รองผวจ.เชียงใหม่นำทีมเข้าเยี่ยมและมอบเงินปลอบขวัญจนท.ลาดตระเวน สำนักฯ16 ที่ช่วยดับไฟป่าพื้นที่อ.สะเมิงตกเขาบาดเจ็บซึ่โครงหัก 2 ซี่ มือและแขน 2 ข้างถูกไฟลวก ขณะนี้พ้นขีดอันตราย ขณะที่จังหวัดยังเดินหน้าตามแก้ไขปัญหาแม้สภาพอากาศเริ่มดีขึ้น
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 28 มี.ค.62 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่พร้อมด้วยชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอสะเมิงและนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.เชียงใหม่ให้นำกระเช้าเพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจนายสมยศ ภูมิมาลา เจ้าหน้าที่ตรวจป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ซึ่งได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่อ.สะเมิง
ทั้งนี้ทางรองผอ.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยพบว่านายสมยศได้รับบาดเจ็บซี่โครงหัก 2 ซี่ แต่อวัยวะภายในอื่นไม่ได้รับผลกระทบ มือและแขนสองข้างโดนไฟลวก ขณะนี้พ้นขีดอันตราย ทั้งนี้ผวจ.เชียงใหม่ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้เบื้องต้น และเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่,อธิบดีกรมอุทยาน,ปภ. นอภ.สะเมิงและพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผวจ.เชียงใหม่มีข้อสั่งการมาว่า แม้สภาพอากาศดีขึ้นมาก ปริมาณหมอกควันลดลง จุดความร้อนจากการเผาป่า มีแนวโน้มลดลง แต่จังหวัดเชียงใหม่ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง 3 เรื่อง ทั้งใช้มาตรการตามกฎหมาย อย่างจริงจังกับผู้เผาป่า การดูแลสุขภาพประชาชน การแนะนำให้ความรู้ การแจกจ่ายหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน โดยใช้กลไก อปท. อสม. และผญบ. โดยเฉพาะการใช้หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านด้านการประชาสัมพันธ์ และการลดภาวะหมอกควัน ฝุ่นละออง ในทุกชุมชน โดยใช้มาตรการฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดฝุ่น หมอกควัน และล้างถนนให้อากาศหมุนเวียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องเตรียมการต่อไปคือ ตั้งคณะกรรมการร่วม ราชการ เอกชน สถานศึกษา นักวิชาการ และภาคประชาชน สื่อมวลชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา หมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน มีแผนระยะสั้น กลาง ยาว การกำหนด Model การดูแลประชาชนเมื่อค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ในขั้นกระทบต่อสุขภาพ มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าโดยหน่วยงาน และผู้รับผิดชอบ แต่ละด้านดำเนินงานในภารกิจ ที่มอบหมายได้ทันที เมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์ฯ จังหวัด เช่น การประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนทราบ การฉีดพ่นละอองน้ำ การแจกจ่ายหน้ากากอนามัย ฯลฯ พร้อมกับการกำกับ ควบคุมไฟป่า และการเปิดจุด/สถานที่ บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน
นอกจากนี้ยังจะมีการจัดเสวนา 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะกำหนดแผนงานและงบประมาณที่จะดำเนินการร่วมกัน รวมทั้งมาตรการต่อการป้องกัน และระงับยับยั้งปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะดำเนินการในเร็ววันนี้ จัดทำ Safety Zone “ที่พักผ่อนปลอดหมอกควัน” นำร่องที่ อาคาร SMEs ในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ และขยายผล (เปิดแล้ว)และ บริการตรวจสุขภาพประชาชน โดยจะมีการจัดประชุม อปท. ในวันที่ 5 เม.ย. 62 นี้ ให้เตรียมการและดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาหมอกควันในการอบรมผู้มีอาชีพหาของป่า เพื่อลดกลุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและจัดโครงการนำ อปพร. ประจำหมู่บ้าน ร่วมลาดตระเวน ระงับปัญหาการเผาป่า.