“จดหมายเหตุชมภู” สื่อเรียนรู้รากเหง้าเยาวชน

“จดหมายเหตุชมภู” สื่อเรียนรู้รากเหง้าเยาวชน

- in Exclusive, ท่องเที่ยว

ป็นเวลาหลายปี ที่ชาวบ้านลุ่มน้ำชมภู ต.ชมภู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เก็บได้วัตถุโบราณ ประเภทหม้อ ไห เครื่องปั้นดินเผา กระทั่งอาวุธสงคราม ที่โผล่ขึ้นจากใต้พื้นดิน เมื่อโรงโม่หินเข้าไปทำเหมือง ระเบิดหน้าดินให้แตกกระจายบริเวณเทือกเขาผาแดงรังกาย ซึ่งตั้งอยู่หลังหมู่บ้านชมภู หรือบางรายก็ค้นพบตามหัวไร่ปลายนา จากการขุดไถ เพื่อทำการเพาะปลูกข้าวและพืชพันธุ์ต่างๆ จึงนำมาเก็บไว้ตามบ้านเรือน และเมื่อส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่กรมศิลปากรก็พบว่ามีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป ทั้งยังอยู่ในหลายยุคหลายสมัย ธนิกา อ่อนสี หัวหน้าโครงการจดหมายเหตุชมภู เล่าว่า ช่วงแรกกลุ่มเยาวชนต้นน้ำชมภู ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเด็กในชุมชนที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กว่า 10 คน ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้เลย อยากของบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนมากกว่า แต่พอพระเทพพิทักษ์  สิริคุตฺโต เลขาเจ้าอาวาสวัดชมพู และที่ปรึกษาโครงการจดหมายเหตุชมภู เล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านชมภูให้ฟัง ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ นำกระเบื้องโบราณไปตรวจสอบ พบว่ามีทั้งหมด 3 ยุคคือยุคร่วมสมัย อายุไม่เกิน 100 ปี, ยุคประวัติศาสตร์ และยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซ้ำบางช่วงน่าจะมีความสัมพันธ์กับจีนในเชิงพาณิชย์ ดูได้จากถ้วยชามสังคโลกที่เป็นลวดลายแบบจีน เป็นต้น สิ่งที่ได้รับรู้ ทำให้มุมมองของทุกคนเปลี่ยนไป หันมาสนใจความเป็นมาของชุมชน ที่สันนิษฐานได้ว่ามีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน และน่าศึกษา รวมถึงอยากจัดเก็บข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นหลัง จะได้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ลืมถิ่นฐาน และรู้จักรากเหง้าของตนเอง“วิธีการ เริ่มจากการจัดค่ายเยาวชนต้นน้ำชมภู เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่ สล.5 (วังแดง) สำนักงานอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เชิญเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร และพระเทพพิทักษ์ ไปให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เป็นวิทยากรเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ พร้อมทั้งพาเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมถึง 34 คน โดยมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในค่าย ขณะที่ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด และหลังจากจบค่าย ทุกคนก็มักจะถามเสมอว่าจะมีกิจกรรมอีกไหม อย่างไร” ธนิกา อธิบาย เธอและแกนนำจึงดึงมาช่วยพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านนำวัตถุโบราณบางส่วนมาบริจาคให้ที่วัดรวบรวมไว้ในหอฉันท์ แต่ขณะนั้นยังไม่ได้จัดเก็บเป็นสัดส่วน หรือทำทะเบียนอย่างชัดเจน ค่อยๆ ทำไปพร้อมกับศึกษาเรียนรู้อย่างละเอียด ตอนนี้ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงมีการจัดทำทะเบียนแล้ว น้องๆ มาช่วยกันถ่ายรูปวัตถุโบราณ แล้วระบุรายละเอียดรูปพรรณสัณฐานของโบราณวัตถุแต่ละชิ้น อยู่ในสมัยใด