มท.1 กำชับผู้ว่าฯ17 จังหวัดภาคเหนือทำงานร่วมทุกภาคส่วนแนะใช้หลายมาตรการเพื่อให้สังคมดีขึ้น

มท.1 กำชับผู้ว่าฯ17 จังหวัดภาคเหนือทำงานร่วมทุกภาคส่วนแนะใช้หลายมาตรการเพื่อให้สังคมดีขึ้น

          มท.1 กำชับผู้ว่าฯ 17 จังหวัดเหนือทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ สกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองทางชายแดนป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ชี้ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นต้องใช้หลายมาตรการ ยอมรับสังคมกำลังบิดเบี้ยว เผยนายกรัฐมนตรีฝากแต่ละพื้นที่เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรขายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64 ที่โรงแรมแคนทารี่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานประชุมมอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือเกี่ยวกับการเตรียมการบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด สายพันธุ์โอโมครอน และมาตรการควบคุมการลักลอบเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย การขับเคลื่อนนโยบายการขจัดความยากจนและการบริหารจัดการขยะและน้ำเสียขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย   กล่าวว่า สิ่งที่ได้มาเน้นย้ำกับผู้ว่าฯ 17 จังหวัดในครั้งนี้สิ่งสำคัญคือต้องทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดผลทางราชการด้วยกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและภาคประชาชน โดยในส่วนของการเตรียมการบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กpm2.5 นั้นพอถึงช่วงฤดูกาลจะมุ่งเป้ามาที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ขณะที่สาเหตุของปัญหามาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ทั้งฝุ่นควันจากมลพิษ เครื่องยนต์ การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมและการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้นจะใช้มาตรการเดียวไม่ได้ ต้องใช้สารพัดมาตรการ

“ในการบริหารสถานการณ์ผู้ว่าฯจะต้องรู้สภาพปัญหาพื้นที่ดี ในเรื่องมาตรการห้ามเผาก็ต้องประกาศใช้อยู่ แต่บางพื้นที่สภาพพื้นที่ก็เป็นอุปสรรคอย่างเช่นการเผาตอซังข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูง จะให้ขนลงมากำจัดข้างล่างก็ยาก แต่หากจะเผาก็ต้องดูตาม้า ตาเรือ ไม่ใช่สภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ความกดอากาศต่ำ ไม่มีลมหมุนเวียนและคุณภาพอากาศเริ่มไม่ดี กลับปล่อยให้มีการเผาซ้ำขึ้นมาอีก ยกตัวอย่างเชียงใหม่สมัยผู้ว่าฯปวิณเขาก็ดึงภาควิชาการมาร่วมช่วยคิดแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯจะต้องบริหารให้เป็น ที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกให้เอาตัวรอด แต่เมื่อปัจจัยมันเยอะก็ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ต้องตรวจจับรถควันดำ โรงงานอุตสาหกรรมมีการปล่อยควันเสียมั้ย พวกก่อสร้างต่างๆ ก็ต้องไปดู เพราะสังคมไทยเป็นเช่นนี้    เวลาเกิดวิกฤติก็จะเรียกร้องให้ผู้ว่าฯออกมารับผิดชอบ”พลเอกอนุพงษ์ กล่าวและว่า

ในเรื่องของการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนนั้นตอนนี้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจมันเดินได้ รวมทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวและมาตรการป้องกันโรคด้วย  ตอนนี้วัคซีนก็ยังมีอยู่ให้ระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการตรวจเชิงรุกด้วย ATK ซึ่งต้องมีการตรวจต่อเนื่องและบ่อยครั้ง เพราะทางการสาธารณสุขบอกแล้วว่าการระบาดที่รับไม่ได้คือการเริ่มระบาดจาก 1ไปถึง 10 และขยายไปถึง 15 ถ้าหากเป็นแบบนี้จะเหมือนภูเขาน้ำแข็งซึ่งทำให้มีคนป่วยเป็นหมื่นได้ ดังนั้นการสกัดกั้นการลักลอบตามแนวชายแดนจึงสำคัญ ถ้าชายแดนเข้มแข็งและสกัดกั้นได้ดีก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดได้มาก

พลเอกอนุพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โควิดจะยังอยู่กับเราต่อไปอย่างนี้ต่อไป แต่เรื่องทำมาหากินก็ต้องปล่อยให้เดินไปด้วย จึงอยากให้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการไปทำมาตรฐาน SHA Plusให้ได้ และในส่วนของรัฐบาลเองเดี๋ยวก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีก ยกตัวอย่างเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเห็นแล้วสงสาร พอมีการระบาดหนักๆ และอยู่ในพื้นที่สีแดงก็ขยับทำอะไรไม่ได้

