เชียงใหม่จับมือมช.รายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศควบคู่ทั้งPM 2.5 กับPM10 ย้ำสุขภาพประชาชนสำคัญ

เชียงใหม่จับมือมช.รายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศควบคู่ทั้งPM 2.5 กับPM10 ย้ำสุขภาพประชาชนสำคัญ

จังหวัดเชียงใหม่ จับมือคณะแพทย์ มช. เตรียมรายงานคุณภาพอากาศแบบ PM 10 และ PM 2.5 ควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนช่วงภาวะหมอกควัน ขณะที่ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ย้ำสุขภาพของประชาชนทุกคนสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 13.30 น. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ชั้น 1 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ประชุมผ่านระบบ VDO Conference ให้แก่นายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการดำเนินงาน ติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในช่วงเวลา 51 วัน (1 มีนาคม – 20 เมษายน 2561) อย่างใกล้ชิด

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถิติในช่วงห้ามเผาเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 1 มีนาคมมาจนถึงขณะนี้ (2 เม.ย.61) ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 59 พบจุดความร้อนสะสม หรือ Hotspot จำนวน 566 จุด และปี 60 พบจำนวน 522 จุด แต่ในปีนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 161 จุด ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ ทั้งการลาดตระเวน สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดความตระหนัก หรือถ้าเกิดไฟก็จะพยายามเข้าไประงับไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่ค่าคุณภาพอากาศหนักที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะอากาศในช่วงเช้าที่มีการกดตัวลง ส่งผลต่อค่าฝุ่นละอองในช่วงเช้าสูงขึ้น รวมทั้งทิศทางลมที่พัดหมอกควันจากจังหวัดข้างเคียงและข้ามชายแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงลอยมาอยู่ในแอ่งกระทะของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ขณะนี้กระแสสังคมต้องการที่จะให้ใช้ค่าวัดที่ค่า PM 2.5 ซึ่งจังหวัดไม่มีเครื่องที่สามารถวัดได้ เนื่องจากการวัดคุณภาพอากาศเป็นการวัดของกรมควบคุมมลพิษที่ใช้ค่า PM 10 โดยมีสถานีวัดแบ่งออกเป็น 4 สถานี เป็นการวัดในแต่ลักษณะแตกต่างกัน ประกอบด้วย 1)ศรีภูมิ บ่งบอกถึงชุมชนเมือง 2)ช้างเผือก เป็นการวัดผู้คนเข้าออกที่มาติดต่อราชการในศาลากลาง 3)สุเทพ วัดจากนักท่องเที่ยว และ4)แม่แจ่ม เพราะเคยมีปัญหาการเผาข้าวโพด ซึ่งเราก็จะมีการวิเคราะห์จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ , สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพ หรือขอให้ช่วยรดน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ แต่เมื่อสื่อไปในสังคม สังคมก็หาว่าเราปกปิดข้อมูล เพราะประชาชนก็ใช้วิธีการมองดอยสุเทพเป็นหลัก พอไม่เห็นดอยก็บอกว่าค่าหมอกควันวันนี้ทำไมน้อยจัง จึงเกิดความไม่เชื่อถือข้อมูลของภาครัฐ รวมทั้งมีเว็บไซด์ที่กล่าวหาว่าเชียงใหม่มีอากาศที่แย่ที่สุดในโลก จึงได้บูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ เพื่อมาร่วมหารือการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดของการแก้ไขปัญหาหมอกควันก็คือสุขภาพของประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยศาสตราจารย์นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการบูรณาการภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้มาร่วมหารือและให้คำแนะนำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพทั้งคนในเมืองและชุมชนในชนบท โดยเฉพาะการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ระหว่างค่าการวัดค่า PM 10 และ PM 2.5 ให้สื่อสารถึงผลเสียของการเผาในแบบเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และสามารถเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งเบื้องต้นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ รายงานคุณภาพอากาศภายใต้ชื่อ “chiangmai air quality health index” หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทยอยติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก “DustBoy” ซึ่งเป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศนอกอาคาร ด้วยระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ สามารถวัดได้ทั้งค่า PM 10 และ PM 2.5 ได้ในเวลาเดียวกัน โดยได้ติดตั้งไปแล้วจำนวน 11 โรงพยาบาล และจะทยอยติดจนครบทั้ง 25 โรงพยาบาลของรัฐทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นผลดีในการแจ้งเตือนผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชน ให้สามารถดูแลสุขภาพในช่วงสภาวะหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบเผาป่า ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งกำลังอยู่ในระหว่างรอการดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับจำนวนทั้งหมด 40 คดี โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้กำชับให้เน้นการลาดตระเวน เฝ้าระวัง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งไม่อนุญาตให้นำวัสดุที่ติดไฟได้เข้าไป มีการเข้าออกที่ชัดเจน ตลอดจน ได้ขอความร่วมมือจากท้องถิ่น ช่วยประชาสัมพันธ์กระจายข่าวในพื้นที่ห่างไกล โดยให้เจ้าหน้าที่ในอำเภอช่วยสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบจากการเผาอย่างทั่วถึง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ห่วงเรื่องเป็นสำคัญ เมื่อมีหมอกควันเยอะ คนที่จะมาเที่ยวเชียงใหม่ก็อาจจะไม่มา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งปกติก็จะทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวกัน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของจังหวัดที่จะต้องทำให้ปัญหาหมอกควันลดลงต่อไป
/////////////////////////////////
อภิชาติ เฮงพลอย / ส.ปชส.เชียงใหม่

You may also like

SUN ขับเคลื่อนนวัตกรรมเกษตรครบวงจร และจัดพิธีบวงสรวงพระพิรุณ ประจำปี 2567

จำนวนผู้