สสว.ติวเข้มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหนือ ปูแนวทางสร้างโอกาสทางการค้ากับประเทศตะวันออกกลาง ชี้เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะเจาะตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง แนะการทำการตลาดต้งใช้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ดร.เพชรมณี ดาวเรือง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs ปฏิบัติงานช่วยควบคุม กำกับ ศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร(OSS) เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมและเสวนาในหัวข้อ “สร้างโอกาสทางการค้าในตะวันออกกลางตามแบบฉบับ SMEs ไทย ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)จัดขึ้นภายใต้งานพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME (Knowledge Center) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้รับข้อมูล องค์ความรู้และสาระต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจต่อไปในอนาคต
รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs ปฏิบัติงานช่วยควบคุม กำกับ ศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร(OSS) กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ได้จัดกิจกรรมอบรมและเสวนาในหัวข้อ “สร้างโอกาสทางการค้าในตะวันออกกลางตามแบบฉบับ SMEs ไทย ในครั้งนี้ เนื่องจากตลาดการค้าในประเทศแถบตะวันออกกลางถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากประชากรที่กำลังขยายตัว โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยหรือแม้แต่สินค้าอุปโภค บริโภคจากประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก
ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยจะได้เรียนรู้และนำข้อมูลความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สินค้าไทยสามารถตอบโจทย์กับกลุ่มตลาดเป้าหมายซึ่งเป็นชาวอาหรับให้ได้มากที่สุด และนับเป็นการเปิดตลาดสินค้าเอสเอ็มอีไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมทั้งการเจรจาซื้อขายสินค้าและการบรรลุข้อตกลงในการเป็นตัวกลางให้กับผู้ประกอบการทำการค้าขายระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรม การนำเอาสื่อต่างๆ อาทิ เฟสบุ๊ค เว็บไซต์ หรืออีเมล์ ในการโปรโมทสินค้า หรือสร้างการรับรู้ในตัวสินค้าให้เกิดความน่าสนใจจนเกิดการอยากซื้อ อยากเห็นสินค้าของจริง นำไปสู่การเลือกดูและซื้อขายสินค้าผ่านหน้าร้านค้าออฟไลน์ในที่สุด
ด้านนายอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ นายกสมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง (AMEE) ประธานกรรมการบริหาร(CEO) บริษัท เวก้า อินเตอร์เทรด แอนด์ เอ๊กซิบิชั่นส์(ดูไบ) ผู้บุกเบิกและผู้เชี่ยวชาญตลาดการค้าในภูมิภาคตะวันออกกลาง กล่าวว่า การเตรียมนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากงานสัมมนาไปต่อยอดเปิดการค้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งประเทศในตะวันออกกลางที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ประเภทของสินค้ารวมถึงวัตถุดิบที่เลือกส่งออกซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงถึง อาทิ สินค้าและวัตถุดิบที่เลือกส่งออกก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงถึง สินค้าและวัตถุดิบที่มีอายุสั้น เช่น ผักและผลไม้ สินค้าที่มีศักยภาพในการแข่งขันหรือสิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย เหล่านี้ต้องพิจารณาถึงการทำตลาด กลยุทธ์การนำเข้า ส่งออก มาตรการทางภาษีจากทั้งฝั่งผู้ประกอบการอาหรับและฝั่งของผู้ประกอบการจากประเทศไทย และการเข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติของชาวอาหรับไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณีซึ่งเป็นกุญแจสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจกับประเทศแถบตะวันออกกลางได้
ทั้งนี้การเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางนั้น มีหลากหลายวิธี ตลาดเดิมที่นำสินค้าไปแสดงก็ยังสามารถมัดใจชาวอาหรับได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการได้สัมผัสจริง ทั้งนี้การตลาดออนไลน์สามารถช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วและเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่ตลาดอีกประเภทหนึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในระยะเริ่มต้นสร้างแบรนด์และกำลังวางแผนการตลาดอยู่นั้น ควรพิจารณาการทำการตลาดทั้ง 2 รูปแบบคือ Online Marketingและ Offline Marketing ซึ่งการทำการตลาดทั้ง 2 แบบนี้ได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากยิ่งขึ้น Online Marketing หรือที่เรียกว่า ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เป็นการทำการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ใช้หลักการของการตลาดพร้อมนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ช่องทาง Offline Marketing แม้จะเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีมาแต่เดิมแต่มีความมีเสน่ห์ไม่ได้หมดไป ซึ่งชาวอาหรับส่วนหนึ่งนิยมเสพสื่อออฟไลน์เป็นหลัก มักชอบเลือกดู เลือกจับสินค้าจริงผ่านหน้าร้านก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ.