คาดสถานการณ์ฝุ่นควันซ้ำรอยปีที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติเตรียมซ้อนแผนใหญ่รับมือช่วงปลายม.ค.

คาดสถานการณ์ฝุ่นควันซ้ำรอยปีที่ผ่านมา สภาความมั่นคงแห่งชาติเตรียมซ้อนแผนใหญ่รับมือช่วงปลายม.ค.

เวทีสาธารณะ”ต่อลมหายใจเชียงใหม่(อีกครั้ง) คาดสถานการณ์ฝุ่นควันซ้ำรอยปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่เผยเตรียมแผนรับ เพิ่มความเข้มข้นในการทำงาน ชี้สภาความมั่นคงแห่งชาติซ้อมแผนใหญ่รับมือปัญหาช่วง ปลายม.ค.-ต้นก.พ. ขณะที่นายกเล็กเมืองเชียงใหม่แจงตั้ง 14 จุดเซฟตี้โซนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ลดฝุ่นจากสิ่งก่อสร้าง ลดควันดำและผนึกตึกสูงพ่นละอองน้ำ ด้านนักวิชาการเผยมช.ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาหมอกควันพร้อมสนับสนุนความรู้ เพื่อให้ขอมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่สภาลมหายใจจัดมหกรรมพลังเชียงใหม่กลางเดือนธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.62 ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่  สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเวทีสาธารณะ ต่อลมหายใจเชียงใหม่ (อีกครั้ง) เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งชุมชนในเมืองและชนบท เพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นควัน โดยมีตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่,นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วมในเวทีเสวนาดังกล่าว โดยมีรศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มช.เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา

นายธนา นวลปลอด หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และการจัดการสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการคาดหมายของ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศปีนี้ว่าจะคล้ายกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ-มี.ค . ซึ่งคาดว่าความกดอากาศต่ำจะยังคงแรง และหากเกิดการเผาพื้นที่ ทั้งเศษวัสดุการเกษตรหรือเชื้อเพลิงในเขตป่า ด้วยสภาพของเมืองเชียงใหม่ที่เป็นแอ่งกระทะ จะทำให้เผชิญปัญหาฝุ่นควันเหมือนปีที่ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์นั้น ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มใช้ศาสตร์พระราชา เช่น การทำป่าเปียก การสร้างฝาย ซึ่งได้เริ่มลงมือทำมาตั้งแต่เดือน พ.ค.-พ.ย.และมีการประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและมีผลกระทบที่มีการเผามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของยุทธศาสตร์การเตรียมการก็ยังใช้เหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีการจำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ คือพื้นที่เกษตร, ชุมชนเมือง, พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ป่าไม้ โดยมีผู้รับผิดชอบชัดเจน มีการใช้ดาวเทียมตรวจจับความร้อน และหากพบต้องเร่งแก้ไข โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการได้ทันที

หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการจัดการ จะ ยึดตามข้อสั่งการของผู้บัญชาการเหตุการณ์ ซึ่งใช้ระบบ single command  ,ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ แต่ก่อนที่การบริหารสถานการณ์จะถึงผู้ว่าฯ ทางองค์การปกครองท้องถิ่น และนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ก่อน  เพราะปีนี้ได้เน้นย้ำให้นโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการก่อน เนื่องจากมีงบประมาณ และอยู่ใกล้ชิดประชาชน

“ในปีนี้ จังหวัดเชียงใหม่เรามีภาคประชาชนเข้ามาร่วม เช่น สภาลมหายใจ ซึ่งถือว่าเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน มีการตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาฝุ่นควันตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ด้านการบังคับใช้กฎหมายจะเข้มข้นขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงห้ามเผา นอกจากนี้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติจะมีการซ้อมใหญ่แผนเเก้ปัญหาฝุ่นควัน ในช่วงประมาณเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.ด้วย”นายธนา กล่าวชี้แจง

