กำชับผู้นำท้องถิ่น 8 อำเภอเขตพื้นที่ควบคุมการปล่อยโคมลอยให้ควบคุมและยึดกฎหมาย นักบินเผยพบแอบปล่อยแล้วแนวร่อนลงหัวสนามบิน

กำชับผู้นำท้องถิ่น 8 อำเภอเขตพื้นที่ควบคุมการปล่อยโคมลอยให้ควบคุมและยึดกฎหมาย นักบินเผยพบแอบปล่อยแล้วแนวร่อนลงหัวสนามบิน

จังหวัดร่วมกับท่าอากาศยานเชียงใหม่ ศูนย์ควบคุมการบินและตำรวจจัดประชุมชี้แจงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 8 อำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมการปล่อยโคมลอย กำชับขอให้ควบคุมและยึดกฎหมาย ศูนย์ควบคุมการบินยันนักบินแจ้งพบมีการแอบจุดพลุและปล่อยโคมลอยในเขตแนวร่อนลงทิศใต้สนามบินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้หากละเลยและเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกกระทบไปทั่วโลก

วันที่ 22 ต.ค.62 เวลา 13.30 น.ที่โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงประกาศจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟและโคมควันหรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นสู่อากาศ ซึ่งปกครองจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ Gisda จัดขึ้นโดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน 8 อำเภอซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่เกือบ 700 คนเข้าร่วมรับฟัง

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้หลักจากภาคการท่องเที่ยว แต่ประชากรร้อยละ 70 มีอาชีพจากภาคเกษตรและอื่นๆ ขณะที่ภาคธุรกิจบริการและท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 30 อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลลอยกระทงภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็อยากให้มีการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวขึ้นมา ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศจังหวัดที่กำหนดพื้นที่ในการห้ามปล่อยโคมลอยและจุดพลุซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการชี้แจงรายละเอียดเพื่อให้ผู้นำท้องถิ่นไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ขณะที่นายชลิต ทิพย์คำ จ่าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่นั้นห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายโคมลอย โคมไฟ และพลุในเขตวัด โรงเรียนและทางสาธารณะ และการปล่อยหรือจุดก็ต้องได้รับการอนุญาตจากนายอำเภอซึ่งการยื่นขออนุญาตต้องก่อนวันที่จะปล่อย 15 วัน เพื่อที่ทางอำเภอจะได้ส่งพิกัดไปให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ตรวจสอบว่าอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมหรือไม่ ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่มีประกาศจังหวัดที่อนุญาตให้ปล่อยได้ 3 วันคือวันกระทงเล็ก กระทงใหญ่และวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงฝากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่ไปดูแล ตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะจุดที่ปล่อยนั้นจะต้องอยู่ห่างจากโรงพยาบาล 500 เมตรและห่างจากปั้มน้ำมัน 150 เมตรด้วย

ขณะที่พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวชี้แจงว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยแถวกวาดล้างก่อนช่วงเทศกาลฯ ส่วนมาตรการป้องกันอันตรายจากพลุ ประทัดและดอกไม้เพลิง รวมถึงโคมลอยนั้น ได้มีการประสานกับฝ่ายปกครองที่จะกวดขันและบังคับใช้กฎหมาย ตามประกาศจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดภัยทางเดินอากาศ

“ในเรื่องของการปล่อยโคมลอย เมื่อประมาณปี 2560 ที่มีโคมลอยขนาดใหญ่ไปตกในเขตอ.ดอยสะเก็ด และจากการสืบสวนทราบว่าโคมที่ปล่อยๆ จากวัดในเขตอ.เมืองเชียงใหม่แล้วไปตกที่อ.ดอยสะเก็ดสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนราษฎรและได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาพระภิกษุที่ปล่อย และส่งเรื่องฟ้องศาลด้วย และไม่ใช่แค่โคมลอยที่คนปล่อยจะมีความผิดหากไปสร้างความเสียหายเท่านั้น การยิงปืนซึ่งก็ยังมีผู้ที่แอบยิงหากไปตกใส่หลังคาบ้านหรือบุคคลได้รับบาดเจ็บ เสียหายหรือเสียชีวิตก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงฝากผู้นำท้องถิ่นไปดูแลและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย”พ.ต.ท.มนัสชัย กล่าว

ทางด้านดร.ปรีชา สร้อยสวน หัวหน้าศูนย์อัตลักษณ์ วิชาการเเละสารสนเทศและนายภาณุพัฒน์ ห่อมา วิศวกร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ใช้งานระบบบริหารจัดการกิจกรรมบั้งไฟและโคมลอย ที่เรียกสั้นๆ ว่าระบบบำเพ็ญในพื้นที่จังหวัดนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และปี 2562