“เรื่องการอนุญาตให้เปิดเรียน On Site ก็เช่นกันอยากให้ผู้ว่าฯไปพิจารณาในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ให้พิจารณาเป็นรายอำเภอก็ได้อำเภอไหนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยก็ให้เปิดเรียนได้ตามปกติแล้วซีลพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด เพราะผมกลัวว่าหากยังกลัวและไม่กล้าให้ไปโรงเรียนจะทำให้เด็กติดนิสัยสบายไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียน ซึ่งการไม่ต้องเข้าห้องเรียน ไม่มีระเบียบ วินัยแบบเดิมบางทีก็เป็นผลเสียได้ และการที่เด็กได้ไปเรียนด้วยกันบางทีการได้พูดคุยกับเพื่อนก็อาจทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น”รมว.มหาดไทย กล่าวและว่า

สิ่งที่ทำให้เมืองไทยไม่น่าอยู่คือการเมือง แต่สังคมไทยก็ไม่ยอมให้ข้าราชการประจำนำประเทศ สังคมไทยตอนนี้บิดเบี้ยว ทั้งเรื่องของยาเสพติด และครอบครัว ขอให้ไปพิจารณาเองว่าเป็นเพราะอะไร เทวาดสั่งมา พ่อแม่ ครอบครัวไม่สั่งสอนหรือให้ไปแยกแยะ ขอผู้ว่าฯ ตำรวจ ท้องถิ่นไปดู และที่อยากฝากในที่ประชุมนี้อีก 2 เรื่องถ้าไม่นับปัญหาสังคมคือเรื่องขยะและน้ำเสีย เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นแต่ผู้ว่าฯหรือมหาดไทยจะไปสั่งก็ไม่ได้แต่ในฐานะคนกำกับดูแลพื้นที่ สามารถใช้ความเป็นพ่อเมืองไปกระตุ้นได้ การรักษาความสะอาดให้อปท.ทั้งหลายทำ ตอนนี้มีการเลือกตั้งครบหมดทั้งอบต.,เทศบาลและอบจ.ได้ผู้บริหารใหม่แล้ว

“กำลังให้นโยบายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปว่าต่อไปขยะที่จะใช้ฝังกลบโดยเฉพาะอปท.ขนาดเล็กที่ไม่สามารถตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะได้ การฝังกลบจะต้องไม่มีพลาสติกหรือโฟมเด็ดขาด ตอนนี้ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัตและประกาศที่ต้องทบทวนใหม่แล้วเอามารวมในประกาศฉบับเดียวกัน ส่วนปัญหาขยะพเนจร การทิ้งขยะไม่เป็นที่ก็ฝากให้ไปคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร จะใช้มาตรการใดก็ได้ขอให้สังคมดีขึ้น เช่นเดียวกับน้ำเสียก็เช่นกัน ประเทศไทยมีแหล่งน้ำเสียถึง 464 แห่ง 780 ยูนิตการบำบัดน้ำเสีย ต้องมีค่าใช้จ่ายยูนิตละ 50 ล้านบาท เฉพาะองค์การจัดการน้ำเสียปีนี้ได้งบประมาณมา 751 ล้านบาท ยกตัวอย่างแค่คลองแม่ข่าก็ใช้ไปแล้วถึง 750 ล้าน และหากยังปล่อยให้น้ำเสียเป็นปัญหาต่อไปก็จะทำลายเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไปด้วย ทุกวันนี้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ลำคลอง จึงขอให้แต่ละจังหวัดไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวในที่ประชุมผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือด้วยว่า นายรักฐมนตรีได้ฝากแนวคิดมาว่า ถ้าหากให้เกษตรกรสามารถขายตรงได้จะช่วยเหลือเรื่องรายได้และพืชผลทางการเกษตร จึงขอให้ผู้ว่าฯไปช่วยพิจารณา แต่ขออย่าไปคิดเรื่องตลาดกลางอีก แต่ให้ใช้พื้นที่ของเกษตรกรเลยโดยตัดพ่อค้าคนกลางออก ผมไม่เน้นเรืองกายภาพแต่ให้เน้นกิจกรรมที่ทำให้คนซื้อและคนขายมาเจอกัน ซึ่งเรื่องนี้ทางมหาดไทยจะมีการประชุมให้นโยบายอีกครั้ง.

You may also like

ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านโรงแรมจัดงาน“ Chiang Mai Housekeeping Fair 2024

จำนวนผู้