กมธ.สถาปนิกล้านนา-อาจารย์สถาปัตย์ มช. เติมเต็มองค์เจดีย์หลวงด้วยปรากฏการณ์แสง

กมธ.สถาปนิกล้านนา-อาจารย์สถาปัตย์ มช. เติมเต็มองค์เจดีย์หลวงด้วยปรากฏการณ์แสง

เชียงใหม่ / กมธ.สถาปนิกล้านนา จับมืออาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. สร้างปรากฏการณ์แสง  เติมเต็มรูปทรงและสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์ให้องค์เจดีย์หลวง หวังให้ผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ความงดงามในอดีตเพจเฟสบุ๊ค Faculty of Architecture Chiang Mai University ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ เมื่อ 27 ก.ค.64  ว่าทางกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) และผศ.กานต์ คำแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. ต่อยอดการทดลองเชิงปรากฏการณ์แสงของกรรมาธิการสถาปนิกล้านนาฯ ที่ได้พยายามทดลองนำปรากฏการณ์แสง มาสร้างมุมมองใหม่ต่อสถาปัตยกรรมในภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ นายปราการ ชุณหพงษ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา ได้วางเป้าหมายสำคัญในงานสถาปนิกล้านนา’64 ด้วยการสร้างปรากฏการณ์แสง เพื่อเพิ่มคุณค่า และมิติการรับรู้ใหม่ให้กับวัดเจดีย์หลวงวรวิหารซึ่งการทดลองปรากฏการณ์แสง ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหารนี้ เป็นการร่วมกันค้นหาวิธีการสร้างมุมมองใหม่ต่อองค์เจดีย์หลวง โดยตั้งคำถามว่า องค์เจดีย์หลวงในสภาพสมบูรณ์ จะมีความยิ่งใหญ่และงดงามได้เพียงใด จึงมีแนวความคิดหาทางใช้ปรากฏการณ์แสงเติมเต็มรูปทรงและสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์ให้กับองค์เจดีย์หลวง เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ความงดงามขององค์เจดีย์หลวงในอดีตเมื่อระดมสมองร่วมกันแล้ว ก็เกิดแนวคิดที่จะทดลองใช้แสงกับเทคนิค “Projection” หรือ “ภาพฉาย” ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สุดในการนำเสนอแบบทางสถาปัตยกรรม (เช่น แปลน, รูปด้าน, รูปตัด) โดยทีมผู้จัดทำเห็นว่าเทคนิคภาพฉายที่เป็นเครื่องมือที่เรียบง่ายนี้ อาจจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพต่อการทดลองนี้ได้ จึงได้สืบค้นรูปแบบขององค์เจดีย์ที่สมบูรณ์จากข้อสันนิษฐานที่สรุปมาจากการศึกษาเทียบเคียงหลักฐานและตำนาน โดยนักประวัติศาสตร์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน พบว่ามีข้อสันนิษฐานของรูปทรงที่สมบูรณ์ในหลายแนวทางดังนั้นแนวทางการทดลอง จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการทำให้ผู้ชมสามารถเติมเต็มความเป็นไปได้บางส่วนด้วยตัวเอง ผ่านการสร้าง “การเว้นว่าง” ให้จินตนาการของผู้ชมได้เติมเต็มความสมบูรณ์ขององค์เจดีย์ขึ้นภายในใจ ดังนั้นร่องรอยของ “เส้นรอบรูป” ที่สมสัดส่วนและเบาบาง จึงเป็นเครื่องมือที่เลือกใช้สำหรับการสร้างภาพฉายของเส้นรอบรูปองค์เจดีย์ที่สมบูรณ์ด้วยแสง เป็นการเล่นกับมิติการรับรู้ “ความแบน” และ “ความลึก” ในเทคนิคการสร้างภาพฉายทางสถาปัตยกรรม โดยปกติแล้วสถาปนิกจะใช้วิธีฉายภาพรูปทรง 3 มิติที่มีความลึกให้ปรากฏไปบนระนาบที่แบนราบในมุมมองต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นภาษาของแบบทางสถาปัตยกรรม 2 มิติเพื่อใช้ในการสื่อสารขณะเดียวกัน ก็ทดลองในกระบวนการย้อนกลับ ฉายแสงเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เป็นการฉายภาพ 2 มิติกลับคืนไปสู่องค์เจดีย์จริงที่เป็นวัตถุ 3 มิติ การทดลองนี้จึงเป็นลองใช้ “มิติความแบน” จากโลกกราฟิก 2 มิติเพื่อกระตุ้นการรับรู้ใหม่ให้กับ “มิติความลึก” ในโลกกายภาพ 3 มิติ

โดยกระบวนการเล่นกับมิติด้วยปรากฏการณ์แสง ได้เริ่มต้นจากการฉายภาพเส้นรอบรูปให้ยืดยาวออกไป (extrusion) จากจุดกำเนิดแสง (dot)  สู่การเกิดลำแสง (line)  ปรากฏเป็นระนาบแสงเสมือน (plane)  และนำไปสู่การปิดล้อมระนาบแสง จนเกิดเป็นอุโมงค์แสงเสมือน (space) ที่ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์ที่อยู่เบื้องหน้า สร้างประสบการณ์เติมเต็มให้ผู้ชม แต่ทัังนี้ยังเป็นเพียงการทดลองในเบื้องต้น ทีมผู้จัดทำจะทำการพัฒนาการทดลองกันต่อไป.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้