ด้านนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมรับมือปัญหาฝุ่นควันในเขตเมือง ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ดูแลพื้นที่กว่า 40 ตารางกิโลเมตร ได้มีการเน้นย้ำใน 3 ประเด็น โดยประเด็นแรก คือเรื่องสุขภาพ ซึ่งได้มีการเตรียมพื้นที่ตั้งพื้นที่ปลอดฝุ่น หรือ เซฟตี้โซนจำนวน 14จุดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และให้ความรู้เรื่องฝุ่นละอองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง ประเด็นที่ 2 คือลดปัจจัยการเกิดฝุ่นควัน หรือลดแหล่งกำเนิด เช่น การก่อสร้างตึกต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ผ้าคลุม และเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ส่วนปัญหาการเผาเศษขยะ ใบไม้ กิ่งไม้ เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้นัดหมายการเก็บขยะ เช่น ใบไม้ จะนัดเก็บทุกวันศุกร์เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนรถยนต์ในเมือง จะเน้นมาตรการตรวจควันดำ และเน้นให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ประเด็นที่ 3 เทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมหารือตึกสูงในเทศบาลนครเชียงใหม่เพิ่มการฉีดละอองน้ำตามตึก ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ขอความมือได้ประมาณ 40 ตึก และเตรียมขยายเพิ่มเติม ขณะเดียวกันเตรียมเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะให้มากขึ้น

ทางด้านดร.สมพร จันทระ คณะทำงานแก้ปัญหาหมอกควันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รวบรวมนักวิจัยสาขาต่างๆ มารวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา โดยตั้งคณะทำงานเมื่อเดือนมิ.ย.จำนวน 15 คน เช่น เครื่องตรวจวัดข้อมูลคุณภาพอากาศเตรียมติดตั้งเพิ่มให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้แต่ละพื้นที่เตรียมป้องกันรับมือดูแลสุขภาพ และจัดทำเว็บไซต์ให้เห็นภาพรวมปัญหาหมอกควัน

“คณะทำงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนความรู้จากภาควิชาการที่ต่างคนต่างทำมารวมไว้แล้ว เพื่อให้ขอมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้ส่วนงานที่ต้องการการสนับสนุนนำไปใช้ต่อยอดเพื่อแก้ปัญหา อีกอันที่เราทำคือ ระบบ Low Cost Senior ในการรายงานค่าคุณภาพอากาศให้ประชาชนได้เข้าถึงและรู้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเพื่อการป้องกันตัวเอง ตอนนี้เราพยายามทำข้อมูลคุณภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ต่อให้เราไม่ทำ ตอนนี้ประชาชนไม่ได้รอดูข้อมูลจากแหล่งเดียว เขาเข้าถึงแอพพลิเคชั่นเช่นที่นิยมกันคือ AirVisual”ดร.สมพร กล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังได้คิดนวัตกรรมใหม่ในการใช้ชีวิตของประชาชน การป้องกันตัวเอง เช่น Nano Filler ที่ใช้กรองฝุ่นสามารถล้างทำความสะอาดได้ ไม่ต้องทิ้ง การให้ความรู้เชิงวิชาการ เช่น ต้นกล้าท้าฝุ่นควัน คือให้ผู้เข้าร่วมรู้กับเยาวชน ถึงสาเหตุ และการป้องกันตัวเอง

ขณะที่นางสาวปริศนา พรหมมา ตัวแทนจากสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2550 แต่แก้ปัญหาไม่ได้ จึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มคนจากหลากสาขา อาชีพที่จะมาแก้ปัญหานี้เป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งมีการหารือแนวทางการทำงานภาคเมือง ภาคชนบท และส่วนราชการ มีการจัดการพื้นที่ 2 ส่วน โดยในส่วนของภาคเมืองจะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เป็นแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว และเตรียมจัดมหกรรมพลังเชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้เพื่อประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหาฝุ่นควัน  ส่วนภาคชนบท มีแนวร่วมจาก 32 ชุมชน ที่สามารถจัดการปัญหาฝุ่นควันและประสบความสำเร็จ  นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯเตรียมลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์ ต้นทุนการจัดการ และสนับสนุนเพื่อที่จะได้เตรียมขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ส่วนการจัดการเชื้อเพลิงโดยวิธีการชิงเผานั้น ก็มีการเตรียมการทำวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งในชุมชนอีกด้วย.

You may also like

เกษตรกร ชี้ซีพีเป็นรายเดียวเข้มนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา

จำนวนผู้