ความสุ่มเสี่ยงจากสารพิษตกค้างจากการซื้อพืชผักจากตลาดมาบริโภค ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งเรื่องประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวบกพร่อง เกิดความผิดปกติทางกายภาพของต่อมไทรอยด์ และสารเคมีบางชนิดยังสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม และมะเร็งผิวหนัง อีกด้วย สวนทางกับผลสรุปจากองค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่รวบรวมข้อมูลงานวิจัยต่างๆ พบว่า การบริโภคผักผลไม้ วันละ 400-600 กรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ธวัช คำแก้ว ผู้รับผิดชอบโครงการผิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน ชุมชนแวนนาริน ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนพอเพียงบ้านแวนนาริน เล่าว่า เคยทำงานในโครงการพระราชดำริ ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และมีการทำเกษตรปลอดสาร จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากกลับมาทำที่บ้านเกิด เพราะเป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านปลูกพืชสวนเกือบทุกครัวเรือน และมีการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ประมาณ 2,500 บาท/ไร่ ขณะที่ผักสวนครัว กลับปลูกกินเองน้อย ค่าใช้จ่ายในการซื้อผักบริโภคต่อครัวเรือน ประมาณ 500 บาท/สัปดาห์ ที่สำคัญจากรายงานกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 อ.ลี้พบผู้ป่วยมะเร็ง ร้อยละ 20 มากเป็นอันดับ 3 ของ จ.ลำพูน รองจาก อ.เมือง และ อ.ป่าซาง ขณะที่ ต.ลี้ ก็พบผู้ป่วยมะเร็ง ร้อยละ 20 ถือว่ามากที่สุดในระดับอำเภอเมื่อกลับมาถึงบ้าน ก็เริ่มจากพืชรายปีอย่างลำไย เพราะคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเป็นผู้สูงอายุ ถึง 80% รองลงมาคือข้าราชการเกษียณ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกลำไย มีสวนลำไยของตัวเองอยู่แล้ว จึงให้ความรู้เรื่องการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพราะแม้ช่วงนี้จะเป็นฤดูฝน หากปริมาตรน้ำในอ่าง หรือเขื่อนต่างๆ กลับอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยมาก จนถึงขั้นวิกฤติ เช่น เขื่อนภูมิพล มีน้ำเพียง 3,940 ล้านลูกบาศก์เมตร (14 ก.ค.63) ขณะที่ความจุของอ่างอยู่ที่ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือแค่ 29% ของระดับน้ำที่อ่างสามารถเก็บกักได้ ซ้ำยังสามารถนำมาใช้ได้แค่ 1% หรือ 139.58 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับเขื่อนแม่กวง อันเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำคัญ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงพืชเกษตรใน จ.เชียงใหม่-ลำพูน ก็มีน้ำเพียง 73 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 28% ของความจุที่รับได้สูงสุด นั่นหมายความว่าหากวัสสานฤดูจากไป ความแห้งแล้งก็จะมาเยือนทันทีการวางแผนใช้น้ำ และเตรียมรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด การรดน้ำพืชด้วยระบบน้ำที่เหมาะสม ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ เช่น เขตรากพืชของลำไยยาวประมาณ 100 เซนติเมตร 50% แรกดูดน้ำได้ดี 70% อีก 50% หลังของส่วนราก ดูดน้ำได้แค่ 30% ฉะนั้นเวลาให้น้ำจึงเน้นให้ในส่วนของเขตราก 50% แรก และการใช้ระบบสปริงเกอร์ ผ่านท่อน้ำขนาดเล็ก 4 หุน ยังช่วยประหยัดน้ำได้มาก โดยที่ต้นลำไยได้รับน้ำอย่างเพียงพอแต่ลำไยไม่ได้ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ทำให้มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง จึงเสริมเสาวรส และผัก ประมาณ 20 กว่าชนิด เช่น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค สลัด ผักกาดจ้อน ผักกวางตุ้ง คะน้าฮ่องกง ผักชี พริก หอมแดง ผักขี้หูด มะเขือ ฯลฯ และให้น้ำตามชนิดพืช อายุ ขนาด ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ฯ โดยตระกูลผักมีความยาวของรากไม่เกิน 20 เซนติเมตร ต้องค่อยๆ ให้น้ำ ครั้งละประมาณ 5 นาที แต่ให้บ่อย ผักก็จะมีความชุ่มชื้นตลอด และกลุ่มสมาชิกที่ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงอายุ ก็มีความสุข กระชุ่มกระชวยกับการทำเกษตรปลอดสาร เพราะเก็บกินได้อย่างปลอดภัย ซ้ำยังเหลือขายสร้างรายได้พอสมควรปวีณา ประทุมทอง เลขานุการโครงการฯ บอกว่า การทำโครงการนี้ ทำให้ชุมชนมีข้อมูลสถานการณ์ด้านพฤติกรรมการปลูกและบริโภคผัก รู้ว่าชนิดไหน พันธุ์ใด ที่มีการบริโภคกันมาก จำนวนเท่าไหร่ ใช้ประโยชน์จากส่วนไหนของผัก ในชุมชนมีการใช้สารเคมีมากน้อยเพียงใด จนเกิดกติกาเรื่องการปลูกและบริโภคผักปลอดสารเคมี โดยแต่ละครัวเรือนต้องปลูกผักพื้นบ้าน หรือผักตามฤดูกาล แบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ชนิด อาทิ ผักกาดขาว ผักบุ้ง กะเพรา ใบมะกรูด มะนาว ข่า ตะไคร้ มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว เป็นต้นปรากฏว่า แต่ละครอบครัวลดค่าใช้จ่ายในการซื้อผักบริโภค นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มสมาชิก คนที่ปลูกผักต่างกัน หากต้องการบริโภคผักต่างชนิดจากที่ปลูกไว้ มักจะใช้วิธีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิก ช่วยให้ได้บริโภคผักที่ไม่ใช้สารเคมี อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายหลักที่วางไว้ คือ “แวนนาริน ถิ่นอินทรีย์ สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเองป้าอุไรวรรณ ธีระอัครพล สมาชิกในโครงการ เสริมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า ตั้งแต่หันมาปลูกผักปลอดสาร รู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อลงแปลง ได้อยู่กับผักที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แข็งแรงขึ้น และยังได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนสมาชิก นำมาปรับปรุงให้แปลงผักมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“งานหลัก คือการกำจัดวัชพืชด้วยการถอน ส่วนหนอน หรือโรคพืชต่างๆ ก็ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้หลักธรรมชาติ นั่นคือปลูกพืชชนิดอื่นที่หนอนหรือแมลงไม่ชอบแซมในแปลง หรือบริเวณใกล้เคียง กลิ่นพืชชนิดนั้นจะทำให้หนอน หรือแมลงไม่มารบกวน” สมาชิกคนเดิม กล่าวขณะที่การให้น้ำโดยใช้มินิสปริงเกอร์ ก็ไม่เพียงแค่ช่วยประหยัดน้ำ หากยังผ่อนแรงเกษตรกรได้อีกมาก ทำให้ผู้สูงวัยสามารถปลูกผัก ผลไม้ รวมถึงไม้ผล และดูแลได้ด้วยตนเอง.