ใครเป็นผู้บริจาค ซึ่งระหว่างการจัดทำมีตัวแทนของสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย มาช่วยดูแล แนะนำด้วย และจะจัดทำรูปเล่มหนังสือชุด “จดหมายเหตุชมภู” ให้คนรุ่นหลังศึกษาอย่างเข้าใจ สามารถสืบต่อได้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ดั้งเดิม “น้องๆ กล้าแสดงออกมาก มีการจัดตั้งทีมสื่อความหมาย คอยอธิบายให้คนที่มาชมพิพิธภัณฑ์เข้าใจวัตถุแต่ละชิ้น เมื่อมีคำถามก็จะตอบได้ทันที ซึ่งความรู้และเข้าใจดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะถ่ายทอดสู่คนอื่นเท่านั้น หากยังทำให้พวกเขาเองซึมซับรากเหง้าของตนเองมากขึ้นโดยปริยาย หลังจากเสร็จสิ้นโครงการจดหมายเหตุชมภู จึงคิดกันว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ใต้ถุนบ้านต่อไป แม้จะไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.แล้ว เพราะสิ่งของบางอย่างที่ชาวบ้านเก็บไว้ ยังไม่ได้นำมาบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงใต้ถุนบ้านแต่ละหลังน่าจะเป็นคลังความรู้ และเสน่ห์จากการฟังเรื่องเล่าผ่านปากคำผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ในบ้าน ช่วยให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าติดตามค้นหายิ่งขึ้น” หัวหน้าโครงการ กล่าวย้ำ ด้านพระเทพพิทักษ์  สิริคุตฺโต เล่าว่า เห็นบ้านแต่ละหลังมีถ้วยชามโบราณเก็บไว้แบบกระจัดกระจาย จึงอยากเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน และมีชาวบ้านทยอยบริจาคให้ตั้งแต่ปี 2543 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และในเวลาต่อมาเมื่อทางเจ้าอาวาสยกหอฉันท์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็มีการจัดผ้าป่าระดมทุน ไม่ได้ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากศรัทธาชาวบ้านอย่างมาก เนื่องจากวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของ 2 หมู่บ้านใหญ่ คือหมู่ 1 และหมู่ 3 ที่สำคัญคือทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นสายเครือญาติกันเกือบทั้งหมด มีเพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้นเมื่อปรับปรุงหอฉันท์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านที่มีวัตถุโบราณที่เก็บได้ตามหัวไร่ปลายนา แม่น้ำ หรือใต้ถุนเรือนให้นำมาเก็บรวมกันในพิพิธภัณฑ์ เพราะวันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ยังรับรู้ถึงที่มาของวัตถุโบราณแต่ละชิ้น บางคนยังเล่าย้อนไปถึงสมัยอดีตเมื่อ 2-3 ชั่วอายุคน ตามที่มีการเล่าสืบต่อกันมาในตระกูลได้  หากวันหน้าล้มหายตายจากไป เรื่องราวก็คงสูญหายไปกับตัว ดังนั้นการนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมอธิบายประวัติความเป็นมากำกับไว้ เยาวชนก็จะได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ และรู้ที่มาที่ไปของชุมชนตนเอง สามารถถ่ายทอดสู่คนอื่นสืบไปได้

นั่นย่อมดีกว่าปล่อยให้เด็กนั่งดูทีวี เล่นเกม หรือแชทกับเพื่อนทั้งวัน ทั้งการฝึกเป็นนักสื่อความหมาย ก็ทำให้พาคนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจ แม้จะมีรายได้แค่ 5-10 บาท จากเงินที่ผู้เยี่ยมชมมอบให้แล้วนำมาแบ่งปันกัน ก็นับว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทำงาน ไม่กลัวการเข้าสังคม รู้วิธีการเข้าหาคนอื่นๆ ที่หลายครั้งมาจากต่างถิ่น และยังต่างเพศ ต่างวัยกันอีกด้วย.  

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้