ในปี พ.ศ. 2561 ที่เปิดการใช้งานระบบบำเพ็ญอย่างเป็นทางการ ในจังหวัดนำร่องภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ สำหรับกิจกรรมบั้งไฟ ในเดือนพฤษภาคม มีการออกใบอนุญาตผ่านระบบ 374 ใบอนุญาต และเปิดการใช้งานระบบบำเพ็ญอย่างเป็นทางการ ในจังหวัดนำร่องภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ในเดือนพฤศจิกายน มีการออกใบอนุญาตผ่านระบบ 75 ใบอนุญาต รวม ทั้งหมด 449 ใบอนุญาต  ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2562 ได้มีการขยายผลการใช้งานระบบบำเพ็ญในจังหวัดนำร่องภาค อีสานเพิ่มเติม จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานี มีการออกใบอนุญาตผ่านระบบ ของ 6 จังหวัด รวมทั้งหมด 873 ใบอนุญาต

ดร.ปรีชา กล่าวอีกว่า ระบบบำเพ็ญจะเป็นตัวรวบรวมข้อมูลการปล่อยโคมลอยหรือบั้งไฟ ให้หน่วยงานการบินได้เห็นพร้อมกันทุกหน่วยงานเพื่อสะดวก รวดเร็วของข้อมูล โดยระบบนี้จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นขออนุญาตปล่อยหรือจุดโคมลอยด้วย แต่สิ่งที่ต้องปฏิบัติคือ ผู้ที่จะยื่นขอใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามระเบียบประกาศจังหวัดก่อน เพราะต้องแนบใบอนุญาตที่เป็นดิจิตอลบนโทรศัพท์ด้วย

“ระบบบำเพ็ญนี้จะเอาข้อมูลการจุดหรือปล่อยโคมลอยส่งให้กับหน่วยการบิน ซึ่งจะบอกจำนวน น้ำหนัก ขนาดและประเภทด้วย ทั้งนี้ต้องขอย้ำกับผู้ใหญ่บ้านให้แจ้งประชาชนที่จะยื่นขออนุญาตว่า ต้องกรอกข้อมุลให้ถูกต้อง เพราะในอดีตเจอแล้วว่ายื่นขออนุญาตปล่อยโคมลอย 2,000 ลูกแต่ปล่อยจริง 4,000 ลูก เมื่อระบบบำเพ็ญรายงานข้อมูลให้กับหน่วยงานการบินไป แต่ไม่ตรงความจริงก็จะเป็นอันตรายกับการเดินอากาศด้วย ทั้งนี้แอพบำเพ็ญนี้จะช่วยตรวจสอบได้ด้วยว่าจุดที่จะปล่อยอยู่ใกล้โรงเรียน วัดหรือปั้มน้ำมันและชุมชนแค่ไหน และตรงกับจุดที่ยื่นขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ด้วย”ดร.ปรีชา กล่าว

ทางด้านเรืออากาศโท ธนันท์รัฐ ประเสริฐศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การท่าฯจะเป็นผู้ตรวจสอบกรณีที่จะมีการปล่อยโคมซึ่งผู้ประกอบการ เอกชนจะยื่นขออนุญาตจากทางอำเภอ และทางอำเภอจะทำหนังสือถามกลับมาที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่และวิทยุการบินให้ตรวจพิกัดว่าอยู่ในเขตห้ามปล่อยหรือไม่ โดยทางอำเภอจะแจ้งกลับไปหลังตรวจสอบแล้ว และอีกส่วนคือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่จะเป็นสื่อกลางแจ้งสายการบินให้ทราบและขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนเวลาการบิน ไม่ให้ขึ้น ลงช่วงที่มีการปล่อยโคม

รองผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ปี 61  มีเที่ยวบินยกเลิก 60 เที่ยวบินและ 88  เที่ยวบินปรับเปลี่ยนเวลาบิน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยกเลิกไปประมาณ 1 หมื่นคน แต่ปีนี้ยังไม่มีการสรุป และคาดว่าในช่วงต้นพ.ย.จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานเชียงใหม่มีหน้าที่ดูแลการขึ้น ลงของเครื่องบิน ซึ่งโคมลอยส่วนหนึ่งที่ปล่อยอาจตกลงมาในรันเวย์ โดยสถิติ 20ปีที่ผ่านมาพบว่าปี 50  มากที่สุด 1,152 โคม ปีที่ผ่านมา 1,145 โคม ปีที่แล้วมีการยืนขออนุญาตปล่อย 4 หมื่นกว่าโคมแต่ตกในรันเวย์ 149 โคมซึ่งอาจจะไปตกในสวนหรือบ้านเรือนประชาชน อย่างไรก็ตามช่วงเทศกาลจะไม่มีการขึ้นลงของเครื่องบิน แต่ท่าอากาศยานฯก็ต้องดุแลทางวิ่ง ทางขับ โดยจัดจนท.ออกตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้เศษหรือซากโคมลอยติดเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ทั้งนี้ขอกำนัน ผญบ.กำชับลูกบ้านห้ามปล่อยนอกเวลาที่อนุญาต เพราะเครื่องบินยังไม่หยุดบิน ซึ่งมีหลายครั้งที่พบว่ามีการปล่อยก่อนหรือหลังวันที่กำหนด โคมที่ปล่อยไปจะสร้างอันตรายและความเสียหายให้กับอากาศยานที่บินอยู่ อาจทำให้เครื่องบินตกได้

