ชลประทานทดสอบการจุดระเบิดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ หน้าประตูระบายน้ำแม่ตะมาน เพื่อติดตามพฤติกรรมช้างนับเป็นครั้งแรก

ชลประทานทดสอบการจุดระเบิดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ หน้าประตูระบายน้ำแม่ตะมาน เพื่อติดตามพฤติกรรมช้างนับเป็นครั้งแรก

ชลประทานทดสอบการจุดระเบิดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ หน้าประตูระบายน้ำแม่ตะมาน เพื่อติดตามพฤติกรรมช้างนับเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการ นายสัตวแพทย์ชี้ยังไม่เคยมีงานวิจัยเสียงจากแรงระเบิดมีผลต่อช้างมาอ้างอิง ด้านสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ยอมรับทั้ง 2 สัญญาล่าช้ากว่าแผน หวังปัญหาอุปสรรคจะคลี่คลายโดยเร็ว

ที่ห้องประชุมสำนักงานชั่วคราวบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 พร้อมด้วย นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 นายสัตวแพย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ สัตวแพทย์หญิง ภัคนุช บันสิทธิ์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา พร้อมกับการสาธิตการระเบิดอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัดในพื้นที่ก่อสร้าง ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราจะแยกเป็น 4 สัญญาตามการก่อสร้างคือประตูระบายน้ำแม่ตะมานขนาดกว้าง 10 เมตรจำนวน 4 ช่อง อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.0 เมตรยาว 25.64 กม.ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลบ.ม./วินาที,อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.0 เมตรยาว 22.975 กม.ปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.และระบบท่อส่งน้ำแม่งัด-แม่แตงท่อเหล็กเหนียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตรยาว 26 กม.และอาคารประกอบต่างๆ ส่งน้ำมาใช้ประโยชน์ 25 ล้านลบ.ม.ต่อปี

ทั้งนี้ การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด- แม่กวง สัญญาที่ 1เป็นงานเจาะและระเบิด(Driling&Blasting)ในการจุดเจาะอุโมงค์ความยาว 12.5 กม. ระยะเวลาก่อสร้าง 2,340 วันมีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 2,334.6 ล้านบาท การขุดเจาะอุโมงค์ทำไปได้แล้ว 58.781 เมตรคิดเป็นร้อยละ 0.470 เนื่องจากทำงานขุดเจาะได้วันละ 2-3 เมตร ผลงานก่อสร้างสะสม 8.46% ซึ่งการก่อสร้างมีปัญหาในช่วงขุดเจาะระเบิดล่าช้าอันเนื่องจากสภาพธรณีวิทยาไม่ดีกับพื้นที่หัวงานติดเขตอุทยานแห่งชาติจึงยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานได้

สำหรับสัญญาที่ 2 ใช้เครื่องเจาะอุโมงค์แบบ Tunneling Boring Machine:TBM ในการขุดเจาะอุโมงค์ความยาว 10.476 กม.มีบมจ.ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่นเป็นผู้รับจ้างในวงเงิน 1,880.8 ล้านบาท การขุดเจาะอุโมงค์ทั้งหมด 1,378.980 เมตรคิดเป็นร้อยละ 13.167 ผลงานก่อสร้างสะสม 21.27% ซึ่งของยูนิคงานก่อสร้างเป็นไปตามแผน

สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัดระยะทาง 25.624 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 สัญญาในการขุดเจาะ โดยสัญญาที่ 1 การก่อสร้างตั้งแต่ กม.0+000 – กม.13+600 ผู้รับจ้าง บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ราคาสัญญา 2,857,413,450.00 บาท อายุสัญญา 1,800 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผลงานสะสม 1.532 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาคือซึ่งเพิ่งจะได้การอนุมัติให้เข้าดำเนินการเมื่อ 8 มิ.ย. รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินชดเชยจำนวน 31 ล้านบาท และคาดว่าในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้จะสามารถจ่ายให้กับชาวบ้านได้ และยังติดปัญหาที่ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้างที่จะต้องใช้ระเบิดหิน ส่วนสัญญาที่ 2 การก่อสร้างตั้งแต่ กม.13+600 – กม.25+624 ผู้รับจ้าง  บริษัท  สยามพันธุ์วัฒนา  จำกัด  (มหาชน)  ราคาสัญญา 2,134,000,000.00  บาท  อายุสัญญา 1,800 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ผลงานสะสม 0.185 เปอร์เซ็นต์

นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวว่า ทั้ง 2 สัญญางานล่าช้ากว่าแผนประมาณ 4-5% เนื่องจากตั้งแต่เริ่มสัญญาเกิดปัญหาในเรื่องของผู้ประกอบการปางช้างในพื้นที่ใกล้เคียงไม่อนุญาตให้ทำการระเบิด เพราะมีความกังวลว่าการใช้ระเบิดในการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อช้างและสัตว์ใหญ่อื่นๆ ในพื้นที่ เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณการรับรู้เกี่ยวกับเสียงและแรงสั่นสะเทือนได้เร็วกว่าสัตว์ชนิดอื่น

ในกรณีนี้ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการปางช้างทั้งหมด 7 ปาง ซึ่งมีช้างรวมกว่า 230 เชือก โดยปางช้างที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากจุดก่อสร้าง 550 เมตร และไกลสุดระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการหลายครั้งเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยนำทีมสัตวแพทย์ของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับควาญช้าง และสัตวแพทย์ประจำปางช้าง เข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมของช้าง และมีความเห็นตรงกันว่า ช่วงเช้าจนถึงบ่ายจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและขี่หลังช้าง แต่ช่วงเย็นก็จะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแล้ว ก็สามารถทำได้

เมื่อได้ข้อตกลงและข้อสรุปตรงกันว่าให้ทดสอบการระเบิดหินได้ในช่วงเย็น โดยขอให้ปางช้างแต่ละแห่งทำการมัดช้างไว้ เพราะช้างอยู่ในคอกอยู่แล้ว และให้ควาญช้าง พร้อมทีมสัตวแพทย์อยู่ใกล้ๆ ขณะที่ทำการระเบิด ซึ่งการจุดระเบิดแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่เกิน 0.27 วินาที ก็เสร็จสิ้นแล้ว โดยข้อกังวลในกรณี หากช้างกินอาหารไม่ได้ หรือเป็นอะไรไปทางบริษัทฯ ก็ยินยอมชดใช้ให้หากเกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาที่ทำการก่อสร้าง

“ในการทดสอบครั้งนี้พบว่าเสียงที่ทำการระเบิดดังเพียงแค่ 62 เดซิเบล dbA ซึ่งหากอยู่ในห้วงอันตรายจะต้องสูงถึง 115 เดซิเบล dbA และแรงสั่นสะเทือน 95 dbL แต่ขณะนี้อยู่เพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น และจะมีการทดสอบความแรง พร้อมแรงอัดของระเบิดอย่างต่อเนื่องทุกครั้งของการทำด้วย หากเสียงดังเกินกว่าที่ช้างรับได้ ก็จะปรับลดให้อยู่ในระดับที่ช้างไม่ได้รับผลกระทบ”หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวและว่า

สาเหตุของการก่อสร้างที่ล่าช้าอีกส่วนหนึ่งคือ ในห้วงระยะเวลา 1 ปี ทางทีมก่อสร้างได้ทำการขอขนย้ายวัตถุระเบิดมาไม่ได้ และเพิ่งมาถึงวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมาเท่านั้น จึงทำให้เกิดความล่าช้ากว่าเดิมไปเล็กน้อย แต่ไม่ถือว่าเกินแผนที่วางไว้ และพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทาง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ หากได้รับการอนุมัติแล้วถึงจะส่งต่อที่กรมอุทยานฯ เสนอในการเพิกถอนซึ่งหากส่งมอบพื้นที่ให้เร็ว ก็จะสามารถดำเนินการได้เร็ว ทางผู้เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะทำการก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด

นายวงศ์พันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับอุโมงค์ส่งน้ำแห่งนี้หากสร้างเสร็จแล้ว จะมีปริมาณน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 28.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ผันน้ำส่วนที่เกินความต้องการในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน  จากลำน้ำแม่แตงลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมเป็น 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  ลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งจะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วม และแก้ปัญหาภัยแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนได้

นายสัตวแพย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ กล่าวว่า เนื่องจากยังไม่มีที่แห่งไหนทำวิจัยเกี่ยวกับเสียงจากแรงระเบิดมีผลต่อช้าง ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก และสิ่งที่จะต้องดำเนินการหลังจากการทดสอบจุดระเบิดคือการเฝ้าระวังสังเกตพฤติกรรมช้าง ซึ่งก็มีทีมสัตวแพทย์ มช.,จากกรมปศุสัตว์และปางช้างรวมถึงครวญช้างร่วมทดสอบและสังเกตพฤติกรรมร่วมกัน โดยช้างนั้นมีประสารทสัมผัสการรับรู้ทางเสียงได้ไกลถึง 4 กิโลเมตรและแรงสั่นสะเทือนที่ผ่านมายังไม่มีข้อบ่งชี้.

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้