได้ในช่วงหน้าแล้ง แต่วันนี้สามารถแกล้งข้าวหอมมะลิในช่วงฤดูนาปีได้สำเร็จ ทำให้เห็นว่าการแกล้งข้าวในช่วงฤดูฝนก็สามารถทำได้ แต่วิธีการจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยคือ การขุดบ่อโดยรอบแปลงนาเพื่อจะได้ระบายน้ำในช่วงการแกล้งข้าวลงไปไว้ในบ่อที่ขุดไว้ ในบ่อก็เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาได้ด้วย ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกทาง และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นแบบนี้ได้

สำหรับปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบแกล้งข้าวนี้ ข้อมูลอันเป็นการยืนยันชัดเจนไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ปลูกจริงหรือในแปลงทดลอง พบว่าสามารถประหยัดน้ำสำหรับการทำนาได้ตั้งแต่ 20-33 %ในการใช้น้ำแต่ละรอบของการปลูก ส่วนการขยายผลหรือต่อยอดการแกล้งเข้าในฤดูนาปีนั้น กรมชลประทานมีนโยบายในเรื่อง 1 แปลง 1 โครงการ ซึ่งดำเนินการมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยจะมีนโยบายต่อเนื่องไปอีกว่า จากแปลงที่มีอยู่ให้ขยายผลออกไปโดยการเพิ่มจำนวน เช่นที่อำเภอพร้าวจากปีก่อนหน้านั้นทำเพียง 5 ไร่ แต่ช่วงแล้งที่แล้วมีการทำนาแบบแกล้งข้าวมากถึง 350 ไร่ ซึ่งพบปัญหาอุปสรรคบ้างในการทำนาขนาดแปลงใหญ่ ในแล้งที่จะถึงนี้จะมีการทำเช่นปีที่ผ่านมาอีกครั้ง โดยจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ได้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้นาแปลงใหญ่ของอำเภอพร้าวได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

นายเจนศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาที่พบในช่วงแล้งที่ผ่านมาคือการไม่รักษากติกาที่ตกลงกันไว้ของเกษตรกรบางรายที่ร่วมโครงการในพื้นที่ 350 ไร่ มีการหว่าน ไถ ปักดำไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ ทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดการคลาดเคลื่อนจากแผนที่วางไว้ ซึ่งจะต้องนำมาแก้ไขปรับปรุงในฤดูกาลทำนาในช่วงแล้งที่จะถึงนี้ สำหรับฤดูนาปีในฤดูกาลหน้าคาดว่าจะมีการวางแผนขยายการเพาะปลูกโดยวิธีแกล้งข้าวด้วยเช่นกัน.

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้