ส่วนทางด้านนายพงษ์ชัย มูลรินทร์ ผอ.ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้ที่เชิญมารับฟังด้วยความห่วงใยของวิทยุการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาช่วยกันเพิ่มความปลอดภัยให้น่านฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเราไม่อยากเห็นหรือเจอสิ่งที่กระทบการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ เพราะถ้าเกิดเหตุขึ้นมาจะส่งผลกระทบอย่างมากไม่ใช่แค่ระดับจังหวัดหรือประเทศ แต่กระทบไปทั่วโลก เชียงใหม่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ และชลบุรีทั้งนี้ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ยืนยันจะบริหารความปลอดภัยเพื่อให้ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชียงใหม่ยังมีอยู่แต่ต้องปลอดภัยด้วย

นายดนัย อุ่นศรีส่ง ตัวแทนจากศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่กล่าวว่า เชียงใหม่วันหนึ่งมีเที่ยวบินขึ้น ลง 230 เที่ยวบินต่อวันบิน โดยทิ้งระยะห่างกัน 4-5 นาที และในอนาคตจะมีเที่ยวบินเพิ่มและบินถี่มากขึ้น ซึ่งสนามบินเชียงใหม่ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่และแนวขึ้นลงครอบคลุม3 จังหวัดตั้งแต่ลำปางมาถึงเชียงใหม่ โดยแนวร่อนจะเริ่มจากลำพูน หากลมเปลี่ยนทิศก็จะร่อนลงจากทางทิศเหนือซึ่งเครื่องบินจะร่อนลงมาจากทางอ.แม่ริม เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเจอโคมลอย และพลุในจุดร่อนลงอย่างแน่นอน

“ทุกวันนี้สายการบินก็รายงานว่า ยังพบโคมลอยอยู่เช่นกัน และในช่วงก่อนออกพรรษาก็ยังพบการจุดพลุอีก ซึ่งอันตรายอย่างมาก เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานักบินรายงานว่ามีการจุดพลุและปล่อยโคมลอยในแนวร่อนลงของเครื่องบินทางทิศใต้และอยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 6 กิโลเมตร กัปตันพบมีการปล่อยโคมลอยถึง 5 ลูกทั้งๆ ที่ไม่ใช่ช่วงที่อยู่ในประกาศจังหวัดที่อนุญาตให้ปล่อยโคมลอยหรือจุดพลุได้ จึงอยากขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยกำกับในพื้นที่ขอให้อยู่ในกติกาด้วย แม้กระทั่งในช่วงที่อนุญาตหากสามารถลดจำนวนที่ปล่อยได้ก็จะดี โดยเฉพาะโคมควันซึ่งสามารถลอยอยู่ในอากาศได้สูงและนานมากข้ามวันยังไม่ตก หากชนกับเครื่องบินหรือเข้าไปติดในใบพัดหรือเครื่องยนต์และหากทำให้เกิดอุบัติเหตุจะสร้างความเสียหายมหาศาล”นายดนัย กล่าวและว่า

ในช่วงเทศกาลแต่ละชั่วโมงพบการปล่อยโคมลอยวันละ 10 เที่ยวบินที่พบ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ตั้งแต่เที่ยงถึงหนึ่งทุ่มซึ่งพบถึงร้อยละ 20 เป็นความเสี่ยงของการเดินอากาศ จึงขอผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบและตระหนักถึงปัญหาด้วย

ทางด้านนายสุรพันธ์ หอมขจร ผู้บริหารสายการบินแอร์เอเชีย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสายการบินเชียงใหม่ กล่าวว่า กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วงลอยกระทง ทางสายการบินเองอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนเที่ยวบินและทางนักบินก็มีการพิจารณาเรื่องความสูง และความเร็วเพื่อหลบเลี่ยงโคมลอย โดยทุกสายการบินพร้อมที่จะบินในเวลาก่อนที่ประกาศจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ปล่อยได้ คือหนึ่งทุ่ม และในระหว่างปรับเปลี่ยนเที่ยวบิน สายการบินได้ปรับเปลี่ยน เวลา บินตามประกาศจังหวัดกำหนด คือระหว่างเวลา 10.00-12.00น.และ 19.00-01.00 น.จะไม่มีเที่ยวบินอย่างแน่นอน

ทั้งนี้นายพงษ์ชัย มูลรินทร์ ผอ.ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ กล่าวปิดท้ายว่า วันนี้เข้าใจว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านจะได้เห็นภาพรวมของกิจกรรม กระบวนการ ขั้นตอนที่จะมาช่วยกันเพื่อความปลอดภัยในการเดินอากาศและประเพณีอันดีงามของเทศกาลลอยกระทง โดยเริ่มจากกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ข้อบังคับ และการป้องกันปราบปราม การใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่ง Gisda และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ขอฝากย้ำถึงความปลอดภัยในการเดินอากาศไว้ด้วย.

You may also like

บสย. รุกโมเดล “SMEs Digital Gateway” ปั้น 11 สาขาภูมิภาคสู่ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน

จำนวนผู้